อาการโอมิครอน (Omicron) กับการป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธี

โอมิครอน (Omicron) หรือเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้นกระตุ้นให้การแพร่ระบาดและการติดเชื้อกลับมาเพิ่มจำนวนสูงมากอีกครั้ง ซึ่งสายพันธุ์นี้ก็มีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอยู่บ้าง ทั้งการแพร่กระจาย อาการที่เกิดขึ้น หรือความรุนแรงของอาการ 

ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า โอมิครอน (B.1.1.529) นั้นแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา (Delta) ทว่าอาจไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงเท่า อีกทั้งผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นได้แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้วหรือไม่มีอาการแสดงออกมาหลังติดเชื้อก็ตาม  

 อาการโอมิครอน (Omicron) กับการป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธี

อาการโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีอะไรบ้าง

ปกติแล้ว สายพันธุ์ต่าง ๆ ของโรคโควิด-19 มักทำให้เกิดอาการที่คล้ายคลึงกันอยู่แล้ว เช่น ไอ มีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือปวดศีรษะ จึงยากต่อการจำแนกสายพันธุ์หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีที่ถูกต้อง 

จากการศึกษาบางส่วนพบว่า เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนนั้นก่อให้เกิดอาการใหม่ ได้แก่ เหงื่อออกมากขณะนอนหลับ ปวดกล้ามเนื้อ รู้สึกเหนื่อยมาก และไอแห้ง ทว่าอาการเด่น ๆ ของโรค เช่น สูญเสียการรับรส จมูกไม่ได้กลิ่น และปัญหาเกี่ยวกับปอดกลับพบได้น้อยในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์นี้ และผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาเลย

เนื่องจากจากงานวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมักจะอยู่บริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าลงไปที่ปอด ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายป่วยได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะหากผู้ป่วยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือฉีดเข็มกระตุ้นมาแล้ว  

อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีโรคประจำตัว หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโอมิครอนอาจเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง และอาจนำไปสู่ปัญหาปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรือเสียชีวิต

วิธีป้องกันตัวเองจากสายพันธุ์โอมิครอน

เราสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีทุกครั้ง หากไม่มีน้ำและสบู่ควรใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% และควรใช้เมื่อมือแห้ง ไม่มีคราบสกปรกติดอยู่ จึงจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ  
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปนอกบ้านเป็นประจำ โดยสวมให้แนบสนิทกับใบหน้า คลุมทั้งปากและจมูก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากอนามัยบ่อย ๆ ซึ่งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ทั่วไปควรใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่หน้ากากผ้าสามารถซักให้สะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้
  • เว้นระยะห่างจากผู้อื่นในชีวิตประจำวันประมาณ 1–2 เมตร และไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 หากต้องดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือเสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องจัดการเรื่องอาหาร เสื้อผ้า และเก็บรวบรวมขยะจากผู้ป่วย  
  • ทำความสะอาดพื้นผิวสิ่งของหรืออุปกรณ์ภายในบ้านที่ต้องสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได สวิตช์ไฟ มือจับตู้เย็น รีโมท กุญแจบ้าน โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  • ห้ามใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย ทั้งภาชนะใส่อาหาร ช้อนส้อม ตะเกียบ หลอดดูด หรือขวดน้ำดื่ม   
  • ในกรณีที่จำเป็นต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัย และเลี่ยงบริเวณที่มีผู้โดยสารอยู่เยอะหรือช่วงเวลาเร่งด่วนที่ผู้คนแออัด หากเป็นไปได้ควรใช้รถส่วนตัวแทนรถสาธารณะ
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยสามารถติดตามรายละเอียดการฉีดวัคซีนจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โครงการของภาครัฐบาลที่ให้บริการการฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสถานพยาบาลอื่น ๆ 

ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 ดั้งเดิมหรือสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์เป็นโอมิครอนหรือเดลต้า วิธีการป้องกันตัวเองเหล่านี้ก็ยังจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าเราจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้วหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากพบสัญญาณของโรคโควิด-19 และทดสอบชุดตรวจโควิดเบื้องต้น (Rapid Test) แล้วผลเป็นลบ ควรทดสอบซ้ำอีกครั้ง 2 ภายใน 3–5 วัน และ 10–14 วัน หรือหากผลเป็นบวกสงสัยติดเชื้อ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อพิจารณาส่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR ที่มีความแม่นยำมากกว่า และเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาต่อไป