ลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)

ความหมาย ลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)

ลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) หรือลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มโรคใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบบริเวณทางเดินอาหาร โดยผู้ป่วยลำไส้อักเสบอาจมีอาการที่แตกต่างกันไป แต่ที่มักพบได้ก็เช่น ปวดท้อง ท้องร่วง และถ่ายปนเลือดหรือมีมูกปน

ลำไส้อักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเยื่อบุลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเกิดการอักเสบ ซึ่งหากผู้ที่ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาการอักเสบอาจลุกลามไปยังลำไส้บริเวณใกล้เคียงได้ ผู้ที่เริ่มพบอาการที่เป็นสัญญาณของโรคนี้จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ

ลำไส้อักเสบ

อาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ

ผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบแต่ละคนมักมีอาการแสดงที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่า อาการอักเสบเกิดขึ้นบริเวณใด แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบมักพบอาการดังต่อไปนี้

  • ท้องร่วง ผู้ป่วยอาจเกิดอาการท้องร่วงกะทันหันและอาจถ่ายวันละหลายรอบ ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจพบว่าต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ
  • อุจจาระปนมูกเลือด
  • ท้องผูก การอักเสบของลำไส้บางส่วนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องผูกได้ แต่อาจพบได้น้อยกว่าอาการท้องร่วง
  • มีอาการปวดคล้ายโดนบีบบริเวณท้อง
  • น้ำหนักลดผิดปกติ 
  • อ่อนเพลีย
  • ไข้ขึ้น
  • แคระแกร็น ในกรณีเด็ก เด็กอาจมีภาวะแคระแกร็นเนื่องจากการขาดสารอาหาร

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบบางคนยังอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการปวดบริเวณข้อต่อ เกิดแผลในปาก หรือเกิดความผิดปกติที่ตาหรือตับ

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษา ลักษณะอาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบมักจะค่อย ๆ แย่ลงเรื่อย ๆ อีกทั้งการอักเสบยังอาจเกิดการลุกลามได้ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวจึงควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่พบอาการต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดท้องรุนแรง อุจจาระปนเลือด อาการท้องเสียที่ไม่ดีขึ้นแม้จะรับประทานยาไปแล้ว อุจจาระบ่อยจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก และเป็นไข้นานเกิน 2 วัน

สาเหตุของลำไส้ใหญ่อักเสบ

ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการที่ระบบภูมิคุ้มกันwww.pobpad.com/ระบบภูมิคุ้มกัน-ข้อเท็จของร่างกายที่ควรจะทำหน้าที่ป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย แต่กลับเป็นการทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายแทน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกเช่นกันที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น

  • กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disease)
  • พันธุกรรม โดยผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบอาจมีแนวโน้มเกิดโรคนี้ในภายหลังได้

การวินิจฉัยลำไส้ใหญ่อักเสบ

ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามข้อมูลสุขภาพทั่วไป อาการที่เกิดขึ้น และประวัติการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงอาจตรวจร่างกายผู้ป่วยว่ามีอาการอย่างอื่นหรือเกิดอาการตึงที่ท้องหรือไม่

ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยบางคน แพทย์อาจต้องส่งตรวจด้วยวิธีทางการแพทย์อื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการแยกวินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบออกจากโรคโครห์น ซึ่งเป็นโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายกัน โดยวิธีการตรวจที่แพทย์มักใช้ก็เช่น

  • การตรวจเลือด วิธีนี้จะตรวจประเมินภาวะโลหิตจางและการอักเสบ โดยผลตรวจเลือดจะแสดงว่าผู้ป่วยมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ แต่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจพบการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR) ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกาย
  • การตรวจตัวอย่างอุจจาระ แพทย์จะเก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยไปตรวจการติดเชื้อ โดยแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการดูเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อยู่ในอุจจาระ
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) วิธีนี้จะช่วยให้วินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบได้แม่นยำและเห็นลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วยได้ชัดเจน โดยแพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กซึ่งมีกล้องติดอยู่เข้าไปทางลำไส้ตรงเพื่อดูภายในลำไส้ 
  • การเอกซเรย์ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคอย่างรุนแรง แพทย์อาจเอกซ์เรย์บริเวณท้องของผู้ป่วย เพื่อดูว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือไม่
  • การสวนแป้งแบเรียม (Barium Enema) โดยแพทย์จะสวนแป้งแบเรียมเพื่อนำสารทึบรังสีเข้าไปทางลำไส้ตรง และสะท้อนภาพภายในลำไส้ออกมาผ่านภาพเอกซเรย์ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ยังมีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจด้วยการส่องกล้องในลำไส้ใหญ่
  • การทำซีทีสแกน แพทย์จะทำซีทีสแกนผู้ป่วยหากสันนิษฐานว่าผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังหรืออาการอักเสบที่ลำไส้เล็ก โดยแพทย์จะสแกนบริเวณท้องหรือเชิงกรานของผู้ป่วย
  • การตัดชิ้นเนื้อตรวจ แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อของลำไส้ออกมาตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค

การรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ

เป้าหมายในการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบคือการลดการอักเสบที่ก่อให้เกิดอาการป่วย โดยเมื่ออาการของโรคอยู่ตัวแล้ว แพทย์จะติดตามผลการรักษาทุก 6 เดือน หรือน้อยกว่านั้นหากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น 

โดยวิธีการรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบที่แพทย์มักใช้ก็เช่น

การรักษาด้วยยา

แม้การใช้ยาจะไม่สามารถรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบให้หายขาดได้ แต่การใช้ยาจะช่วยควบคุมอาการให้ทรงตัวได้ รวมถึงลดผลข้างเคียงจากการรักษา และลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ โดยยาที่ใช้มักขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค บริเวณลำไส้ที่เกิดการอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยเป็น โดยทางเลือกในการใช้ยารักษานั้น ประกอบด้วย

  • ยาในกลุ่มอะมิโนซาลิไซเลต (Aminosalicylates) เช่น ยาเมซาลามีน (Mesalamine) ยาโอลซาลาซีน (Olsalazine) หรือยาบอลซาลาไซด์ (Balsalazide) โดยผู้ป่วยอาจได้รับยาผ่านการรับประทานหรือสวนทวารหนัก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบที่บริเวณใดของลำไส้
  • ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (Corticosteroids) ยานี้จะช่วยลดอาการอักเสบ โดยยากลุ่มนี้จะมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบรับประทาน ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และสวนทวารหนัก ขึ้นอยู่กับว่าลำไส้เกิดการอักเสบที่บริเวณใด
  • ยากดระบบภูมิต้านทาน (Immunomodulators) ยานี้เป็นยาที่ช่วยระงับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยลดเซลล์ที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันร่างกาย หรือยับยั้งการทำงานของสารโปรตีนที่ทำให้เกิดการอักเสบ

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อควบคุมอาการต่าง ๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ปวด และยาเสริมธาตุเหล็ก 

การผ่าตัด

การผ่าตัดเป็นวิธีที่แพทย์จะนำลำไส้บริเวณที่มีการอักเสบออก โดยแพทย์จะผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยลำไส้อักเสบที่มีเลือดออกมาก ลำไส้ทะลุ ได้รับการวินิจฉัยหรือสันนิษฐานว่าเป็นมะเร็ง หรือผู้ป่วยมีอาการของโรครุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา

โดยวิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาลำไส้อักเสบจะประกอบด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัดลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงออก (Proctocolectomy) การผ่าตัดวิธีนี้จะนำลำไส้ใหญ่ทั้งหมดและลำไส้ตรงออกไป 
  • การผ่าตัดต่อลำไส้ (Ileoanal Anastomosis) แพทย์จะนำลำไส้ส่วนที่อักเสบออกไป แล้วนำลำไส้ส่วนที่ไม่มีความผิดปกติมาเชื่อมกับกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนัก เพื่อให้ผู้ป่วยขับถ่ายออกทางทวารหนักได้เหมือนคนปกติทั่วไป ทั้งนี้ หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจพบว่าตนเองอาจถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น

การรักษาด้วยซินไบโอติก

ซินไบโอติกคือ การนำจุลินทรีย์มีประโยชน์หรือโพรไบโอติก รวมเข้ากับพรีไบโอติกซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยซินไบโอติกเป็นอีกหนึ่งการรักษาทางเลือกที่มีการศึกษามากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากเชื่อกันว่าซินไบโอติกอาจช่วยต้านการอักเสบ ลดอาการผิดปกติอย่างอาการปวดท้อง ท้องอืด และอาจช่วยเรื่องการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้

โดยจากผลลัพธ์ของงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การใช้ซินไบโอติกอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการจากโรคลำไส้อักเสบได้ อีกทั้งยังอาจช่วยเรื่องการขับถ่ายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้ซินไบโอติกยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติม ผู้ที่ต้องการใช้ซินไบโอติกในการรักษาโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณที่เหมาะสมก่อนใช้ 

ภาวะแทรกซ้อนของลำไส้ใหญ่อักเสบ

ผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบอาจเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อันเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคตามมาได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรค ได้แก่

  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ภาวะแทรกซ้อนนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากการป่วยเป็นลำไส้อักเสบโดยตรง แต่มาจากการรักษาลำไส้อักเสบด้วยการใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์เป็นเวลานาน
  • พัฒนาการล่าช้า อาการของลำไส้อักเสบและวิธีรักษาบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและทำให้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้า เด็กและวัยรุ่นที่ป่วยเป็นลำไส้อักเสบควรวัดน้ำหนักและส่วนสูงเป็นประจำทุก ๆ 3–12 เดือน ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก
  • ท่อน้ำดีอักเสบแข็งขั้นแรก (Primary Sclerosing Cholangitis: PSC) ภาวะนี้อาจพบได้น้อย โดยอาการที่มักพบ ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ท้องร่วง คันตามผิวหนัง น้ำหนักลด หนาวสั่น ไข้ขึ้นสูง ผิวเหลือง
  • ลำไส้โป่งพอง (Toxic Megacolon) ภาวะนี้มักพบได้ในผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบขั้นรุนแรง โดยผู้ป่วยที่เกิดอาการลำไส้โป่งพองจะเกิดอาการปวดท้อง ไข้ขึ้นสูง และหัวใจเต้นเร็ว 
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ 

การป้องกันลำไส้ใหญ่อักเสบ

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบการป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่สำหรับผู้ที่มีการอักเสบในลำไส้ การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตอาจช่วยให้อาการของโรคไม่รุนแรงขึ้นได้

โดยผู้ป่วยสามารถปรับวิธีรับประทานอาหารเพื่อช่วยให้อาการของโรคไม่รุนแรงขึ้นได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่เพิ่มจำนวนอาหารให้มากขึ้นเป็นประมาณ 5–6 มื้อต่อวัน 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะกระตุ้นลำไส้ให้ทำงานหนักและส่งผลให้อาการท้องร่วงแย่ลง
  • เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะอาจส่งผลให้เกิดแก๊สในลำไส้ได้
  • ลดผลิตภัณฑ์เนยนม ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคอักเสบในระบบทางเดินอาหารหลายรายพบว่าการจำกัดการรับประทานผลิตภัณฑ์เนยนมนั้นช่วยให้อาการท้องร่วง ปวดท้อง และแก๊สในลำไส้ดีขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโทสที่อยู่ในอาหารเหล่านี้ได้
  • ลดปริมาณอาหารที่มีกากใย ผู้ป่วยลำไส้อักเสบควรลดผักผลไม้ที่มีกากใยสูง เนื่องจากเส้นใยในผักผลไม้นั้นอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง