ทำความรู้จักโควิด-19 และวิธีป้องกันโรคอย่างถูกวิธี

การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19: Coronavirus Disease 2019) เกิดจากเชื้อโรคในกลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อก่อโรคเมอร์ส โรคซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง โดยมักก่อให้เกิดการติดเชื้อในจมูก ไซนัส และคอส่วนบน แม้ ณ ตอนนี้จะยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะ แต่เราสามารถป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ได้ 

ไวรัสโคโรนาถูกค้นพบครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ.1960) ซึ่งเชื้อชนิดนี้สามารถติดเชื้อได้ทั้งในสัตว์และในคน และแพร่จากสัตว์สู่คนได้ โดยทั่วไปเราสามารถรับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น หายใจเอาเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในอากาศจากการไอและจามของผู้ติดเชื้อ หรือในที่ที่มีอากาศไม่ถ่ายเทและพื้นที่แออัด สัมผัสสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูกและน้ำลายของผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัสกับสิ่งของต่าง ๆ ที่เคยปนเปื้อนเชื้อไวรัสมาก่อน

ไวรัสโคโรนา

สำหรับการระบาดของโควิด-19 นั้นไม่เคยมีการพบในคนมาก่อน ซึ่งเชื่อว่ามีต้นตอมาจากเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน ก่อนจะแพร่กระจายไปสู่หลายประเทศทั่วโลก ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยตามข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสและผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แม้ประชาชนส่วนหนึ่งจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้วก็ตาม ทว่าสามารถรักษาหายได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยอดรวมของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงอยู่ 

อาการของการติดเชื้อโควิด-19

โดยทั่วไป อาการของโควิด-19 ตามนิยามเฝ้าระวังโรคมักปรากฏออกมาหลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายภายใน 2-14 วัน และผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยไปถึงอาการรุนแรงมากจนก่อให้เกิดการเสียชีวิตในที่สุด แต่บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาเลย ซึ่งอาการหลัก ๆ ของการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะประกอบด้วยอาการไอ มีไข้ และหายใจเหนื่อย 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ ไม่ว่าจะเป็นปวดกล้ามเนื้อ รู้สึกสับสน ปวดศีรษะ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เจ็บหน้าอก ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และสูญเสียการได้กลิ่นหรือการรับรส อีกทั้งยังอาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไตวายเฉียบพลัน ภาวะช็อกเหตุติดเชื้อในกระแสเลือด หรือภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

ในกรณีที่สงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อโควิด-19 และเคยไปสถานที่เสี่ยงหรือประเทศกลุ่มเสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนหน้า แล้วมีอาการไอ มีไข้ หรือหายใจลำบาก ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • แจ้งให้แพทย์หรือสถานพยาบาลว่าตนเองอาจติดเชื้อโควิด-19 เพื่อผู้ให้บริการทางการแพทย์ดำเนินการดูแล รักษา และป้องกันตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
  • ควรอยู่แต่ในบ้านหรือที่พักอาศัยและแยกตัวเองออกมาจากคนในครอบครัว อีกทั้งควรหยุดงาน หยุดเรียน และงดการออกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ยกเว้นสถานพยาบาล รวมถึงงดใช้รถสาธารณะเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ผู้ป่วยควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือเดินทางไปยังสถานพยาบาล หากตัวผู้ป่วยไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ คนรอบข้างผู้ป่วยควรใส่หน้ากากอนามัยแทน
  • หากมีอาการไอหรือจาม ควรปิดปากและจมูกด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่เสมอ หากไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวติดตัวให้ไอหรือจามใส่ข้อพับแขนหรือข้อศอกแทน หลังจากไอหรือจามทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด ส่วนกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วควรทิ้งถังขยะที่มีฝาปิดให้เรียบร้อย
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์เป็นประจำ เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น

corona CHATBOT Thai 2

วิธีป้องกันตนเองจากโควิด-19

ในเบื้องต้น โควิด-19 ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและระมัดระวังตนเองอยู่เสมอโดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อลดการรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายให้ได้มากที่สุด ดังนี้

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ครั้งละประมาณ 15 วินาที ในกรณีที่ไม่สะดวกล้างด้วยน้ำและสบู่สามารถใช้เป็นแอลกอฮอล์หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือครั้งละประมาณ 15-20 วินาที 
  • ไม่นำมือมาสัมผัสดวงตา จมูก ปาก เพราะเชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ที่มือและเข้าสู่ร่างกายได้
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น อย่างแก้วน้ำหรือผ้าเช็ดตัว เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการไปตลาดค้าสัตว์ การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่ป่วยหรือตาย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ไม่นำสัตว์ที่ป่วยหรือตายมาประกอบอาหารหรือรับประทานสด ๆ และในระหว่างการประกอบอาหารก็ไม่ควรใช้มีดหรือเขียงอันเดียวกันสำหรับเนื้อสัตว์ดิบและอาหารปรุงสุก 
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด บริเวณที่มีมลภาวะในปริมาณมาก และการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ไอหรือจาม หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ โดยให้ด้านสีเข้มอยู่ด้านนอก คลุมให้ปิดจมูก ปากและคาง และกดลวดด้านบนให้แนบสนิทกับสันจมูก ผู้ใช้ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน หลังใช้เสร็จควรทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือสถานที่เสี่ยงตามคำประกาศของทางรัฐบาล 
  • หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือหายใจเหนื่อยหอบภายใน 14 วัน หลังกลับมาจากสถานที่เสี่ยงหรือประเทศกลุ่มเสี่ยง ให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที โดยแจ้งรายละเอียดหรือประวัติการเดินทาง เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างถูกต้องและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการรับเชื้อมากกว่าปกติจึงควรระมัดระวังตนเองมากเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว คนงานในโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ที่ดูแลสัตว์และตรวจอาหารในตลาด พนักงานในตลาดค้าสัตว์ ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นต้น

สุดท้ายนี้ เนื่องจากข้อมูลของโควิด-19 (COVID-19) ยังมีจำกัด ประชาชนจึงควรติดตามข่าวสารที่ถูกต้องจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อย่างสถานพยาบาลของภาครัฐและเอกชน กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) หรือแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จและสร้างความหวั่นวิตกให้แก่สังคม 

ในปัจจุบันประชาชนสามารถทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนฟรีที่จัดสรรโดยภาครัฐได้ในหลาย ๆ ช่องทาง ซึ่งจะมีทั้งแบบลงทะเบียนและแบบ Walk-in ที่เดินทางไปฉีดได้เลย หากต้องการวัคซีนทางเลือกของหน่วยงานเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จึงควรอ่านเงื่อนไขก่อนการลงทะเบียนหรือสั่งจอง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือพบบุคคลเข่าข่ายติดเชื้อสามารถสอบถามหรือแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรคที่เบอร์ 1422 ได้ทันที

ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564