เก๊าท์เทียม (Pseudogout)

ความหมาย เก๊าท์เทียม (Pseudogout)

เก๊าท์เทียม (Pseudogout) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดที่เกิดจากการสะสมผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรต (Calcium Pyrophosphate Dehydrate Deposition) บริเวณข้อต่อ เช่น หัวเข่าและศอก ทำให้เกิดอาการปวดบวมข้อต่ออย่างเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมรุนแรง ข้ออักเสบเรื้อรัง และไม่สามารถขยับข้อต่อได้

อาการเก๊าท์เทียมคล้ายกับโรคเก๊าท์ (Gout) ซึ่งทำให้เกิดอาการข้ออักเสบได้เช่นกัน แต่โรคเก๊าท์จะเกิดจากสะสมของกรดยูริกในร่างกาย และเกิดกับข้อต่อเล็ก ๆ เช่น นิ้วหัวแม่เท้า ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการของโรคเก๊าท์และเก๊าท์เทียมพร้อมกัน โรคเก๊าท์เทียมพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง แต่การใช้ยาจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและชะลอความรุนแรงของโรคได้

เก๊าท์เทียม

อาการเก๊าท์เทียม

เก๊าท์เทียมมักทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการอย่างเฉียบพลันบริเวณ 1–2 ข้อต่อใหญ่ ๆ ที่ใช้ในการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนักของร่างกาย เช่น หัวเข่า ข้อมือ หัวไหล่ สะโพก และข้อเท้า ซึ่งอาการอาจหายไปได้เอง แต่อาจกินเวลาตั้งแต่หลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์ โดยอาการที่มักพบในผู้ป่วยเก๊าท์เทียม ได้แก่

  • ข้อต่อบวมแดง
  • ผิวบริเวณข้อต่อร้อน
  • รู้สึกตึง และเจ็บปวดเมื่อขยับข้อต่อ
  • มีไข้

สาเหตุของเก๊าท์เทียม

เก๊าท์เทียมเกิดจากการสะสมผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรต (Calcium Pyrophosphate Dehydrate Deposition: CPPD) ภายในกระดูกอ่อนและน้ำไขข้อ ซึ่งทำหน้าที่หล่อลื่นภายในข้อต่อต่าง ๆ โรคเก๊าท์เทียมพบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยมักไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาจมีโอกาสเกิดโรคเก๊าท์เทียมได้สูงกว่าคนทั่วไป เช่น

  • ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นจะเสี่ยงต่อการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรตตามข้อต่อมากขึ้น
  • คนในครอบครัวมีประวัติโรคเก๊าท์เทียม ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดเก๊าท์เทียมตั้งแต่อายุยังน้อย
  • โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) และเก๊าท์
  • ความผิดปกติของระดับแร่ธาตุในร่างกาย เช่น แมกนีเซียมต่ำ ฟอสเฟตในเลือดต่ำ (Hypophosphatemia) แคลเซียมในเลือดสูง ธาตุเหล็กในเลือดสูง (Hemochromatosis)
  • โรคไทรอยด์ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) และภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะอื่น ๆ เช่น แอมีลอยโดซิส (Amyloidosis) ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson's Disease) อะโครเมกาลี (Acromegaly) และโรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia)
  • การผ่าตัดและการได้รับบาดเจ็บ
  • การใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องกันเวลานาน

การวินิจฉัยเก๊าท์เทียม

อาการเก๊าท์เทียมคล้ายกับโรคเก๊าท์ โรคข้อเสื่อม โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) จึงต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์ ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ ตรวจดูบริเวณข้อต่อ และตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • การเจาะบริเวณข้อที่มีอาการ เพื่อดูดเอาน้ำไขข้อออกมาตรวจดูการสะสมของผลึกบริเวณข้อต่อ (Arthrocentesis)
  • การตรวจเลือด จะใช้ตรวจโรคไทรอยด์ และตรวจวัดระดับของแร่ธาตุในร่างกาย
  • การเอกซเรย์ (X-Ray) บริเวณข้อที่มีอาการ เพื่อตรวจดูความเสียหายและการสะสมของผลึกในข้อต่อ
  • การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น เอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) ซีที สแกน (CT Scan) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

การรักษาเก๊าท์เทียม

ในปัจจุบันเก๊าท์เทียมยังไม่มียาที่ช่วยลดการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรตในข้อต่อได้โดยตรง เป้าหมายของการรักษาคือบรรเทาความเจ็บปวดและชะลอความเสียหายของข้อต่อ ซึ่งวิธีการรักษา ได้แก่

การดูแลตัวเองที่บ้าน

ผู้ป่วยเก๊าท์เทียมสามารถดูแลตัวเองด้วยการพักการใช้งานข้อต่อที่มีอาการปวดและบวม ใช้เจลเย็นหรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งประคบบริเวณข้อต่อที่มีอาการ ซึ่งจะช่วยลดการปวดบวม และรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน

โรคเก๊าท์เทียมไม่มีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเหมือนกับโรคเก๊าท์ เพราะอาหารไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการของโรค ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงได้โดยไม่ส่งผลต่อการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรตในข้อต่อ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ซึ่งช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำที่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์เทียม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งช่วยควบคุมน้ำหนักตัวและป้องกันความเสื่อมของข้อต่อจากการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรต

การใช้ยา

ในเบื้องต้น แพทย์มักจ่ายยากลุ่ม NSAIDs เพื่อลดอาการบวมและบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโฟรเฟน (Ibuprofen) และนาพรอกเซน (Naproxen) หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) แต่ยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เลือดออกในช่องท้อง และส่งผลต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และอาจส่งผลต่อผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาฟาริน (Warfarin)

หากผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดอาการเก๊าท์เทียมบ่อย แพทย์อาจสั่งจ่ายยาโคลชิซิน (Colchicine) เพื่อบรรเทาอาการปวดบวม สำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหารและโรคไต แพทย์อาจสั่งจ่ายยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) ให้แทน 

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยเก๊าท์เทียมด้วยวิธีอื่น ๆ ได้แก่

  • การเจาะระบายน้ำในข้อต่อ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดแรงกดทับบริเวณข้อต่อ ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยกำจัดผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรตที่สะสมในข้อด้วย จากนั้นแพทย์อาจฉีดยาชาหรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ
  • การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ข้อต่อของผู้ป่วยเสียหายรุนแรง แพทย์อาจให้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมความเสียหายหรือเปลี่ยนข้อต่อใหม่

ภาวะแทรกซ้อนของเก๊าท์เทียม

หากไม่ได้รับการรักษา การสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรตในข้อต่ออาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการเคลื่อนไหวและการขยับข้อต่อ ทำให้ข้อต่อเสียหายถาวร และอาจนำไปสู่ภาวะอื่น ๆ ตามมา เช่น ซีสต์ แลกระดูกงอก 

การป้องกันเก๊าท์เทียม

โรคเกาต์เทียมยังไม่มีวิธีที่ป้องกันการสะสมผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรตได้ แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคและป้องกันการเกิดอาการซ้ำได้ด้วยการรักษาโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเก๊าท์เทียม เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และภาวะขาดแมกนีเซียม