โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis)

ความหมาย โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis)

Ankylosing Spondylitis หรือโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด คือ โรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ทำให้มีอาการเจ็บปวด หรือรู้สึกว่ามีข้อติดแข็งตามร่างกาย เช่น บริเวณหลัง สะโพก หรือก้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีใดรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ซึ่ง Ankylosing Spondylitis เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่อาจทำให้เกิดอาการอย่างเรื้อรังได้ ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาบรรเทาอาการ เพราะหากปล่อยให้อาการทวีความรุนแรงขึ้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยพิการได้

Ankylosing Spondylitis

อาการของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด

ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งอาการของ Ankylosing Spondylitis มักเป็นอาการเรื้อรังที่ปรากฏนานร่วมเดือนหรือเป็นปี และอาการอาจแย่ลง ดีขึ้น หายดี หรือเป็น ๆ หาย ๆ ตามแต่ละบุคคล

โดยลักษณะอาการของ Ankylosing Spondylitis มีดังนี้

  • ปวดหลังช่วงล่างและสะโพกร่วมกับอาการหลังตึงหรือรู้สึกยึดติดในบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดอาการต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยผู้ป่วยอาจยังรู้สึกปวดหรือมีอาการข้อติดบริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หลัง ก้น ข้อต่อไหล่ ข้อต่อระหว่างฐานกระดูกสันหลังกับกระดูกเชิงกราน กระดูกอ่อนระหว่างกระดูกหน้าอกและซี่โครง กระดูกสันหลังส่วนล่าง เส้นเอ็น และจุดยึดเส้นเอ็น เป็นต้น และอาการปวดหรือข้อติดมักเป็นมากในตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือเมื่ออยู่นิ่งเป็นเวลานาน แต่อาการดังกล่าวมักดีขึ้นได้ด้วยการออกกำลังกาย
  • ปวดสะโพก และมีปัญหาเกี่ยวกับการเดิน
  • ปวดส้นเท้าและฝ่าเท้า
  • งอตัว ก้มตัว หรือโน้มตัวลำบาก
  • ช่องทรวงอกแคบลงจากอาการข้อติด ซึ่งส่งผลให้เหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตาแดงและปวดตาร่วมด้วย

หากปรากฏอาการรุนแรงดังต่อไป ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ปวดหลังช่วงล่างมากขึ้น ปวดหลังนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน  
  • รู้สึกข้อติดแข็งและปวดหลังมากหลังจากตื่นนอนตอนเช้า แต่ดีขึ้นเมื่อได้อาบน้ำอุ่น ขยับท่าทาง หรือออกกำลังกาย
  • หายใจติดขัด หายใจเข้าลึก ๆ ลำบาก เพราะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อหน้าอกขยาย
  • เป็นไข้ ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด เหนื่อยล้ามาก หมดแรง
  • ตาบวม แดง และปวด มองเห็นไม่ชัด และตาไวต่อแสง

สาเหตุของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของ Ankylosing Spondylitis ได้ แต่คาดว่าโรคนี้อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น

  • พันธุกรรม มักตรวจพบยีน HLA-B27 ในผู้ป่วย Ankylosing Spondylitis จึงคาดว่าอาจป่วยจากปัจจัยทางพันธุกรรมที่ส่งผ่านกันมาในครอบครัว แต่ผู้ที่มียีน HLA-B27 ก็อาจไม่ได้เป็นโรคนี้เสมอไป
  • เพศ ผู้ชายมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิง
  • อายุ Ankylosing Spondylitis มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ใหญ่ตอนต้น

การวินิจฉัยอาการของ Ankylosing Spondylitis

แพทย์อาจถามรายละเอียดเกี่ยวกับอาการปวดที่ปรากฏ เช่น ระยะเวลาหรือความรุนแรงของอาการ รวมถึงถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และอาจวินิจฉัยอาการเพิ่มเติมด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การตรวจร่างกาย โดยให้ผู้ป่วยก้มหรือโน้มตัวไปในทิศทางต่าง ๆ เพื่อทดสอบช่วงการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง ซึ่งแพทย์อาจกดตามส่วนต่าง ๆ ของกระดูก และขยับขาของผู้ป่วยไปตามท่าทางต่าง ๆ เพื่อทดสอบอาการเจ็บปวด รวมถึงให้ผู้ป่วยสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อสังเกตถึงปัญหาในการขยายหน้าอก
  • การตรวจจากภาพถ่าย อาจเป็นการเอกซเรย์เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลง การสึกหรอ หรือการอักเสบของข้อต่อและกระดูก รวมถึงการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) โดยใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กพลังงานสูงสร้างภาพกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนเพื่อหาการเกิด Ankylosing Spondylitis หรือปัญหาจากข้อต่ออื่น ๆ ที่ทำให้เจ็บปวดหรือรู้สึกถึงข้อติดแข็ง
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาการอักเสบต่าง ๆ หรือตรวจหายีน HLA-B27 ที่เป็น 1 ในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้

การรักษาโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด

ยังไม่มีวิธีใดที่รักษาโรค Ankylosing Spondylitis ให้หายขาดหรือรักษาความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโรคนี้ได้ การรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการที่ปรากฏ และป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้นได้

โดยวิธีการรักษา Ankylosing Spondylitis มีดังนี้

  • การใช้อุณหภูมิบรรเทาอาการ การอาบน้ำอุ่นหรือการประคบร้อน จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและการติดแข็งบริเวณข้อต่อ ส่วนการประคบเย็นจะช่วยบรรเทาอาการบวม
  • การอยู่ในท่วงท่าที่เหมาะสม การจัดท่าทางเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจเริ่มจัดโต๊ะทำงานหรือเก้าอี้นั่งให้อยู่ในระดับพอดี ไม่นั่งหลังค่อม นอนบนพื้นราบให้หลังตรงเป็นแนวระนาบ และหลีกเลี่ยงการนอนหนุนหมอนหลายใบ เพื่อไม่ให้คองอมาด้านหน้ามากเกินไป
  • การรักษาสุขภาพปอด การฝึกหายใจเป็นวิธีที่ช่วยดูแลการทำงานของปอด เนื่องจาก Ankylosing Spondylitis อาจส่งผลต่อกระดูกซี่โครงของผู้ป่วยจนทำให้ช่วงอกขยายได้ไม่เต็มที่ขณะหายใจ และควรเลิกสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน
  • การทำกายภาพบำบัด ปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อหาวิธีผ่อนคลายอาการปวดยึดตึงด้วยการยืดกล้ามเนื้อ การนวด การจัด ดัด ดึง หรือขยับข้อต่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวและบรรเทาอาการปวด
  • การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เน้นบริเวณหลังและช่องท้อง การว่ายน้ำ และการปั่นจักรยาน เพื่อบรรเทาอาการปวด เพิ่มความแข็งแรงและสร้างความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย ทั้งยังเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวขยับท่าทางด้วย แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดบริเวณหลังหรือกระดูกสันหลัง เช่น การวิ่งจ็อกกิ้ง หรือการกระโดด เป็นต้น
  • การรักษาด้วยยา รับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาอินโดเมทาซิน และยานาพรอกเซน เพื่อบรรเทาอาการปวด การอักเสบ และอาการติดแข็ง รับประทานยาลดปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาซัลฟาซาลาซีน และยาเมโธเทรกเซท รวมถึงยาฉีดอื่น ๆ ในกลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟ (TNF Blockers) เช่น ยาอะดาลิมูแมบ ยาเซอร์โทลิซูแมบ ยาอินฟลิซิแมบ ยาโกลิมูแมบ และยาอีทาเนอร์เซ็บต์ เป็นต้น แต่ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรอย่างละเอียดก่อนใช้ยาทุกครั้ง
  • การผ่าตัด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดหากมีความเสียหายที่เส้นประสาทในกระดูกสันหลัง หรือบริเวณกระดูกสันหลังเสียหายอย่างรุนแรง แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

ทั้งนี้ หากปรากฏอาการอื่น ๆ ขึ้นเฉพาะส่วน เช่น บริเวณดวงตา หรือหัวใจ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด

หากไม่รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา อาการที่ปรากฏอาจทวีความรุนแรงขึ้นจนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น

  • การอักเสบบริเวณผนังชั้นกลางของลูกตา (Uveitis) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย Ankylosing Spondylitis ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากสังเกตพบสัญญาณของการป่วย เช่น อาการปวดตากะทันหัน ตาไวต่อแสง และมองเห็นภาพไม่ชัด
  • ปอดอักเสบและมีโรคปอดเรื้อรังจากเนื้อเยื่อปอดที่อักเสบและกลายเป็นพังผืด   
  • โรคไต
  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ จากการอักเสบของเนื้อเยื่อหัวใจต่าง ๆ
  • ปัญหาเกี่ยวกับกระดูก เช่น กระดูกสันหลังหัก กระดูกยุบตัว หรือโรคกระดูกพรุน รวมถึงอาการกระดูกสันหลังกดเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของทวารหนัก กระเพาะปัสสาวะ และขา จนอาจทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ร่วมกับขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างมีอาการอ่อนแรง

การป้องกันโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด

แม้ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดป้องกัน Ankylosing Spondylitis ได้ แต่ผู้ป่วยอาจป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรือความพิการจากโรคนี้ได้ โดยการไม่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และไปพบแพทย์ตามนัดหมายหรือเมื่อแสดงอาการผิดปกติอื่น ๆ  เป็นต้น