7 วิธีลดกรดยูริกในร่างกาย เรื่องสำคัญที่ผู้มีกรดยูริกสูงควรรู้

การเรียนรู้วิธีลดกรดยูริกในร่างกายถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคเก๊าท์และโรคนิ่วในไต เนื่องจากการมีกรดยูริกสะสมอยู่ในร่างกายในระดับสูงอาจส่งผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น 

กรดยูริก เป็นสารชนิดหนึ่งในร่างกายที่ถูกผลิตขึ้นมาเมื่อร่างกายย่อยสารพิวรีน ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในร่างกายตามธรรมชาติและอาหารบางชนิด เช่น สัตว์เนื้อแดง เครื่องใน และอาหารทะเล โดยร่างกายจะมีกลไกขับกรดยูริกได้เองด้วยการปัสสาวะและอุจจาระ ทั้งนี้ ค่ายูริกที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ไม่เกิน 7 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ชายหรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือ 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตรสำหรับผู้หญิงในวัยที่มีประจำเดือน

วิธีลดกรดยูริคในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่างหรือผู้ที่รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง อาจเกิดภาวะที่ร่างกายมีกรดยูริกสะสมในปริมาณที่สูงเกินไป จนกรดยูริกเกิดการจับตัวกันเป็นก้อนตามข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย หรือไปสะสมอยู่ในไตและนำไปสู่โรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ตามมาได้

วิธีลดกรดยูริกในร่างกายที่ทุกคนสามารถทำได้เองที่บ้าน

ผู้ที่กำลังมองหาวิธีลดกรดยูริกในร่างกายอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้

1. ลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง

ผู้ที่กำลังเริ่มต้นลดระดับกรดยูริกในร่างกายควรให้ความสำคัญกับการลดปริมาณอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เนื่องจากร่างกายจะผลิตกรดยูริกขึ้นมาจากการย่อยสารพิวรีน ซึ่งอาหารก็ถือเป็นหนึ่งในแหล่งหลักที่พบสารพิวรีนได้มาก

โดยกลุ่มอาการที่พบสารพิวรีนได้มากก็เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน กุ้ง ปู หอย ถั่วแดง ถั่วเหลือง และถั่วดำ ทั้งนี้ แม้ผักบางชนิดจะมีปริมาณสารพิวรีนที่ค่อนข้างสูง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง หรือปวยเล้ง แต่จากการศึกษาแล้ว ผู้ที่รับประทานส่วนใหญ่มักไม่ได้รับผลกระทบจากการรับประทานอาหารในกลุ่มนี้

2. หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง

เนื่องจากน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมารับประทานหรือประกอบอาหาร เป็นสารอาหารที่อาจส่งผลให้ระดับกรดยูริกในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นหลังจากรับประทานได้

3. เพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารที่มีวิตามินซี

วิตามินซีเป็นวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงอาจมีส่วนช่วยลดระดับกรดยูริกในร่างกายได้ โดยอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินซีส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารประเภทผักและผลไม้ เช่น เชอร์รี สตรอว์เบอร์รี ฝรั่ง บร็อคโคลี และคะน้า

อย่างไรก็ตาม นอกจากผักและผลไม้แล้ว ในปัจจุบัน วิตามินซีก็สามารถหารับประทานได้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมช่นกัน แต่ผู้ที่ต้องการรับประทานวิตามินซีในรูปแบบนี้ควรจะปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

4. ดื่มกาแฟ

การดื่มกาแฟอาจมีประโยชน์ต่อการลดระดับกรดยูริกในร่างกายได้ เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่า การดื่มกาแฟในปริมาณที่พอเหมาะอาจมีส่วนช่วยให้ร่างกายย่อยสลายสารพิวรีนได้ช้าลง รวมถึงอาจมีส่วนช่วยเร่งกระบวนการขับกรดยูริกออกไปจากร่างกายได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการดื่มกาแฟ โดยเฉพาะในคนท้อง ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม หรือประมาณวันละไม่เกิน 2–3 แก้ว เพื่อป้องกันร่างกายได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไป หรือผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพอยู่ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงความเหมาะสมก่อน

นอกจากนี้ ก่อนเลือกซื้อหรือดื่มกาแฟ ควรเลือกเป็นกาแฟสูตรที่ไม่มีน้ำตาลหรือมีปริมาณน้ำตาลต่ำ เพื่อป้องกันร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลให้ระดับกรดยูริกในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นได้

5. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

การดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือประมาณ 6–8 แก้ว/วัน จะช่วยให้ไตสามารถกำจัดกรดยูริกออกไปจากร่างกายได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำได้อีกด้วย

6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ผู้ที่มีระดับกรดยูริกในร่างกายสูงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม โดยเฉพาะเบียร์ เนื่องจากเครื่องดื่มกลุ่มนี้เป็นเครื่องดื่มที่มีสารพิวรีนสูง อีกทั้งยังเป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่ส่งผลให้ไตกำจัดกรดยูริกออกไปได้ยากขึ้นอีกด้วย

7. ควบคุมน้ำหนักตัว

ภาวะอ้วน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจยิ่งส่งผลให้ร่างกายผลิตกรดยูริกออกมามากขึ้น รวมถึงยังอาจส่งผลให้กระบวนการขับกรดยูริกของร่างกายเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ผู้ที่มีน้ำหนักตัวสูงหรือมีภาวะอ้วนอาจจะลองปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์แนะนำวิธีการลดหรือควบคุมน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

สุดท้ายนี้ วิธีลดกรดยูริกในร่างกายที่ได้ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงการดูแลตัวเองในเบื้องต้นสำหรับทำควบคู่ไปกับการรักษาจากแพทย์เท่านั้น ซึ่งผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีกรดยูริกในร่างกายสูง หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากการที่มีกรดยูริกสะสม อย่างผู้ป่วยเก๊าท์และผู้ป่วยนิ่วในไต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เป็นหลักเพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด