ตั้งครรภ์กับโรคหัวใจ อันตรายที่คนท้องควรระวัง

ปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่หญิงตั้งครรภ์ควรระมัดระวัง คือ โรคหัวใจ เพราะคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วย่อมเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจากโรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งคุณแม่ที่มีสุขภาพดีทั่วไปก็อาจได้รับผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนพร้อมคลอด ดังนั้น คุณแม่ทั้งหลายจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ รวมทั้งเรียนรู้วิธีป้องกันและดูแลตนเองด้วย เพื่อความปลอดภัยในการตั้งครรภ์

1413 ตั้งครรภ์ โรคหัวใจ Resized

การตั้งครรภ์กับโรคหัวใจเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

เมื่อตั้งครรภ์ ระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะปรับตัวเพื่อให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของทารก โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือดที่จะทำงานหนักขึ้นเพื่อขนส่งออกซิเจนและสารอาหารที่สำคัญไปให้ทารกได้อย่างเพียงพอ โดยความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบหัวใจที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้

  • ปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะผลิตเลือดเพิ่มขึ้นประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์
  • ปริมาตรของเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจเพิ่มขึ้น เมื่อปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น หัวใจของคุณแม่ก็จะสูบฉีดเลือดต่อนาทีมากขึ้นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแม่และทารกในครรภ์ได้อย่างเพียงพอ
  • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วคนท้องจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น 10-15 ครั้งต่อนาที ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากหัวใจมีการสูบฉีดเลือดเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
  • ความดันโลหิตลดต่ำ แม้อัตราการเต้นของหัวใจคุณแม่ตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจมีภาวะความดันโลหิตลดลงได้ โดยคนท้องมักมีความดันโลหิตลดต่ำลงประมาณ 10 มิลลิเมตรปรอท เนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงและร่างกายปรับตัวให้มีเลือดไหลเวียนไปที่มดลูกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นภาวะปกติและไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา

นอกจากนี้ การคลอดลูกก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เนื่องจากการออกแรงเบ่งคลอดจะส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดและความดันโลหิต ซึ่งหลังคลอดอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าหัวใจและหลอดเลือดของคุณแม่จะกลับมาทำงานเป็นปกติ และในบางรายก็อาจกลายเป็นปัญหาอย่างถาวรที่ต้องได้รับการรักษาต่อไป

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจในขณะตั้งครรภ์ ?

โดยทั่วไป สตรีมีครรภ์มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขณะตั้งครรภ์ได้ แต่จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นหากมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้

  • ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก หรือเคยตั้งครรภ์แฝดมาก่อน
  • สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
  • น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
  • มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจก่อนวัยอันควร
  • เคยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • เป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะความดันโลหิตสูง
  • ใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจเสี่ยงต่อภาวะใดได้บ้าง ?

หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วจะยิ่งเสี่ยงมีอาการของโรคหัวใจกำเริบ หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ โดยภาวะผิดปกติที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ทั่วไปอาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เล็กน้อย ซึ่งถือว่าไม่เป็นอันตราย และไม่จำเป็นต้องรักษา ทว่าสำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจ แพทย์จะประเมินอาการและวางแผนการรักษา หากมีอาการรุนแรงก็อาจต้องรักษาด้วยการใช้ยา
  • ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ สำหรับคุณแม่ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ้นหัวใจหรือเคยผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม อาจส่งผลให้ลิ้นหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ในระหว่างตั้งครรภ์ และเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์มากขึ้น นอกจากนี้ การใส่ลิ้นหัวใจเทียมอาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบติดเชื้อหรือทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และอาจต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดเพื่อลดความเสี่ยง แต่ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงต่อทารก คุณแม่จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียก่อนตัดสินใจใช้ยา
  • หัวใจวาย เมื่อปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้น หัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายมีอาการแย่ลงได้
  • กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอด เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ไปจนถึง 5 เดือนหลังคลอด โดยจะมีภาวะหัวใจโตร่วมกับกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ส่งผลให้หัวใจบีบตัวเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง เป็นเหตุให้อวัยวะต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
  • ทารกหัวใจพิการแต่กำเนิด ในกรณีที่คุณแม่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ทารกที่คลอดออกมาก็อาจเสี่ยงมีภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน

โรคหัวใจขณะตั้งครรภ์ รับมืออย่างไร ?

การเกิดโรคหัวใจขณะตั้งครรภ์สามารถรับมือได้ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกาย โดยหากมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอยู่ก่อนแล้ว คุณแม่อาจต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษทั้งในช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากโรคหัวใจบางชนิดอาจทำให้คนท้องเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้สูง อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจและหลอดเลือดบางชนิดอาจไม่แสดงอาการจนกว่าจะตั้งครรภ์ ซึ่งในกรณีนี้ คุณแม่และคนใกล้ชิดจะต้องคอยระมัดระวังสุขภาพครรภ์ให้มาก เพราะหากมีอาการรุนแรงขึ้น อาจทำให้ทารกในครรภ์และตัวคุณแม่เองเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดเสมอ โดยแพทย์อาจนัดมาตรวจสุขภาพบ่อยกว่าหญิงตั้งครรภ์คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไม่มีความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด

ทั้งนี้ คุณแม่ควรดูแลสุขภาพตัวเองตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมสำหรับคนท้อง
  • ควบคุมน้ำหนักในระหว่างตั้งครรภ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพครรภ์และตัวคุณแม่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
  • เลิกสูบบุหรี่

ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจและมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา การใช้ยาอาจส่งผลกระทบต่อทารกได้ ดังนั้น ต้องพูดคุยปรึกษากับแพทย์เพื่อพิจารณาประโยชน์และผลเสียที่จะได้รับจากการใช้ยาดังกล่าวด้วย หากต้องใช้ยาเพื่อควบคุมอาการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณที่ปลอดภัยและส่งผลดีต่อการรักษามากที่สุด ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามรับประทานมากหรือน้อยกว่าที่กำหนด รวมทั้งห้ามหยุดใช้ยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งแม่และเด็กได้

โรคหัวใจขณะป้องกันได้อย่างไร ?

โรคหัวใจขณะตั้งครรภ์มีวิธีควบคุมความเสี่ยงได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยผู้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคหัวใจสูงควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้แพทย์วางแผนและให้คำแนะนำในการดูแลตนเองตั้งแต่ช่วงก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้ คุณแม่ควรเตรียมพร้อมร่างกายก่อนตั้งครรภ์ด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เลิกสูบบุหรี่ และควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อช่วยให้คุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้