อะดาลิมูแมบ

อะดาลิมูแมบ

Adalimumab หรือ อะดาลิมูแมบ เป็นยาที่ใช้ลดอาการปวดหรืออักเสบ มักใช้รักษาโรคอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis) และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยานี้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจ ยา Adalimumab มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

Adalimumab

เกี่ยวกับยา Adalimumab

กลุ่มยา ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ใช้รักษาโรคข้ออักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ปัจจุบันยังไม่มีการระบุวิธีใช้ยา Adalinumab ในหญิงตั้งครรภ์อย่างชัดเจน ซึ่งจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายานี้ไม่เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก่อนใช้ยานี้ ส่วนผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยานี้ ควรใช้มีการคุมกำเนิดระหว่างการใช้ยาและหลังจากใช้ยานี้ อย่างน้อย 5 เดือน

คำเตือนในการใช้ยา Adalimumab

ยา Adalimumab มีข้อควรระวังในการใช้ ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยา ทั้งยาชนิดนี้ รวมทั้งยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้และผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำทันตกรรม
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างเป็นไข้ หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า ไอ เสมหะปนเลือด แผลตามผิวหนัง ท้องเสีย หรือรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติการรักษาโรค โดยเฉพาะอาการชัก อาการแพ้ยาง ภาวะเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง หรือเกล็ดเลือดต่ำ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคฮีสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis) โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคหัวใจ โรคลูปัส โรคเกี่ยวกับระบบประสาทกล้ามเนื้อที่ส่งผลให้เกิดอาการชาหรือเป็นเหน็บ โรควัณโรค และไวรัสตับอักเสบบี
  • ยานี้ส่งผลกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจึงอาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ระหว่างใช้ยาหากมีไข้ หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย เหนื่อยล้า ไอ เกิดแผลตามผิวหนัง ท้องเสีย หรือรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ควรไปพบแพทย์ในทันที
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีการเดินทางในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากบางประเทศอาจมีความเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อโรคบางชนิดกว่าพื้นที่อื่น ๆ
  • แจ้งแพทย์หากเพิ่งรับหรือมีแผนเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ระหว่างการใช้ยา อย่างวัคซีนโรคหัด หรือวัคซีนโรคคางทูม เนื่องจากวัคซีนอาจทำงานได้ไม่ประสิทธิภาพ
  • ยานี้ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หรือ 6 ปีในการรักษาโรคโครห์น
  • ควรพาเด็กเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคก่อนเริ่มใช้ยานี้ในเด็ก
  • ยา Adalimumab มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในตับ ม้าม หรือไขกระดูก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งจากการใช้ยานี้มีน้อยมาก แต่มักพบในวัยรุ่นที่เป็นโรคโครห์นหรือโรคลำไส้อักเสบ และผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ตนเอง
  • ระหว่างใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคติดเชื้อ ผู้ที่เพิ่งรับวัคซีนป้องกันโรค หรือพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค
  • ระหว่างใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ อย่างการตัดเล็บ การโกนหนวด การเล่นกีฬาบางประเภท เนื่องจากรอยแผล รอบบาด หรือรอยช้ำอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการติดเชื้อในระหว่างและภายหลังการใช้ยาสูงกว่าคนกลุ่มอื่น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ นอกจากนี้ ควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลครรภ์หากกำลังใช้ยานี้อยู่
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงก่อนการใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจส่งผ่านทางน้ำและเป็นอันตรายต่อทารกได้

ปริมาณการใช้ยา Adalimumab

แพทย์อาจกำหนดปริมาณยาในการรักษาแตกต่างกันไปตามโรคและความรุนแรง โดยยาอะดาลิมูแมบมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาในการรักษาโรค ดังนี้

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ตัวอย่างการใช้ยาอะดาลิมูแมบในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มี ดังนี้

ผู้ใหญ่ ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 40 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยใช้ยาสัปดาห์เว้นสัปดาห์ หากใช้ยาชนิดนี้ในการรักษาเพียงชนิดเดียว แพทย์อาจแนะนำให้เพิ่มปริมาณยาในสัปดาห์ถัด ๆ ไป

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

ตัวอย่างการใช้ยาอะดาลิมูแมบในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กมี ดังนี้

เด็ก เด็กอายุ 4-15ปี ที่มีน้ำหนักระหว่าง 15-30 กิโลกรัม ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 20 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยใช้ยาสัปดาห์เว้นสัปดาห์ เด็กที่มีน้ำหนัก 30 กิโลกรัมขึ้นไป ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 40 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์เว้นสัปดาห์

โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดและโรคสะเก็ดเงินข้ออักเสบ

ตัวอย่างการใช้ยาอะดาลิมูแมบในการรักษาโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดและโรคสะเก็ดเงินมี ดังนี้

ผู้ใหญ่ ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 40 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยใช้ยาสัปดาห์เว้นสัปดาห์

โรคโครห์นและโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ

ตัวอย่างการใช้ยาอะดาลิมูแมบในการรักษาโรคโครห์นและโรคลำไส้ใหญ่อักเสบมี ดังนี้ 

ผู้ใหญ่ ผู้ที่มีระดับความรุนแรงของโรคในระดับปกติไปจนถึงขั้นรุนแรง ระยะแรกใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 160 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยแพทย์อาจแบ่งการฉีดยาเป็น 4 ครั้ง ครั้งละ 40 มิลลิกรัมภายในหนึ่งวัน หรือแบ่งการฉีดยาเป็น 4 ครั้ง ครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 2 วัน

จากนั้นฉีดยา Adalimumab ปริมาณ 80 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนังหลังจากการฉีดครั้งแรก 15 วัน โดยหลังจากฉีดยาครั้งแรก 29 วัน ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 40 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยฉีดยาสัปดาห์เว้นสัปดาห์ บางกรณีแพทย์อาจให้เพิ่มการฉีดเป็นทุกสัปดาห์ และหากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาชนิดนี้ แพทย์จะประเมินซ้ำภายใน 8 สัปดาห์สำหรับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ และ 12 สัปดาห์สำหรับโรคโครห์น 

การใช้ยา Adalimumab

ยาอะดาลิมูแมบมีวิธีการใช้ ดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้ถามแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • โดยปกติแพทย์จะเป็นผู้ฉีดยานี้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการฉีดด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการฉีดยาด้วยตนเอง
  • ปริมาณและระยะเวลาในการรักษาด้วยยา Adalimumab อาจแตกต่างกันไปตามโรคและอาการ ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาในปริมาณที่แพทย์กำหนด
  • ยานี้ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นขาหรือหน้าท้อง โดยสามารถฉีดบริเวณเดิมได้แต่ควรเปลี่ยนตำแหน่งการแทงเข็มให้ห่างจากตำแหน่งการแทงเข็มครั้งก่อนอย่างน้อย 1 นิ้ว เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติที่อาจเกิดกับผิวหนัง
  • ก่อนการฉีดยาควรทำความสะอาดแผลด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้ง
  • ไม่ควรฉีดยาลงบนผิวหนังที่ผิดปกติ อย่างเป็นแผล รอยช้ำ เป็นผื่น ผิวที่มีสัมผัสที่แข็งหรือหนาผิดปกติ 
  • ตรวจสอบลักษณะยาก่อนใช้ทุกครั้ง ว่าอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีตะกอน การเปลี่ยนสี หรือขุ่น หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเปลี่ยนยาใหม่
  • ห้ามนำยา Adalimumab แช่แข็ง หากยาเป็นน้ำแข็งห้ามใช้โดยเด็ดขาด
  • หลังจากนำยาออกจากตู้เย็น ควรทิ้งไว้สัก 15-30 นาทีเพื่อให้อยู่ในอุณหภูมิปกติ โดยห้ามอุ่นยาด้วยวิธีใดก็ตาม และห้ามเขย่าขวดยาโดยเด็ดขาด
  • หมั่นตรวจสุขภาพตลอดระยะเวลาที่ใช้ยา โดยเฉพาตรวจหาการติดเชื้อ
  • เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด ควรฉีดยาตรงตามกำหนดการฉีดทุกครั้ง
  • หากลืมฉีดยาให้ฉีดยาทันทีที่นึกได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • หากได้รับยาเกินขนาดและเกิดอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ในทันที
  • ห้ามใช้เข็มและหลอดฉีดยาซ้ำโดยเด็ดขาด หลังจากฉีดยาเรียบร้อยแล้วให้ทิ้งอุปกรณ์ฉีดอย่างเหมาะสมห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • หากมีอาการผิดปกติหลังจากใช้ยา ไม่ตอบสนองต่อยา หรืออาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที
  • ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็น โดยเก็บให้ห่างจากแสง ความร้อน เด็ก และสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Adalimumab

ยา Adalimumab อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น คัดจมูก จาม เจ็บคอ ปวดศีรษะ ผื่นขึ้น หรือเกิดความผิดปกติบริเวณผิวหนังที่ฉีด อย่างรอยแดง รอยช้ำ คัน และบวม เป็นต้น แม้ว่าอาการเหล่านี้อาจพบได้ทั่วไป แต่ถ้าหากไม่หายหรืออาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์

นอกจากนี้ ยานี้ยังอาจทำให้เกิดอาการที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งหากอาการต่อไปนี้ปรากฏขึ้น ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์

  • อาการของโรคมะเร็งต่อน้ำเหลือง
    การใช้ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เล็กน้อย จึงควรหมั่นสังเกตสัญญาณของโรค เช่น เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เหงื่อออกขณะนอนหลับ ปวดกล้ามเนื้อ รอยช้ำ มีเลือดไหล ผิวซีด เวียนศีรษะ มือเท้าเย็น ปวดท้องส่วนบนซึ่งอาจลามไปบริเวณไหล่ เบื่ออาหาร อิ่มเร็ว และน้ำหนักลด เป็นต้น
  • สัญญาณการติดเชื้อ
    เนื่องจากยานี้ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากมีอาการไข้ หนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน หายใจลำบาก ปัสสาวะบ่อย รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ตกขาวผิดปกติ เกิดผื่นสีขาวในปาก หรือไอและเจ็บคอต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
  • ผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
    ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย อย่างเป็นไข้ ปวดตามร่างกาย ปวดท้อง ปวดข้อต่อ ข้อต่อบวม เจ็บหน้าอก เหนื่อยล้า อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักขึ้นแบบฉับพลันหรือขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ผื่นขึ้นบริเวณจมูกและแก้ม ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระปนเลือด ดีซ่าน หายใจถี่ ผิวหนังไวต่อแสง รู้สึกชา เป็นเหน็บ แขนหรือขาอ่อนแรง มีปัญหาในการเคี้ยว กลืน พูด หรือเคลื่อนไหวใบหน้า ชัก สะเก็ดเงินกำเริบ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ อารมณ์แปรปรวน การมองเห็นผิดปกติ
  • อาการแพ้ยา
    อาการแพ้ยา อย่างผื่นลมพิษตามตัว มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น คอ หรือหายใจลำบาก 

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการนอกเหนือจากนี้ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ