หน้ากากผ้าป้องกันโควิด-19 (COVID-19) ได้ไหม ใส่อย่างไรให้ถูกวิธี

หน้ากากผ้าเป็นหน้ากากรูปแบบหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ประชาชนสวมใส่ เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ที่ปนเปื้อนในอากาศเข้าสู่ร่างกาย และป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น แต่หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ การใส่หน้ากากผ้ายังช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ดีอยู่หรือไม่ 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ใส่หน้ากากเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 โดยเลือกหน้ากากที่กระชับพอดีกับใบหน้า ซึ่งสามารถใส่ต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลานาน และเลือกหน้ากากชนิดที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลการใส่หน้ากากผ้าให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 มาฝากกัน

หน้ากากผ้าป้องกันโควิด-19 (COVID-19) ได้ไหม ใส่อย่างไรให้ถูกวิธี

หน้ากากผ้าป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่

คนที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ ในอาคารที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือใช้เครื่องปรับอากาศ และเมื่อต้องพบกับผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน ซึ่งหน้ากากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใส่เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 มี 3 ประเภท ได้แก่

  • หน้ากากทั่วไปชนิดใช้ซ้ำ (Reusable Non-Medical Masks) ที่วางขายทั่วไป และต้องระบุที่ผลิตภัณฑ์ว่าผ่านมาตรฐาน ASTM F3502 หรือ CEN Working Agreement 17553 หรือเกณฑ์ที่ WHO กำหนด
  • หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ชนิดใช้แล้วทิ้ง (Disposable Medical Masks) ต้องผ่านมาตรฐาน EN 14683 Type I หรือ ASTM F2100 Level 1 หรือ YY/T 0969 หรือ YY 0469 หรือเทียบเท่า
  • หน้ากากอื่น ๆ ที่สวมใส่กระชับ (Other Types of Well-Fitting Non-Medical Masks) เช่น หน้ากากที่ทำใช้เองโดยใช้วัสดุหลายชั้น ซึ่งเป็นทางเลือกหากไม่สามารถหาหน้ากากประเภทอื่นได้

หากเปรียบเทียบประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโควิด-19 ของหน้ากากชนิดต่าง ๆ แล้ว หน้ากาก N95 จะมีประสิทธิภาพสูงสุด รองลงมาคือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากาก KN95 ส่วนหน้ากากผ้าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับหน้ากากประเภทเอื่น

หากทำหน้ากากผ้าใช้เอง ควรเลือกผ้าที่ทอด้วยเส้นใยเนื้อแน่น โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าสาลูเนื้อแน่นเย็บซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้นขึ้นไป ส่วนองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วัสดุ 3 ชั้น โดยชั้นในสุดเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติดูดซับ อย่างผ้าฝ้าย ชั้นกลางใช้วัสดุไม่ดูดซับและไม่ผ่านการทอ อย่างโพลีโพรพิลีน (Polypropylene) และชั้นนอกสุดเป็นวัสดุที่ไม่ดูดซับ อย่างผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester)

นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาและกระทรวงสาธาณสุขไทยแนะนำให้ใส่หน้ากาก 2 ชั้นซ้อนกัน เพราะสามารถลดการแพร่กระจายของไวรัสลงได้ถึง 96.5% โดยใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไว้ด้านในและสวมทับด้วยหน้ากากผ้า ซึ่งจะทำให้หน้ากากกระชับกับใบหน้ามากชึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ดีกว่าการใส่หน้ากากผ้าชั้นเดียว 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ ควรเลือกใส่หน้ากากทางการแพทย์แทนหน้ากากผ้า

  • ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง และโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตหลังติดเชื้อโควิด-19
  • ผู้ที่รู้สึกไม่สบาย และผู้ที่มีอาการเข้าข่ายของโรคโควิด-19 เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย
  • ผู้ที่รอผลการตรวจหาเชื้อหรือเพิ่งตรวจพบเชื้อโควิด-19

ใส่หน้ากากผ้าอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19

กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใส่หน้ากากตลอดเวลา ทั้งขณะอยู่ในบ้านและนอกบ้าน โดยเลือกประเภทของหน้ากากให้เหมาะสม ซึ่งการใส่หน้ากากผ้าเหมาะกับการสวมใส่ในบ้านหรือทำกิจกรรมในที่ที่มีคนน้อยไม่แออัด แต่เมื่อไปในที่ชุมชนที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ตลาดนัดและซุปเปอร์มาร์เก็ต ควรใส่หน้ากากทางการแพทย์ไว้ด้านใน และสวมทับด้วยหน้ากากผ้า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโรคมากขึ้น

นอกจากนี้ มีข้อควรปฏิบัติในการสวมหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยทั่วไปให้ถูกต้องและปลอดภัย ได้แก่

  • ล้างมือก่อนสวมหน้ากาก โดยล้างด้วยน้ำและฟอกสบู่นาน 40–60 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 70% ถูมือให้ทั่วนาน 20–30 วินาที หรือฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ 70%
  • จับสายจากด้านข้างแล้วคล้องที่หลังหู ดึงหน้ากากให้คลุมทั้งจมูก ปาก และคาง กดขอบลวดให้แนบกับสันจมูก ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า 
  • ในระหว่างวันควรระวังไม่ให้ขอบหน้ากากเลื่อนลงขณะพูดคุยกับผู้อื่น เพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ 
  • เมื่อรับประทานอาหารหรือน้ำ ให้จับบริเวณด้านบนของหน้ากากอนามัย ดึงลงมาไว้ใต้คาง ก่อนดึงกลับขึ้นไปใหม่เมื่อรับประทานเสร็จ
  • ควรเปลี่ยนหน้ากากทุก 6–8 ชั่วโมงหรือเปลี่ยนทุกวัน และเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อหน้ากากเปียกชื้นหรือมีคราบสกปรก 
  • หน้ากากสำหรับเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป ควรมีขนาดพอดีกับใบหน้าเด็กและหายใจได้ไม่ลำบาก ผู้ปกครองควรสอนวิธีใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องและฝึกให้เด็กใส่หน้ากากให้คุ้นเคย

สำหรับวิธีถอดหน้ากากที่ถูกต้องคือ ใช้นิ้วเกี่ยวสายคล้องหูเพื่อทิ้งลงถังขยะ โดยห้ามสัมผัสหน้ากากโดยตรง ก่อนทิ้งให้พับหน้ากากโดยให้ส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าอยู่ด้านใน ม้วนใส่ถุงและมัดปากถุงให้สนิท และล้างมือให้สะอาดทันทีหากสัมผัสหน้ากากที่ใช้แล้ว ส่วนหน้ากากผ้าให้ซักด้วยน้ำยาซักผ้าเด็กหรือน้ำสบู่อ่อน หรือซักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแต่ไม่ควรแช่ทิ้งไว้ จากนั้นตากแดดให้แห้งก่อนนำกลับมาใช้ใหม่

การใส่หน้ากากทุกชนิดมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีโรคหรือมีข้อห้ามทางการแพทย์ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องสวมใส่หน้ากากออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ หรือกรณีเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย เพราะระบบทางเดินหายใจของเด็กอาจยังไม่แข็งแรงพอ และเด็กเล็กอาจไม่รู้จักวิธีถอดหน้ากากออกเองเมื่อหายใจไม่สะดวก 

การใส่หน้ากากผ้าเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากการได้รับเชื้อโควิด-19 หากต้องไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านควรสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไว้ด้านในและสวมทับด้วยหน้ากากผ้า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ควรรักษาระยะห่างจากผู้อื่น 1–2 เมตร ล้างมือให้สะอาด และเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19