ทำความรู้จักสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 เตรียมรับมือการติดเชื้อระลอกใหม่

แม้ว่าโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนในยุคนี้ไปแล้ว แต่มีคนไทยเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับวัคซีน และที่สำคัญไวรัสโควิด-19 ได้กลายพันธุ์หรือพัฒนาเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อและอาการรุนแรงได้มากขึ้น

ด้วยเหตุผลนี้ การทำความรู้จักกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ จึงอาจช่วยสร้างความตระหนักรู้และเน้นย้ำว่าโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นยังคงเป็นโรคอันตรายและควรดูแลตัวเองอยู่เสมอแม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม โดยบทความนี้จะพามาทำความเข้ารู้จักกับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ และความอันตรายของไวรัสแต่ละสายพันธุ์

ทำความรู้จักสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 เตรียมรับมือการติดเชื้อระลอกใหม่

ทำไมไวรัสโควิด-19 ถึงมีหลายสายพันธุ์?

เชื้อไวรัสจัดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก (Microorganism) ที่ประกอบด้วยกลุ่มของโครงสร้างทางพันธุกรรม อย่างดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วยอาร์เอ็นเอ ซึ่งเป็นโครงสร้างทางพันธุกรรมที่เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอด

เมื่อเกิดเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ตัวไวรัสจะเข้าไปจับกับเซลล์และแบ่งตัวออกมาเป็นจำนวนมากจนทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ ซึ่งการกลายพันธุ์เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างไวรัสแบ่งตัว แต่ปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงของอาร์เอ็นเอในไวรัสไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนที่ติดเชื้อสักเท่าไหร่

แต่ด้วยความบังเอิญหรือปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้บางส่วนที่เป็นส่วนสำคัญของอาร์เอ็นเอในไวรัสเกิดการกลายพันธุ์จนอาจทำให้เชื้อรุนแรงหรือมีลักษณะที่เป็นอันตรายมากขึ้น และด้วยความไม่แน่นอนของการกลายพันธุ์จึงทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ไปในหลายลักษณะ ทำให้เกิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ขึ้น

ทำไมจึงควรเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ใหม่?

วัคซีนโควิด-19 ที่กำลังฉีดกันอยู่ในปัจจุบันถูกพัฒนามาจากการศึกษาโครงสร้างทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์แล้วจะมีลักษณะโครงสร้างทางพันธุกรรมที่ต่างออกไป

ด้วยลักษณะพิเศษของเชื้อบางสายพันธุ์อาจมีความเป็นไปได้ว่า วัคซีนอาจตอบสนองเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้ไม่ดีเท่ากับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยลง และเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงได้มากขึ้น

หลายคนอาจได้ยินชื่อเรียกเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) หรือสายพันธุ์อังกฤษที่เป็นชื่อเรียกเดิม ซึ่งการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ดั้งเดิมไปเป็นสายพันธุ์อัลฟ่ายังส่งผลให้เชื้อชนิดนี้ติดต่อกันได้ง่ายขึ้นและอาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญแบ่งกลุ่มของเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง (Variants of Concern)

การกลายพันธุ์ของไวรัสกลุ่มนี้ส่งผลต่อการรับมือกับเชื้อไวรัสและการติดเชื้อได้มาก ทั้งในแง่การแพร่เชื้อ ความรุนแรงของเชื้อ ไปจนถึงการวินิจฉัย รักษา และป้องกัน

  • สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) หรือ B.1.1.7 พบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร เป็นเชื้อที่แพร่ได้เร็ว เพิ่มโอกาสของการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต
  • สายพันธุ์เบต้า (Beta) หรือ B.1.351 พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ เป็นเชื้อไวรัสที่แข็งแรง ลดประสิทธิภาพของยากลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) บางชนิดที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนและการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้า และส่งผลให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำได้
  • สายพันธุ์แกมม่า (Gamma) หรือ P.1 พบครั้งแรกที่บราซิล เป็นเชื้อที่ลดประสิทธิภาพของยากลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอบางชนิด ดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดจากไวรัสและการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้า ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำได้เช่นเดียวกับสายพันธุ์เบต้า
  • สายพันธุ์เดลต้า (Delta) หรือ B.1.617.2 พบครั้งแรกที่อินเดีย เป็นสายพันธุ์ที่แพร่และติดต่อได้รวดเร็ว ทั้งยังลดประสิทธิภาพของยากลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีบางชนิดและวัคซีนโควิด-19

โดยสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวังเหล่านี้ได้เข้ามาในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

2. กลุ่มสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variants of Interest)

กลุ่มสายพันธุ์ที่น่าสนใจเป็นสายพันธุ์ที่ถูกพบใหม่ แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อดูลักษณะของการกลายพันธุ์ว่าส่งผลกระทบต่อการติดเชื้อและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไร

  • สายพันธุ์เอปซิลอน (Epsilon) หรือ B.1.427/B.1.429 พบครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • สายพันธุ์ซีต้า (Zeta) หรือ P.2 พบครั้งแรกที่บราซิล
  • สายพันธุ์อีต้า (Eta) หรือ B.1.525 พบครั้งแรกในหลายประเทศ
  • สายพันธุ์ธีต้า (Theta) หรือ P.3 พบครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์
  • สายพันธุ์ไอโอต้า (Iota ) หรือ B.1.526 พบครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา
  • สายพันธุ์แคปป้า (Kappa) หรือ B.1.617.1 พบครั้งแรกที่อินเดีย
  • สายพันธุ์แลมบ์ด้า (Lambda) หรือ C.37 พบครั้งแรกที่เปรู

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมหรือสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์แล้ว ล้วนส่งผลเสียและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจึงควรดูแลตนเองอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

วิธีเตรียมตัวรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

แม้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์ทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้น แต่วิธีป้องกันอย่างที่ทุกคนเคยทำมาอย่างเคร่งครัดสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ ได้แก่

  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรือขณะอยู่ในที่สาธารณะแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม
  • ล้างมือด้วยสบู่ หรือเลือกใช้เจลแอลกอฮอลทำความสะอาดมืออยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ เช่น ที่จับหรือกลอนประตู ราวบันได ราวจับบนรถสาธารณะ ปุ่มกดลิฟต์ และโต๊ะอาหาร เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนเยอะ อย่างห้างสรรพสินค้า ตลาด รวมทั้งสถานที่ที่อากาศหมุนเวียนน้อย หากไม่สามารถเลี่ยงได้ ควรป้องกันตัวเองและใช้เวลาในพื้นนั้นให้น้อยที่สุด
  • ทำความสะอาดของใช้และของที่ได้รับมาจากคนอื่นก่อนใช้เสมอ
  • ไม่ใช่มือที่ยังไม่ได้ล้างสัมผัสใบหน้า หยิบอาหารเข้าปาก หรือแคะจมูก
  • ดูแลรักษาสุขภาพตนเองอย่างเหมาะสม เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมเพื่อบรรเทาความเครียด
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนตามนัด โดยควรแจ้งอายุ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ และผลข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดครั้งแรก (หากมี) ให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนฉีดวัคซีนทุกครั้ง

วิธีเหล่านี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ แต่หากพบอาการอย่างเป็นไข้ หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรืออาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม

สำหรับคนที่ประสบปัญหาด้านการงาน การเงินจากสถานการณ์โควิด-19 จนเกิดความเครียด หากพบอาการเครียด ร้องไห้ง่าย รู้สึกเศร้า หดหู่ นอนไม่หลับ หรืออารมณ์ด้านลบอื่น ๆ ต่อเนื่องกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน เพราะอาจเสี่ยงต่อความผิดปกติทางอารมณ์ได้

ข้อมูล ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2564