ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ห้ามกินอะไร ข้อควรรู้เพื่อการเลือกกินอย่างปลอดภัย

หากถามว่าผู้ป่วยโรคเก๊าท์ห้ามกินอะไร หลายคนอาจนึกถึงแค่เนื้อไก่ หน่อไม้ หรือยอดกระถิน ความจริงแล้วยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยรู้ว่าอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง และสามารถดูแลอาหารการกินได้อย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลดีต่อการรักษาหรือควบคุมอาการของโรคเก๊าท์ที่เป็นอยู่

โรคเก๊าท์เกิดจากการมีระดับกรดยูริกในเลือดมากเกินไป จนเกิดการสะสมในข้อต่อต่าง ๆ และนำไปสู่อาการข้ออักเสบตามมา โดยกรดยูริกในเลือดจะเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดการย่อยสลายของสารพิวรีน ซึ่งปริมาณของสารพิวรีนในร่างกายมีทั้งที่ร่างกายสร้างขึ้นเองและที่ร่างกายได้รับจากอาหาร ดังนั้นหากกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูงก็อาจส่งผลต่อปริมาณกรดยูริกในเลือด และนำไปสู่การเกิดโรคเก๊าท์ได้

โรคเก๊าท์ห้ามกินอะไร

อาหาร 6 ชนิดที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่ควรกิน

หากสงสัยว่าเมื่อเป็นโรคเก๊าท์ห้ามกินอะไร บทความนี้จะไขข้อข้องใจพร้อมบอกเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรกินอาหารเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างเหมาะสม โดยอาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยงมี 6 ชนิด ดังนี้

1. เนื้อแดง

ในเนื้อแดงโดยเฉพาะเนื้อวัวและเนื้อหมู มีปริมาณของสารพิวรีนสูง การได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของกรดยูริกในเลือด และสะสมในข้อต่อต่าง ๆ ได้ ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จึงควรลดหรือหลีกเลี่ยงการกินเนื้อแดง รวมถึงน้ำซุป ซุปก้อน หรืออาหารแปรรูปที่มีส่วนประกอบหลักเป็นเนื้อสัตว์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนเนื้อของสัตว์ปีกอย่างเนื้อไก่ ควรกำจัดปริมาณในการกิน โดยเลือกกินเนื้อไก่ส่วนน่อง สะโพก หรือปีก เพราะมีปริมาณของสารพิวรีนในระดับปานกลาง และหลีกเลี่ยงการกินตับไก่ที่มีสารพิวรีนสูง รวมถึงควรเลือกกินโปรตีนจากไข่ นมไขมันต่ำ เต้าหู้ หรือพืชตระกูลถั่วเป็นหลักอาจเหมาะสมมากกว่า

2. เครื่องใน

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรลดหรือหลีกเลี่ยงการกินอาหารจำพวกเครื่องใน เพราะเป็นอาหารที่มีปริมาณของสารพิวรีนสูง ซึ่งอาจส่งผลให้อาการของโรคเก๊าท์กำเริบได้ อาหารจำพวกเครื่องในที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่ควรกิน เช่น ตับ หัวใจ ไต กึ๋น เซ่งจี๊ หรือลิ้นของทั้งหมูและวัว รวมถึงน้ำซุปหรืออาหารแปรรูปที่ทำมาจากเครื่องในเหล่านี้ด้วย

3. อาหารทะเล

อาหารทะเล เช่น ปลา หอย หรือกุ้งบางชนิดมีสารพิวรีนสูงกว่าอาหารทะเลชนิดอื่น โดยเฉพาะปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล หอยแมลงภู่ หอยนางรม และกุ้ง ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จึงควรเลือกกินอาหารทะเลชนิดอื่นที่มีสารพิวรีนปานกลาง รวมถึงจำกัดปริมาณการกินอาหารทะเลไม่ให้เกินวันละประมาณ 170 กรัม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาหารทะเลที่สามารถกินได้ เพราะเนื้อปลาทะเลบางชนิดแม้จะมีสารพิวรีนสูงแต่ก็มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงด้วย ซึ่งกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันดีที่มีประโยชน์ในการบำรุงสมอง หัวใจ และสุขภาพโดยรวม

4. ผักที่มีสารพิวรีนสูง

ผักบางชนิดมีสารพิวรีนในปริมาณที่สูง เช่น ชะอม กระถิน หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม กะหล่ำดอก และเห็ดบางชนิด จึงอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ แต่งานวิจัยบางส่วนก็พบว่าผักที่มีสารพิวรีนสูงเหล่านี้อาจไม่ส่งผลต่อระดับของกรดยูริกในเลือด และไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการของโรคเก๊าท์ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผักที่สามารถกินได้ก่อน อย่างไรก็ตาม การกินผักเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้เป็นเก๊าท์น้อยกว่าการกินเนื้อแดง เครื่องใน และอาหารทะเล

5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ เพราะเบียร์มีปริมาณของสารพิวรีนสูง อีกทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจลดประสิทธิภาพของไตในการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายมีกรดยูริกสะสมอยู่ตามข้อต่อมาก และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์ หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการกำเริบในผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้ว

6. อาหารและเครื่องดื่มรสหวาน

อาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ลูกอม หรือผลไม้กระป๋อง ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ เพราะมักมีส่วนผสมของสารให้ความหวานอย่างน้ำตาลฟรุคโตส (Fructose) ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายผลิตกรดยูริกเพิ่มขึ้นได้ ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จึงควรหลีกเลี่ยง

เมื่อผู้ป่วยทราบแล้วว่าหากเป็นโรคเก๊าท์ห้ามกินอะไรและหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้อย่างเคร่งครัด ร่วมกันการกินยาตามคำสั่งของแพทย์ จะช่วยให้อาการของโรคเก๊าท์หายไปได้ภายในเวลาไม่กี่วัน แต่หากผู้ป่วยไม่หลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้และไม่กินยาตามคำสั่งของแพทย์ จะทำให้อาการของโรคเก๊าท์แย่ลง โดยอาจใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์กว่าอาการจะหายเป็นปกติเลยทีเดียว