อาการท้องเสีย และสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

ท้องเสียเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปและมักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงนัก โดยผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการท้องเสียปีละ 1-2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2-3 วัน ซึ่งอาจรักษาให้หายดีได้ด้วยการรับประทานยาที่หาซื้อได้เองตามคำแนะนำของเภสัชกร อย่างไรก็ตาม หากท้องเสียเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ หรือท้องเสียโดยมีเลือดออกร่วมด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตอากรผิดปกติที่เกิดขึ้น และรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที2109 อาการท้องเสีย rs

ท้องเสียเป็นอย่างไร ?

ท้องเสียเป็นอาการถ่ายอุจจาระเหลวและเป็นน้ำ หรือถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้น้ำตาลแลคโตส การแพ้อาหาร การรับประทานยา การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต การเป็นโรคในระบบทางเดินอาหาร การผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือถุงน้ำดี เป็นต้น และแม้ผู้ป่วยอาจท้องเสียเพียงไม่กี่วันและอาการมักหายไปเองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากมีอาการท้องเสียอย่างเรื้อรังก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากภาวะร้ายแรงอย่างโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังหรือโรคลำไส้แปรปรวนได้

ลักษณะของอาการท้องเสีย

ผู้ที่กำลังท้องเสียอาจมีอาการปรากฏอย่างหลากหลาย ซึ่งอาจมีเพียงอาการเดียวหรือหลาย ๆ อาการร่วมกัน โดยตัวอย่างอาการท้องเสียในระดับปานกลาง มีดังนี้

  • ท้องอืดหรือปวดเกร็งหน้าท้อง
  • อุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ
  • อยากถ่ายอุจจาระเป็นอย่างมาก
  • คลื่นไส้หรือรู้สึกไม่สบายท้อง และอาเจียนในบางครั้ง

ส่วนอาการท้องเสียในระดับรุนแรง อาจมีอาการ เช่น

  • อุจจาระเป็นมูกและมีเลือดปน
  • น้ำหนักตัวลดลง หรือมีภาวะขาดน้ำ
  • มีไข้
  • มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ หากถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน และขาดการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้น เมื่อไหร่ที่สงสัยว่าตนเองมีภาวะขาดน้ำที่เกิดจากอาการท้องเสียก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยผู้ป่วยอาจมีสัญญาณอาการของภาวะนี้ เช่น อ่อนเพลีย ปากหรือคอแห้ง หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ กระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะน้อยลง เป็นต้น

อาการท้องเสียที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการท้องเสียมากกว่า 2 วัน มีภาวะขาดน้ำ มีอาการปวดท้องหรือทวารหนักอย่างรุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรืออุจจาระมีสีดำ และมีไข้ขึ้นสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก อาจมีภาวะขาดน้ำอันเนื่องมาจากอาการท้องเสียได้เช่นกัน โดยอาจมีสัญญาณสำคัญของภาวะนี้ เช่น ปากแห้งแตก มีน้ำตาออกมาน้อยเมื่อร้องไห้ ตาโหล เด็กทารกมีกระหม่อมบุ๋ม ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะเพียงเล็กน้อย ผิวแห้งและเย็น เกิดการระคายเคือง ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น ทั้งนี้ หากอาการท้องเสียของบุตรหลานไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือเด็กมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส รวมถึงเด็กถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรืออุจจาระมีสีดำ ก็ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน  

วิธีป้องกันอาการท้องเสีย

โดยทั่วไป เราอาจลดความเสี่ยงของการเกิดอาการท้องเสียได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะอาจช่วยลดอาการท้องเสียได้ ทั้งในเด็กที่อาศัยอยู่ในศูนย์เด็กเล็กหรือเด็กที่ไปโรงเรียน ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีคนจำนวนมากอย่างชุมชนแออัด รวมไปถึงผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลอีกด้วย
  • รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งควรเป็นอาหารปรุงสุกที่ยังร้อน ๆ อยู่ และหลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้สด เนื้อสัตว์ดิบ และผลิตภัณฑ์นมที่ไม่มีมาตรฐานการผลิต ทั้งนี้ ควรดื่มน้ำจากขวดแทนการดื่มน้ำประปาหรือการรับประทานก้อนน้ำแข็ง เพราะอาหารเหล่านี้อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้
  • เตรียมตัวให้พร้อมก่อนการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบประกาศเตือนต่าง ๆ จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคก่อนออกเดินทางไปยังต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง เพื่อเตรียมรับมือกับอาการท้องเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวขณะเดินทาง รวมถึงการรับวัคซีนหรือการใช้ยาปฏิชีวนะก่อนออกเดินทางไปยังต่างประเทศหรือบริเวณที่เป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของโรคติดต่อต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งการใช้ยาอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการท้องเสียได้
  • เนื่องจากไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อไวรัสในเด็ก ผู้ปกครองจึงอาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการหยอดวัคซีนโรต้าให้กับลูกน้อยของตน เพื่อป้องกันอาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดนี้