PCR Test กับการวินิจฉัยโรคโควิด-19

นอกจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วนแล้ว อีกวิธีที่หลายคนได้ยินกันมาก็คือ PCR Test ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและมีความน่าเชื่อ โดยผู้ที่เข้ารับการตรวจ PCR Test นั้นจะต้องตรวจกับผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการเฉพาะทางเท่านั้น

PCR Test เป็นการตรวจที่มีประโยชน์มากในการทำงานภายในสถานพยาบาล และยังเป็นการตรวจที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19เนื่องจากเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง บทความนี้อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจถึง PCR Test ให้มากขึ้นในหลายแง่มุม และอาการสุ่มเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่ควรรับการตรวจ เพื่อให้คุณและครอบครัวปลอดภัยจากโรคนี้มากที่สุด

Lab,Scientist,Holding,Covid-19,Test,Kit,laboratory,Specimen,Collection,Analysis,coronavirus,Patient

PCR Test คืออะไร

PCR Test หรือ Real-time PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) มักใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคติดเชื้อ โดยเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโรคในร่างกาย เนื่องจากเชื้อโรคและเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะมี DNA หรือ RNA ที่เป็นลักษณะเฉพาะ

ในการวินิจฉัยโรคโควิด-19 ด้วยวิธี PCR Test นั้นจะเป็นการนำตัวอย่างเชื้อจากสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจส่วนบนไปตรวจหาสารพันธุกรรมของซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) หรือเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ PCR Test เป็นการตรวจที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจพบการติดเชื้อได้อย่างแม่นยำ และตรวจได้แม้ว่าปริมาณไวรัสในร่างกายจะยังมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งยังอาจตรวจพบเชื้อในร่างกายได้แม้ผู้ป่วยจะหายจากการติดเชื้อแล้วก็ตาม

ใครบ้างควรไปตรวจ PCR Test 

PCR Test เป็นการตรวจที่เหมาะสำหรับคนที่มีอาการต้องสงสัยจะเป็นโควิด-19 ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ที่ตรวจด้วยชุดตรวจอื่น ๆ แล้วได้ผลการตรวจเป็นบวก ผลการตรวจโควิด-19 ก่อนหน้าไม่สามารถอ่านค่าได้ ผู้ที่ต้องรับการผ่าตัดหรือรับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศก็ควรต้องเข้ารับการตรวจ PCR Test ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ที่ความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสเชื้อโควิด-19 ร่วมกับมีอาการของโรค ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (Acute Respiratory Infection; ARI Clinic) ที่มักจัดสถานที่แยกไว้เฉพาะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น

โดยอาการโควิด-19ที่มักพบได้ เช่น อาการไอ ไม่รับรสและกลิ่น การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล อาเจียน มีไข้ อ่อนเพลีย วิงเวียน หายใจไม่อิ่ม หรือท้องเสีย เป็นต้น

ขั้นตอนการตรวจ PCR Test เป็นอย่างไร

แพทย์ พยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญที่สถานพยาบาลจะเป็นผู้ปฏิบัติการตรวจ PCR Test ให้กับผู้รับการตรวจ โดยเริ่มจากการใช้ก้านไม้สวอบ (Nasopharyngeal Swab) เก็บตัวอย่างของเหลวในบริเวณหลังโพรงจมูก ซึ่งก้านไม้ดังกล่าวมีลักษณะยืดหยุ่น ยาว และปลายไม้พันด้วยสำลี ทำให้สามารถสอดเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อเก็บตัวอย่างได้

หลังจากนั้นผู้ตรวจจะนำก้านไม้ใส่ในหลอดเก็บอย่างและปิดอย่างมิดชิดก่อนส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งนักวิทยาศาตร์จะทำการแยกสารพันธุกรรมออกจากสารอื่น ๆ ในของเหลวตัวอย่างด้วยการใช้สารเคมี เอนไซม์ และเทคโนโลยีชนิดพิเศษ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมของเชื้อซาร์ส-โควี-2 จนสามารถแสดงให้เห็นได้ในหลอดทดลอง และเมื่อเพิ่มปริมาณเพียงพอแล้ว เครื่องมือก็จะคำนวณและแปลผลที่ได้

หากผลจาก PCR Test ระบุว่าพบเชื้อ (Detected) หมายถึงผู้รับการตรวจรายนั้นติดเชื้อโควิด-19 แต่หากผลระบุว่าไม่พบเชื้อ  (Not Detected) หมายถึงผู้รับการตรวจไม่มีเชื้อโควิด-19 หรือมีเชื้อในปริมาณน้อยจนไม่สามารถตรวจพบได้

การตรวจด้วยวิธีนี้จะมีความแม่นยำสูงมาก หากตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญและตรวจภายใน 3–5 วันหลังมีความเสี่ยงหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ โดยผู้เข้ารับการตรวจมักจะทราบผลภายในเวลา 1–3 วัน ซึ่งระยะเวลารอผลตรวจอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานพยาบาล

แม้ว่าผลตรวจ PCR Test จะเป็นลบหรือระบุว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ควรปฏิบัติตัวตามมาตราการป้องกันโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด ปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อไอหรือจาม รวมทั้งควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ตนเอง