สิวซีสต์ สิวอักเสบรุนแรงที่ควรได้รับการรักษา

สิวซีสต์ (Cystic Acne) เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงที่สุด มีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนนูนแดงขนาดใหญ่ มักขึ้นที่บริเวณใบหน้า แต่อาจพบได้ที่บริเวณอื่น เช่น หน้าอก และแผ่นหลัง โดยเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนบวกกับการมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในรูขุมขนทำให้เกิดการอักเสบ จึงมักทำให้รู้สึกเจ็บปวด และทิ้งรอยสิวที่รักษาได้ยากหากรักษาไม่ถูกวิธี

สิวซีสต์เกิดขึ้นที่ผิวหนังชั้นลึกและเกิดการอักเสบรุนแรง จึงมักรักษาไม่หายด้วยการใช้ยาแต้มสิวที่หาซื้อได้เอง หากเป็นสิวซีสต์ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะและยาทาผิวตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งจะช่วยให้สิวหายเร็ว ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และการทิ้งรอยสิว

สิวซีสต์ สิวอักเสบรุนแรงที่ควรได้รับการรักษา

ลักษณะของสิวซีสต์

สิวซีสต์มีลักษณะเป็นก้อนนูน บวมแดง มีขนาดใหญ่ และรักษาได้ยาก หลายคนอาจมีสิวชนิดนี้เรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนไปจนถึงหลายปี ซึ่งลักษณะเด่นของสิวซีสต์ มีดังนี้

  • เป็นตุ่มหรือก้อนนูนแดงขนาดใหญ่ ภายในมีหนอง และอาจมองเห็นหัวหนองสีขาวเหลืองอยู่ตรงกลางตุ่มสิว
  • เมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บ และบางคนอาจมีอาการคันบริเวณตุ่มสิว
  • พบบ่อยบริเวณใบหน้า ซึ่งมีต่อมผลิตไขมันอยู่มาก แต่อาจขึ้นที่บริเวณอื่น เช่น หน้าอก ลำคอ แผ่นหลัง แขน และก้นได้เช่นกัน
  • อาจทิ้งรอยแดงหรือดำเมื่อสิวยุบลงแล้ว เนื่องจากเนื้อเยื่อและผิวบริเวณนั้นถูกทำลายจากสิว
  • หากสิวซีสต์แตกออก จะทำให้หนองไหล และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามได้ง่าย

สิวซีสต์มีลักษณะคล้ายสิวหัวช้าง (Nodular Acne) แต่สิวหัวช้างจะเป็นตุ่มแข็งกว่า เพราะไม่มีหนองภายในตุ่มสิวเหมือนสิวซีสต์ บางคนอาจมีสิวทั้งสองชนิดอยู่บนใบหน้าได้พร้อมกัน

สาเหตุของการเกิดสิวซีสต์

สิวทุกประเภทเกิดจากการที่รูขุมขนอุดตัน เนื่องจากมีไขมันส่วนเกิน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และสิ่งสกปรก เช่น เครื่องสำอางที่ตกค้างบนผิว เมื่อแบคที่เรียเข้าไปจับกับน้ำมันและสิ่งสกปรกที่อุดตันอยู้ในรูขุมขนจะทำให้เกิดเป็นสิวอักเสบที่เรียกว่าสิวซีสต์ที่ผิวชั้นหนังแท้ (Dermis) ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มบวมแดงและเจ็บนั่นเอง

ปัจจัยอื่นที่อาจกระตุ้นให้เกิดสิวซีสต์ เช่น

  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นสิวซีสต์ จะมีโอกาสที่จะเกิดสิวซีสต์ได้มากขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น วัยรุ่นที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงที่มีประจำเดือน ตั้งครรภ์ และเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มักมีโอกาสเกิดสิวซีสต์ได้มากกว่าคนอื่น ๆ 
  • ความเครียด เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิวออกมามากขึ้น
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) ซึ่งมีระดับฮฮร์โมนไม่สมดุล ทำให้เกิดสิวและมีประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • การใช้ยาบางชนิด และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ทำให้เกิดสิว
  • การล้างหน้าและสระผมไม่สะอาด ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวจากน้ำมันและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่
  • อากาศร้อน และการสวมเสื้อผ้าที่รัดรูปจนทำให้เกิดการเสียดสีของผิวหนัง
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก และอาหารรสเผ็ดจัด

รู้จักวิธีรักษาสิวซีสต์ให้เหมาะสม

การรักษาสิวซีสต์ให้หายเร็วและไม่ทิ้งรอยดำกวนใจนั้น ควรดูแลความสะอาดของผิวหน้าและเส้นผม ปรับพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดสิว ควบคู่กับการรักษาโดยแพทย์ ดังนี้

1. การดูแลตัวเอง

ผู้ที่เป็นสิวซีสต์ควรดูแลผิวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดการเกิดสิว เช่น

ล้างหน้าให้สะอาด
ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน ไม่นอนหลับทั้งที่ยังมีเครื่องสำอางอยู่บนใบหน้า และล้างหน้าหลังออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก โดยใช้โฟมล้างหน้าที่อ่อนโยนและไม่มีสารที่ทำให้ผิวอุดตัน ขณะที่เป็นสิวซีสต์ควรงดการขัดหน้าหรือใช้สารผลัดเซลล์ผิว ซึ่งอาจทำให้ผิวระคายเคืองและอักเสบมากขึ้น

นอกจากนี้ ควรสระผมให้สะอาดทุกวัน ควรรวบผมหรือใช้กิ๊บติดผมที่ปรกหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันจากเส้นผมโดนใบหน้าและทำให้เกิดสิว รวมทั้งเลือกครีมทาผิวและเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันและสารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน 

ป้องกันการเกิดรอยสิว
รอยแดงและรอยดำจากสิวสามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า ไม่แกะหรือบีบสิว เพราะจะทำให้สิวอักเสบมากขึ้นและเกิดรอยสิว อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายได้ 

ก่อนออกจากบ้านควรทาครีมกันแดดทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยารักษาสิวบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ผิวไวต่อแสง ไหม้แดด และเกิดรอยดำจากการสัมผัสแสงแดด

ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว และขนมหวานต่าง ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดสิว รวมทั้งทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น ฟังเพลงและอ่านหนังสือที่ชอบ ซึ่งอาจช่วยลดการเกิดสิวได้

2. การรักษาโดยแพทย์

สิวซีสต์มักมีอาการรุนแรงและรักษาไม่หายด้วยการใช้ยาแต้มสิวที่หาซื้อได้เอง จึงควรได้รับการรักษาจากแพทย์ควบคู่กันไป ซึ่งแพทย์จะจ่ายยารักษาสิวที่ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้น เช่น

ยากลุ่มวิตามินเอ
เรตินอยด์ (Retinoids) ซึ่งเป็นยากลุ่มวิตามินเอที่ใช้ในทาผิว เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) และเตรทติโนอิน (Tretinoin) มีคุณสมบัติช่วยขจัดสิ่งสกปรกที่ตกค้างในรูขุมขนและช่วยผลัดเซลล์ผิว จึงช่วยลดการเกิดสิว หากเป็นสิวซีสต์รุนแรง แพทย์อาจให้รับประทานยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) ซึ่งเป็นยากลุ่มวิตามินเอที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาสิวซีสต์ 

อย่างไรก็ตาม การใช้ยากลุ่มวิตามินเอควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแห้ง ลอก และไวต่อแสง นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรใช้ยากลุ่มวิตามินเอ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อทารกได้

ยาปฏิชีวนะ
แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบที่อาจทำให้เกิดสิวซีสต์ โดยมีทั้งชนิดยาทา ซึ่งอาจอยู่ในรูปครีมหรือเจล และยารับประทาน สำหรับผู้มีสิวซีสต์เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งยาชนิดรับประทานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และผิวไวต่อแสง

ทั้งนี้ แพทย์มักให้ใช้ยาปฏิชีวนะในระยะสั้น เพราะการใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เชื้อดื้อยา หากใช้แล้วไม่ได้ผลอาจสั่งจ่ายยาไอโซเตรทติโนอินให้แทน

ยาฮอร์โมน
ยาที่ช่วยลดระดับฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดสิวซีสต์จะใช้เฉพาะผู้หญิง ซึ่งมี 2 ชนิด คือ

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนที่แปรปรวนในช่วงรอบเดือน และอาจช่วยลดสิวได้
  • ยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ซึ่งช่วยปรับระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ส่วนเกินที่อาจก่อให้เกิดสิวอักเสบ ซึ่งจะเห็นผลดีในผู้หญิงที่มีสิวบริเวณกรามหรือคาง

ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ ผู้ที่สูบบุหรี่ มีโรคไต และมีลิ่มเลือดอุดตัน ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้ 

ยาอื่น ๆ
แพทย์อาจให้ยาทาอื่น ๆ ที่ช่วยรักษาสิวซีสต์ เช่น เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ที่ช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ที่ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุของสิวซีสต์

นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาสิวซีสต์ด้วยการกรีดเปิดหัวสิวและดูดหนองที่อยู่ภายในสิวซีสต์ออก และการฉีดสารสเตียรอยด์ ซึ่งช่วยลดการอักเสบและทำให้สิวยุบลง

สิวซีสต์เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงที่อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและส่งผลต่อความมั่นใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากเป็นสิวซีสต์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลผิวและใช้ยารักษาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย การได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สิวหายเร็วโดยไม่ทิ้งรอยสิว