อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)

ความหมาย อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)

อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อน ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือปวดท้อง ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้

อาหารเป็นพิษเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนอย่างเมืองไทยที่เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เราจึงควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะนี้

อาหารเป็นพิษ  rs

อาการของอาหารเป็นพิษ

ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1–2 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของเชื้อที่ร่างกายได้รับเข้าไป โดยอาจมีอาการหลังรับประทานอาหารไม่กี่ชั่วโมง หรือนานเป็นสัปดาห์หากได้รับเชื้อรุนแรง โดยอาการป่วยของผู้ที่มีภาวะอาหารเป็นพิษ มีดังนี้

  • รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้
  • ถ่ายท้อง ถ่ายมีมูกหรือเลือดปน
  • ไม่อยากอาหาร
  • มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวแรง ปากแห้ง ตาโบ๋ กระหายน้ำบ่อย และปัสสาวะน้อย
  • มีอาการทางระบบประสาท เช่น มองเห็นไม่ชัด แขนเป็นเหน็บ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้

  • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำอย่างมาก ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย ปัสสาวะมีสีเข้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ และหน้ามืด ส่วนเด็กและทารกอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตาโบ๋ ขม่อมยุบ มีน้ำตาไหลออกมาน้อยหรือไม่มีน้ำตาขณะร้องไห้
  • ท้องเสียติดต่อกัน 3 วันในผู้ใหญ่ หรือท้องเสียติดต่อกัน 24 ชั่วโมงในเด็ก โดยที่อาการไม่ดีขึ้น
  • อาเจียนถี่หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่องนานกว่า 12 ชั่วโมง
  • มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ
  • ตามัวหรือมองเห็นไม่ชัด
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยอาการปวดไม่ลดลงหลังจากอุจจาระไปแล้ว
  • ท้องเสียร่วมกับมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแออย่างผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคไต ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบว่ามีอาการบ่งชี้ของภาวะอาหารเป็นพิษ 

สาเหตุของอาหารเป็นพิษ

ส่วนใหญ่ภาวะอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต ซึ่งเชื้อที่มักเป็นสาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ คือ  

  • ซาลโมเนลลา (Salmonella) พบมากในเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เชื้อนี้ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายมีมูก คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ภายในเวลา 4–7 วัน  
  • เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) หรืออีโคไล (E. Coli) บางสายพันธ์ุ เช่น สายพันธุ์ Enteropathogenic E. Coli สายพันธุ์ Enterotoxic E.Coli (ETEC) และสายพันธุ์ Shiga toxin-producing E. Coli โดยพบมากในเนื้อสัตว์ดิบ ซึ่งทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดมวนท้อง และอาเจียนภายในเวลา 1–10 วัน
  • คลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย จึงมักพบในอาหารที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท โดยเฉพาะอาหารกระป๋องที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น หน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง และเนื้อสัตว์แปรรูป มักทำให้ผู้ป่วยอาเจียน ถ่ายท้อง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง และบางครั้งอาจรุนแรงจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้
  • ชิเกลล่า (Shigella) พบการปนเปื้อนทั้งในผลิตภัณฑ์อาหารสด น้ำดื่มที่ไม่สะอาด รวมถึงอาหารสดที่สัมผัสกับคนที่มีเชื้อโดยตรง เพราะเชื้อชนิดนี้สามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดมวนท้องหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อภายใน 7 วัน
  • ไวรัสที่ก่อโรคในทางเดินอาหาร (Enteric Viruses) ประกอบด้วยไวรัสหลายชนิด เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) ที่มักปนเปื้อนได้ทั้งในอาหารสด สัตว์น้ำที่มีเปลือก และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยจะแสดงอาการภายใน 1–2 วัน หรือเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A) ที่สามารถติดต่อด้วยการได้รับเชื้อจากอาหารสดที่สัมผัสกับบุคคลที่มีเชื้อโดยตรง ภายใน 2–3 สัปดาห์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาวะอาหารเป็นพิษในผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดจากสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อโรค พืชที่มีพิษ หรือสารเคมี เช่น สารตะกั่ว ยาฆ่าแมลง เห็ดพิษ สารหนู หรือสารปรอท เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการอาหารเป็นพิษ

แพทย์จะวินิจฉัยโดยพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งอาการของผู้ป่วย อาหารที่รับประทาน ระยะเวลาที่มีอาการ ประวัติของผู้ป่วย และการตรวจร่างกายอย่างละเอียด หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง แพทย์จะตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้

การตรวจเลือดหรือตรวจปริมาณแอนติบอดี้ในเลือด 

ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากกว่าอาเจียนและท้องเสีย หรือมีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เพื่อตรวจหาปริมาณเกลือแร่ในเลือดและตรวจการทำงานของไต หรือใช้ในกรณีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ อาจตรวจการทำงานของตับเพิ่มเติมด้วย

การตรวจอุจจาระ

จะใช้เมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อปรสิต เพื่อตรวจหาชนิดของเชื้อโรคด้วยกล้องจุลทรรศน์ 

การรักษาอาหารเป็นพิษ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเองที่บ้าน โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ โดยดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ หรือจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากอาการท้องร่วงและอาเจียน

นอกจากนี้ ให้ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียหรือ ORS ซึ่งเป็นสารที่มีเกลือและน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก ใช้เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและถ่ายอุจจาระ 

โดยให้จิบทีละน้อยตลอดทั้งวันควบคู่กับการรับประทานอาหารตามปกติ และสามารถดื่มได้จนกว่าจะหยุดอาเจียนหรือกลับมาถ่ายอุจจาระแบบเป็นก้อนแล้ว และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย เพราะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า ORS ซึ่งอาจทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้น 

สำหรับอาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารอ่อนที่ย่อยง่ายและมีไขมันน้อยเมื่ออาการดีขึ้น เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม โดยเริ่มรับประทานในปริมาณน้อย ๆ ก่อน หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน น้ำอัดลม อาหารไขมันสูง และอาหารรสจัดด้วย  

ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาที่ทำให้หยุดถ่ายอุจจาระมารับประทานเอง หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา โดยแพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเมื่อมีภาวะเสียน้ำและเกลือแร่ และอาจให้ยาปฏิชีวนะ ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ตามสาเหตุต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของอาหารเป็นพิษ

ภาวะอาหารเป็นพิษอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายท้องและการอาเจียน หรืออาจทำให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ เชื้อโรคบางชนิดยังก่อให้เกิดอาการรุนแรงต่ออวัยวะอื่น ๆ เช่น เชื้ออีโคไลชนิดรุนแรง (Shiga Toxin-Producing E. Coli) ที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และไตวาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันอาหารเป็นพิษ

อาหารที่เรารับประทานอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การเตรียมอาหาร การปรุงอาหาร การจำหน่าย ตลอดจนการบริโภค ดังนั้น การรักษาความสะอาดจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลจากอาหารเป็นพิษ หลักปฏิบัติที่ช่วยป้องกันอาหารเป็นพิษ มีดังนี้

ดูแลอนามัยส่วนบุคคล
ล้างมือก่อนและหลังรับประทานให้เป็นนิสัย และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งสกปรกและเชื้อโรคจากแหล่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น จับราวบันได กดปุ่มลิฟต์ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เป็นต้น

บริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ หรือผ่านความร้อน เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารก่อนรับประทาน หากรับประทานอาหารไม่หมด ควรเก็บอาหารเข้าตู้เย็น ไม่วางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ เมื่อต้องการรับประทานอีกครั้งจึงนำมาอุ่นให้ร้อนก่อน 

หากรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรเลือกร้านอาหารที่สะอาด คนปรุงอาหารแต่งตัวเหมาะสม สถานที่ขายถูกสุขลักษณะ และอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อตรวจสอบวันหมดอายุก่อนรับประทานเสมอ

จัดเก็บและเตรียมอาหารอย่างปลอดภัย
ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่เตรียมอาหาร ปรุงอาหารหรือเก็บอาหารให้ถูกสุขอนามัย เช่น แยกเก็บเนื้อสดออกจากอาหารชนิดอื่น ๆ เพราะเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่อยู่ในอาหารจำพวกนี้ รวมทั้งล้างผักและผลไม้ให้สะอาด เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก ยาฆ่าแมลง สารเคมี หรือสารตกค้างต่าง ๆ ก่อนนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร 

ควรเก็บรักษาอาหารประเภทที่บูดเสียง่ายให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และมีความเย็นทั่วถึง เช่น แกงกะทิ อาหารทะเล อาหารสด ในกรณีที่เดินทางไกล อาจใส่อาหารในกล่องโฟมที่มีน้ำแข็ง และอาจใช้กระเป๋าเก็บความเย็นหรือใช้เจลเก็บความเย็น เพื่อป้องกันอาหารเน่าเสียจากสภาพอากาศร้อน