ส้มโอ ผลไม้วิตามินซีสูง กับหลากสรรพคุณต้านโรค

ส้มโอเป็นผลไม้หลากสรรพคุณ นอกจากรับประทานยังใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบ เปลือก เนื้อ รวมทั้งอาจนำมาสกัดเป็นสารบำรุงสุขภาพ โดยเชื่อว่าสารประกอบในส้มโออาจมีฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษ ต้านเชื้อจุลชีพ รักษาโรคเบาหวาน และลดโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ตัวอย่างส้มโอ

ส้มโอมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus Maxima หรือ Citrus Grandis ในส้มโอ 100 กรัม มีวิตามินซีสูงถึง 61 กรัม และมีสารประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น สารประกอบกลุ่มฟีนอล สารฟลาโวนอยด์ โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้อาจมีประโยชน์ต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ในปัจจุบันจึงมีงานค้นคว้ามากมายเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของส้มโอ โดยข้อพิสูจน์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของส้มโอไว้ ดังต่อไปนี้

4 คุณประโยชน์เด่นของส้มโอ

1. ป้องกันตับจากสารพิษ

ตับมีหน้าที่กำจัดและทำลายสารพิษที่ลำไส้ดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด แต่ก็ไม่อาจกำจัดสารพิษบางชนิดได้ อย่างแอลกอฮอล์และสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (Carbon Tetrachloride) ซึ่งสารดังกล่าวอาจทำลายเซลล์ตับได้อีกด้วย โดยมีงานวิจัยบางส่วนเผยว่า ส้มโออาจช่วยป้องกันตับจากสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ได้

มีงานวิจัยหนึ่งได้ทดลองฉีดสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ในหนูทดลอง จากนั้นให้หนูบริโภคผงสกัดจากเปลือกส้มโอ พบว่าผงสกัดดังกล่าวอาจช่วยลดภาวะเซลล์ตับอักเสบ ลดปริมาณการสะสมธาตุเหล็กที่ทำให้ตับเสื่อม และช่วยป้องกันตับของหนูทดลองจากสารพิษได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งให้สัตว์ทดลอง 2 กลุ่มแรกบริโภคอาหารต่างกันพร้อมกับสารสกัดจากส้มโอ และให้อีก 2 กลุ่มบริโภคอาหารที่ปราศจากสารสกัดดังกล่าว ผลการทดลองพบว่า การบริโภคอาหารร่วมกับสารสกัดจากใบของส้มโออาจช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในตับลงได้ นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบสารประกอบกลุ่มฟีนอลในส้มโอที่อาจมีฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษ ลดไขมันในเลือด ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าส้มโอสามารถป้องกันตับของมนุษย์จากสารพิษต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ และมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ควรมีการศึกษาทดลองในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันสมมติฐานด้านนี้ให้ชัดเจนก่อนนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต

2. ต้านเชื้อจุลชีพ

เชื้อจุลชีพอย่างปรสิต เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส อาจทำให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วยต่าง ๆ ขึ้นได้ เช่น อาหารเป็นพิษ ไข้หวัด หรืออีสุกอีใส เป็นต้น ทำให้ต้องรักษาด้วยยาต้านเชื้อจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะตามกรณี แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยบางส่วนศึกษาพบว่า น้ำมันสกัดหรือน้ำมันหอมระเหยจากส้มโออาจเป็นสารจากธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ช่วยต้านเชื้อจุลชีพได้

มีงานวิจัยหนึ่งเผยว่า น้ำมันสกัดจากส้มโออาจช่วยต้านc (E. Coli) หรือเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่มักปนเปื้อนในอาหารจนทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยที่ทดลองใช้น้ำมันหอมระเหยสกัดเย็นจากส้มโอและเกรปฟรุต โดยพบว่าน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพได้เช่นกัน ทั้งยังช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อย่างปลอดภัย และอาจนำมาประยุกต์เป็นตัวช่วยในการจัดเก็บอาหารได้

แม้ส้มโออาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพได้ แต่ผลการศึกษาบางส่วนก็เป็นการทดลองร่วมกับสารจากผลไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วย จึงไม่สามารถสรุปประสิทธิผลของส้มโอในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน และควรมีค้นคว้าทดลองเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์คุณสมบัติของส้มโอในด้านนี้ให้แน่ชัดต่อไป

3. รักษาโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้มีน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก ซึ่งการมีระดับนํ้าตาลในเลือดสูงก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) หรือปฏิกิริยาของสารที่เร่งให้เกิดการชราเร็วขึ้น และเกิดสาร AGEs (Advanced Glycation End-Products) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างภาวะความดันโลหิตสูงได้ ทั้งนี้ มีงานวิจัยบางส่วนศึกษาประสิทธิผลของส้มโอในด้านนี้แล้วพบว่า สารสกัดจากส้มโออาจมีฤทธิ์ต้านการเกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่น และช่วยป้องกันการเกิดสาร AGEs ได้

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งเผยว่า สารประกอบกลุ่มฟีนอลที่สกัดได้จากเปลือกส้มโอมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์อัลฟาอะไมเลส (α-amylase) และอัลฟากลูโคซิเดส (α-glucosidase) รวมถึงยับยั้งการเกิดสาร AGEs และมีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร ซึ่งอาจมีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นอย่างมาก โดยผลลัพธ์ดังกล่าวอาจถูกนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดจากอาหารที่มีคุณประโยชน์ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น ดังนั้น การยืนยันสมมติฐานในด้านนี้อาจต้องค้นคว้าศึกษาเรื่องสารประกอบกลุ่มฟีนอลกับการเกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่นให้ชัดเจนมากขึ้น โดยทดลองวิจัยในมนุษย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคเบาหวานในอนาคต

4. ลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 58,681 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่โรคหัวใจและหลอดเลือดก็อาจป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างผักและผลไม้ ซึ่งส้มโออาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

มีงานวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนสรรพคุณในด้านนี้ โดยมีงานค้นคว้าบางส่วนพบว่า สารประกอบไนโตรเจนในน้ำมันสกัดจากส้มโออาจช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับได้ด้วย เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยที่ทดลองในสัตว์แล้วพบว่า ส้มโออาจเป็นประโยชน์ต่อเซลล์บุผิวหลอดเลือด และลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้โดยช่วยในการเจริญเติบโตและชะลอความเสื่อมของเซลล์เยื่อบุผนังเส้นเลือด

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งได้ทดลองฉีดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อเซลล์หัวใจในหนูทดลอง เพื่อทดสอบปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับน้ำส้มโอ พบว่าส้มโออาจมีฤทธิ์ในการต้านพิษที่เป็นอันตรายต่อเซลล์โดยเฉพาะที่หัวใจ รวมถึงช่วยต้านอนุมูลอิสระและภาวะเครียดออกซิเดชั่นในหลากหลายรูปแบบ จนอาจนำไปใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อบำบัดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน

แม้งานวิจัยข้างต้นอาจมีผลลัพธ์ในแง่ดี แต่อาจต้องศึกษาวิจัยต่อไปเกี่ยวกับการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยส้มโอ เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อควรระวังในการบริโภคส้มโอ

แม้ส้มโอมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน และไม่ก่อให้เกิดอันตรายสำหรับคนทั่วไปเมื่อบริโภคในรูปแบบอาหาร แต่ส้มโอเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับเกรปฟรุต จึงอาจเกิดปฏิกิริยาขึ้นได้เมื่อใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด และยาแก้แพ้บางชนิด เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลหรือการทดลองใดยืนยันถึงผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาของส้มโอกับยาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน อีกทั้งส้มโอบางชนิดยังมีค่าดัชนีน้ำตาลค่อนข้างสูง เสี่ยงทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการรับประทานส้มโอเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อต้องรับประทานยา

โดยข้อควรระวังในการบริโภคส้มโอ มีดังนี้

  • รับประทานส้มโอในปริมาณเหมาะสม หรือรับประทานส้มโอสลับกับผลไม้ชนิดอื่นที่หวานน้อย เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานส้มโอในช่วงที่ใช้ยา หรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเกี่ยวกับปฏิกิริยาของยาที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อรับประทานส้มโอ
  • ปรึกษาแพทย์ถึงการปรับปริมาณยาที่ใช้อยู่ให้เหมาะสมมากขึ้น หรืออาจเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่ใกล้เคียงกันแต่ไม่ทำให้เกิดอันตรกิริยากับส้มโอ
  • หากบังเอิญรับประทานส้มโอพร้อมกับยาที่อาจเกิดปฏิกิริยาขึ้นได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควรไปพบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อสังเกตอาการหรือรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป