หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ความหมาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) คือภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาจพบอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจหอบ เหงื่อออกมาก วิงเวียน หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม เป็นต้น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคหัวใจ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

การเต้นของหัวใจจะถูกควบคุมโดยเครื่องกระตุ้นหัวใจตามธรรมชาติที่เรียกว่า Sinus Node ที่อยู่บริเวณหัวใจห้องบนด้านขวา มีหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเต้นของหัวใจ กระแสไฟฟ้าจะเดินทางไปยังหัวใจห้องบนเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อให้สูบฉีดเลือดเข้าไปในหัวใจ จากนั้นกระแสไฟฟ้าจะเดินทางต่อไปยังสถานีส่งสัญญาณที่เรียกว่า Atrioventricular Node ก่อนส่งกระแสไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องล่างทำให้เกิดการบีบตัวจากบนไปล่างอย่างสม่ำเสมอ และสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายรูปแบบ แบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้

  • Atrial Fibrillation หัวใจจะเต้นไม่เป็นจังหวะและเร็วผิดปกติ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้มาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ผู้ที่มีโรคหัวใจ เป็นต้น
  • Supraventricular Tachycardia อัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
  • Bradycardia อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที
  • Heart Block หัวใจจะเต้นช้าผิดปกติ และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
  • Ventricular Fibrillation หัวใจจะเต้นเร็วผิดปกติและไม่เป็นจังหวะ เป็นสาเหตุทำให้หมดสติและเสียชีวิตกะทันหัน หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลา ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้น้อย

อาการของหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภท ความรุนแรง หรือความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ บางรายอาจไม่พบอาการหรือความผิดปกติใด ๆ แต่บางรายอาจมีอาการที่สังเกตได้ เช่น

  • ใจสั่น
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที)
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที)
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจหอบ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • เหงื่อออกมาก
  • หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม หมดสติ

ผู้ที่มีอาการข้างต้นอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเสมอไป แต่หากมีอาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุของอาการต่อไป

สาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย แผลเป็นที่เนื้อเยื่อหัวใจจากหัวใจวายในอดีต รวมถึงการผ่าตัดหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และทำให้ผนังของหัวใจห้องล่างด้านซ้ายหนาขึ้น
  • ปัญหาการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่น ไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ และไฮโปไทรอยด์หรือไทรอยด์ต่ำ
  • โรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้อัตราการหายใจไม่ปกติ และมีความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เกลือแร่ในเลือดไม่สมดุล (Electrolyte Imbalance) อิเล็กโทรไลต์ในเลือด ได้แก่ โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม และแมงกานีส มีหน้าที่กระตุ้นและเป็นสื่อให้กระแสไฟฟ้าในหัวใจ หากระดับของเกลือแร่ในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปจะส่งผลต่อการทำงานของกระแสไฟฟ้าในหัวใจและทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก จะส่งผลต่อกระแสไฟฟ้าในหัวใจ และเพิ่มความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด และการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน จะไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัด หรือยาแก้ไอ เป็นต้น ที่มีส่วนผสมที่ไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้มากกว่า รวมถึงผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และรับประทานยาที่ส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของการเต้นของหัวใจเป็นประจำ

การวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น โรคหัวใจ ปัญหาการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยดังต่อไปนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยเฉพาะเมื่อตรวจในขณะมีอาการ แพทย์จะติดตั้งอุปกรณ์ที่บริเวณหน้าอก เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยใช้ Holter Monitor เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง ในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ หรือ Event Monitor ซึ่งจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือในขณะที่สวมใส่อุปกรณ์ มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบ่อย แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา ในบางครั้งผู้ป่วยอาจต้องกดปุ่มเมื่อรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออุปกรณ์จะทำงานอัตโนมัติเมื่อตรวจพบความผิดปกติของการเต้นหัวใจ
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) เพื่อตรวจการทำงานของหัวใจในขณะออกกำลังกาย และช่วยให้แพทย์ตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจและวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกายได้
  • การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (Electrophysiology Studies) โดยติดตั้งสายสวน (Catheter) บริเวณหลอดเลือดที่มุ่งสู่หัวใจ เพื่อตรวจและบันทึกการทำงานของกระแสไฟฟ้าหัวใจ และหาสาเหตุหรือความผิดปกติที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจวัดระดับสารต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น โพแทสเซียมในเลือด ฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น หากพบว่ามีระดับที่ผิดปกติจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  • การเอกซเรย์หน้าอก เพื่อตรวจความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจโต เป็นต้น
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่คล้ายเครื่องอัลตราซาวด์ตรวจบริเวณหน้าอกและใช้เสียงสะท้อนความถี่สูงเพื่อจำลองภาพ ขนาด และการทำงานของหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา ชนิดฝัง (Implantable Loop Recorder) โดยติดตั้งอุปกรณ์ลงไปใต้ผิวหนังที่บริเวณหน้าอก เพื่อตรวจจับการเต้นของหัวใจ

การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่ได้อยู่ในภาวะเสี่ยงต่ออาการที่มีความรุนแรงมากขึ้นหรือความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจยังไม่จำเป็นต้องรักษา ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้

  • การรักษาผู้ที่มีการเต้นของหัวใจช้าผิดปกติ โดยการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ ที่ติดตั้งเข้าไปในร่างกายที่บริเวณกระดูกไหปลาร้า ใช้สายไฟต่อจากเครื่องผ่านหลอดเลือดเข้าสู่หัวใจ เพื่อควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่กำหนด
  • การรักษาผู้ที่มีการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติ ทำได้หลายวิธี เช่น
    • การกระตุ้นเวกัส (Vagal Maneuvers) เป็นการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุให้หัวใจเต้นช้าลง แต่การกระตุ้นเวกัสอาจไม่สามารถใช้รักษาผู้ที่หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะได้ทุกประเภท และเป็นการรักษาเพียงชั่วคราวเท่านั้น
    • การใช้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจ ถึงแม้จะไม่ช่วยให้หายขาด แต่ช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการได้ โดยพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายประเภทตอบสนองดีต่อการใช้ยา โดยแพทย์อาจสั่งยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs) สำหรับผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะเพื่อควบคุมหรือฟื้นฟูการเต้นของหัวใจให้อยู่ในจังหวะที่ปกติ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงแพทย์อาจสั่งยาต้านการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ Atrial Fibrillation เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง
    • การช็อคหัวใจ (Cardioversion) ใช้ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไปหรือหมดสติ โดยแพทย์จะใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกายซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่
    • การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ (Ablation Therapy) วิธีนี้เป็นการรักษาที่ต้นเหตุซึ่งอาจช่วยให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทหายขาดได้ โดยเป็นวิธีการรักษาที่ต่อเนื่องจากการตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ เมื่อสอดสายสวนไปยังตำแหน่งที่เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุของความผิดปกติ แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น
    • การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter-Defibrillator: ICD) โดยเมื่อหัวใจเต้นช้า เครื่องมือนี้จะทำหน้าที่ในการกระตุ้นหัวใจ แต่เมื่อหัวใจเต้นเร็ว เครื่องมือจะปล่อยพลังงานไฟฟ้าในระดับที่เหมาะสมเพื่อกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นปกติทันที มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ (Ventricular Fibrillation) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
  • การผ่าตัด เช่น
    • การผ่าตัด Maze Procedure ที่เนื้อเยื่อหัวใจห้องบนให้เกิดแผลเป็น เพื่อควบคุมจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจ
    • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาสหัวใจ ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ

ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • โรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเกิดอาการใจสั่น หัวใจจะทำงานและสูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดลิ่มเลือด ลิ่มเลือดอาจเดินทางจากหัวใจไปที่สมอง ส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด และเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ในที่สุด
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว การเต้นของหัวใจที่ช้าหรือเร็วกว่าปกติ ทำให้หัวใจทำงานและสูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มที่ หากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน และส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

การป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เพียงปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและกรดไขมันโอเมก้า 3 รวมถึงผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืช เป็นต้น
  • ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือกิจกรรมที่ช่วยคลายความเครียด
  • หลีกเลี่ยงการสุบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ
  • อ่านคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ยาทุกครั้ง และใช้ยาด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะยาแก้ไอหรือยาแก้หวัดที่อาจมีส่วนผสมที่ไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ
  • ตรวจสุขภาพและไปพบแพทย์สม่ำเสมอ