อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอาการที่จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เช่น จังหวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ เร็วกว่าปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอกัน โดยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นมักเป็นอาการอันตราย เพราะอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งอาจส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหาย 

หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อกระแสไฟฟ้าจากหัวใจที่คอยควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่อาจไม่ร้ายแรง เช่น การออกกำลังกาย ความรู้สึกโกรธ ความเครียด หรือความวิตกกังวล และปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจต่าง ๆ

อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ไม่ควรมองข้าม

อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยในบางรายอาจไม่แสดงอาการ และอาจตรวจพบได้ระหว่างการตรวจร่างกาย อย่างไรก็ตาม อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น

  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือมีจังหวะการเต้นของหัวใจเกิน 100 ครั้งต่อนาที
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ หรือมีจังหวะการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
  • หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เช่น หัวใจเต้นเร็วสลับเต้นช้า หรือหัวใจเต้นและหยุดเต้นสลับกัน 
  • หายใจลำบาก 
  • เจ็บหน้าอก  
  • หมดสติ  
  • เวียนศีรษะ หน้ามืด
  • อ่อนเพลีย 
  • เหงื่อออกมาก
  • ตาลาย ตามัว มองเห็นภาพเบลอ

อย่างไรก็ตาม อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจมีความคล้ายคลึงกับอาการของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการข้างต้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด

วิธีรับมืออาการหัวใจเต้นผิดจังหวะก่อนเกิดอันตราย 

หากสงสัยว่าตนเองมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีอาการสามารถรับมือได้ด้วยการไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการ และทำการรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างเหมาะสม

โดยวิธีรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น การใช้ยา การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion) การฝังเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (Implantable cardioverter defibrillator: ICD) หรือการผ่าตัด

นอกจากการรักษาจากแพทย์แล้ว ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคู่กัน เช่น ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงลดปริมาณการบริโภคเกลือและอาหารที่มีไขมันสูง รักษาระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 

โดยการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมอาจช่วยให้หัวใจมีสุขภาพดี และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)