ถั่วเขียวรักษาโรคได้จริงหรือ

ถั่วเขียว เป็นธัญพืชที่คนไทยนิยมนำมาทำเป็นเมนูของหวานหลากหลายชนิด เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ถั่วแปป ถั่วกวน เต้าส่วน หรือแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม นอกจากรสชาติที่อร่อยถูกปากและรับประทานง่ายแล้ว ถั่วเขียวยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งยังเชื่อกันว่าอาจช่วยรักษาปัญหาสุขภาพบางชนิดได้ด้วย

ถั่วเขียว

ถั่วเขียวปริมาณ 100 กรัม มีโปรตีน 24 กรัม น้ำตาล 6 กรัม และเส้นใยอาหาร 16.3 กรัม อีกทั้งอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญอย่างธาตุเหล็ก สารโพลีฟีนอล และแคโรทีน จึงมีการกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ของถั่วเขียวที่มีต่อสุขภาพอย่างแพร่หลายแต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ถั่วเขียวยังมีไม่มากนัก ทั้งนี้ มีข้อมูลงานวิจัยจำนวนหนึ่งถึงสรรพคุณถั่วเขียวว่าช่วยลดไขมันในเลือดและเสริมสร้างสุขภาพหัวใจได้

ลดคอเลสเตอรอล

เหล่าคนรักสุขภาพนิยมนำถั่วเขียวมาทำเป็นขนมหรือเครื่องดื่ม เพราะไม่เพียงอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่อาจช่วยลดน้ำหนักและส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากมีการทดลองหนึ่งชี้ให้เห็นว่าสารไซลิทอลที่สกัดจากเปลือกถั่วเขียวช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดของหนูสุขภาพดีและหนูที่ป่วยเป็นเบาหวานได้ สอดคล้องกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่าหนูที่ป่วยเป็นเบาหวานมีระดับไขมันในกล้ามเนื้อลดลงร้อยละ 30 รวมทั้งมีอาการอักเสบภายในร่างกายน้อยลงหลังจากกินถั่วเขียวเป็นเวลา 4 สัปดาห์ การรับประทานถั่วเขียวจึงอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวานได้

นอกจากนี้ การบริโภคถั่วเขียวอาจส่งผลดีต่อผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากเป็นแหล่งของไขมันชนิดดีซึ่งมีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าหนูที่กินถั่วเขียวผสมบุกมีระดับไขมันและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลง รวมทั้งมีไขมันดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการช่วยลดระดับไขมันในเลือด

นอกจากประโยชน์ด้านการรักษาโรคเบาหวานและลดระดับคอเลสเตอรอล การรับประทานถั่วเขียวอาจช่วยป้องกันภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ได้ด้วย ประเด็นนี้มีการศึกษากับหนูทดลอง ซึ่งผลปรากฏว่าหนูที่กินโปรตีนสกัดจากถั่วเขียวติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์ มีไขมันในตับลดน้อยลงกว่าหนูที่กินโปรตีนจากถั่วเหลือง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง ไม่อาจยืนยันว่าจะในคนให้ผลเช่นเดียวกัน อีกทั้งงานวิจัยบางชิ้นทดลองโดยนำเปลือกของถั่วเขียวมาสกัดหรือผสมถั่วเขียวกับพืชชนิดอื่น ซึ่งอาจให้ผลลัพธ์ต่างจากการบริโภคถั่วเขียวทั่วไป จึงควรมีการศึกษาในระยะยาวกับกลุ่มคนจำนวนมากเพิ่มเติม เพื่อรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ถั่วเขียวสำหรับช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

ป้องกันปัญหาสุขภาพหัวใจ

โรคหัวใจนับเป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรง ซึ่งรวมถึงโรคความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจทั้งหมด เช่น หลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจพิการแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น หลายคนจึงเลือกรับประทานถั่วเขียวโดยหวังสรรพคุณในการป้องกันโรคหัวใจซึ่งมีงานวิจัยบางงานกล่าวว่าว่าธัญพืชชนิดนี้อาจช่วยป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

งานวิจัยหนึ่งที่กล่าวสนับสนุนคุณประโยชน์ด้านนี้ระบุว่าสารประกอบบางชนิดในถั่วเขียวมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะเนื้อเยื่อหัวใจถูกทำลาย ดังปรากฏในการศึกษากับหนูทดลองชิ้นหนึ่งที่ผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่าสารโพลีฟีนอลซึ่งสกัดจากถั่วเขียวช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อหัวใจได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยยับยั้งไม่ให้เนื้อเยื่อหัวใจถูกทำลาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ ยังไม่อาจยืนยันได้ว่าการรับประทานถั่วเขียวช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพหัวใจได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้มีเพียงการทดลองในสัตว์หรือในหลอดทดลอง ไม่ปรากฏงานวิจัยที่ศึกษากับคนโดยตรง จึงจำเป็นต้องมีการทดลองในระยะยาวกับกลุ่มคนจำนวนมากต่อไป เพื่อระบุความปลอดภัยและประสิทธิภาพของถั่วเขียวต่อการป้องกันโรคหัวใจได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ วิธีป้องกันปัญหาสุขภาพหัวใจที่ได้ผลและส่งผลดีต่อสุขภาพที่สุดคือปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น เลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว โซเดียม และน้ำตาล รวมทั้งหมั่นทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด

กินถั่วเขียวอย่างไรให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

มีการกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ของถั่วเขียวเพื่อใช้เป็นทางเลือกในการบรรเทาปัญหาสุขภาพหลายประการ ทั้งยังมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่ชี้ให้เห็นสรรพคุณทางยาของธัญพืชชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษากับสัตว์หรือศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น ยังไม่ปรากฏงานวิจัยที่ศึกษากับคนโดยตรง จึงไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่าการบริโภคถั่วเขียวเป็นยาจะส่งผลดีต่อสุขภาพของคน ทางที่ดีจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากถั่วเขียวอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิด หรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และผู้ที่แพ้โปรตีน เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าเมล็ดถั่วเขียวมีสารก่อภูมิแพ้โปรตีนซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้

อย่างไรก็ตาม ถั่วเขียวนับเป็นธัญพืชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถรับประทานถั่วเขียวในปริมาณที่พบในมื้ออาหารปกติได้อย่างปลอดภัย ควรเน้นรับประทานเนื้อถั่วเขียวหรือถั่วซีก ซึ่งเป็นถั่วเขียวชนิดไร้เปลือก เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน เนื่องจากงานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าภายในเนื้อถั่วเขียวมีโปรตีนและสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายหรือเมตาบอลิซึมมากกว่าเปลือกถั่วเขียว ทั้งนี้ ควรเลือกรับประทานขนมหรือเครื่องดื่มจากถั่วเขียวที่ปรุงอย่างถูกสุขลักษณะ ในปริมาณแต่พอเหมาะ เนื่องจากอาหารที่ทำจากถั่วเขียว เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าส่วน ถั่วกวน ลูกชุบ หรือน้ำถั่วเขียว มักมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก