น้ำหนักลดผิดปกติเกิดจากอะไร แบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

น้ำหนักลดผิดปกติเป็นอาการที่ร่างกายสูญเสียน้ำหนักตัว โดยอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยที่ไม่รุนแรง อย่างความเครียดหรือความวิตกกังวล หรืออาจเป็นสัญญาณแรกเริ่มของโรคบางชนิดที่ต้องได้รับการรักษา

น้ำหนักลดผิดปกติเกิดได้กับทุกคนและจะยิ่งพบได้มากในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยความรุนแรงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน หากน้ำหนักลดผิดปกติเกิดในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะทางจิตใจ อย่างการหย่าร้างหรือสูญเสียคนใกล้ชิด 

น้ำหนักลดผิดปกติเกิดจากอะไร แบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

น้ำหนักที่ลดลงจะเริ่มกลับสู่ปกติเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากน้ำหนักที่ลดลงมีจำนวนมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวโดยรวมภายในช่วงเวลาประมาณ 6–12 เดือน ทางการแพทย์อาจประเมินว่าอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณของโรคอื่น

สาเหตุของอาการน้ำหนักลดผิดปกติ

น้ำหนักลดผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือเรื้อรังอาจมีสาเหตุมาจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น

1. ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)

ไทรอยด์เป็นพิษหรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป ส่งผลให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานหนักขึ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น หัวใจเต้นเร็ว วิตกกังวล นอนหลับยาก อ่อนเพลีย มือสั่น รวมถึงน้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น

2. กระบวนการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ

น้ำหนักตัวที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากโรคบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการดูดซึมสารอาหารของลำไส้ อย่างโรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคโครห์น (Crohn's Disease) หรือลำไส้อักเสบ โดยผู้ป่วยอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง หรืออุจจาระปนเลือด เป็นต้น

3. โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน

โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน อย่างโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) เป็นโรคที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยจะไปทำลายเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ จนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบเผาผลาญหรือกระบวนดูดซึมสารอาหารในร่างกายของผู้ที่ป่วยทำงานผิดปกติจนน้ำหนักตัวลดลงตามมา

4. มะเร็ง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักมีอาการน้ำหนักลดผิดปกติ โดยอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น ผู้ป่วยเบื่ออาหาร ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานหนักขึ้น ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น หรือเซลล์มะเร็งหลั่งสารบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างพลังงานของร่างกายจากอาหารที่รับประทาน เป็นต้น

5. โรคติดเชื้อ

น้ำหนักตัวลดผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น วัณโรค เอชไอวี พยาธิปากขอ หรือโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (Gastroenteritis) เป็นต้น

6. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

อาการน้ำหนักลดผิดปกติอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคทางระบบประสาทหรือจิตเวชบางชนิด ยาเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) หรือยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น

7. ภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล

สภาวะทางจิตใจ อย่างภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นปัจจัยให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนไป เช่น เบื่ออาหาร รับประทานอาหารน้อยลง ใช้สารเสพติดบางชนิดหรือบุหรี่ที่อาจส่งผลให้ความอยากอาหารลดลง เป็นต้น

นอกจากสาเหตุข้างต้น น้ำหนักลดผิดปกติอาจเกิดได้จากโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคแอดดิสัน (Addison’s Disease) หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ภาวะติดสุราเรื้อรัง พฤติกรรมการกินผิดปกติ เป็นต้น

น้ำหนักลดผิดปกติแค่ไหนที่ควรไปพบแพทย์

เนื่องจากอาการน้ำหนักลดผิดปกติเกิดได้จากหลายปัจจัย หากเริ่มสังเกตเห็นว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกาย หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ในการวินิจฉัยอาการน้ำหนักลดผิดปกติ แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และอาจใช้วิธีตรวจอื่นเพิ่มเติม อย่างการตรวจเลือด เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เมื่อแพทย์ทราบสาเหตุของอาการ แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น แพทย์อาจให้ยาต้านไทรอยด์หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือผู้ป่วยเป็นมะเร็ง แพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด หรือภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง เป็นต้น