สิวขึ้นคาง และวิธีจัดการให้อยู่หมัด

สิวขึ้นคางเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย ซึ่งสิวที่ขึ้นบริเวณคางมีหลายประเภท ทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น การล้างหน้าไม่สะอาด การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีน้ำมัน การจับคางบ่อย ๆ หรือคุยโทรศัพท์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดสิวในบริเวณคางได้

การดูแลรักษาสิวขึ้นคางจะขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของสิว หากอาการไม่รุนแรงมาก สามารถรักษาได้ด้วยการดูแลความสะอาดของผิวหน้า ควบคู่กับการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่หาซื้อได้เอง แต่กรณีที่สิวขึ้นคางเรื้อรังหรือรุนแรง การไปพบแพทย์จะช่วยให้การรักษาสิวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สิวขึ้นคาง

ประเภทของสิวขึ้นคาง

สิวที่ขึ้นบนใบหน้าและตามร่างกายเกิดจากการมีเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า และสิ่งสกปรกอื่น ๆ เช่น ฝุ่นละอองและเครื่องสำอาง อุดตันในรูขุมขน หากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวที่ผิวหนังเติบโตมากผิดปกติ จะทำให้สิวเกิดการอักเสบตามมา สิวขึ้นคางมีหลายประเภท เช่น

  • สิวอุดตัน เป็นสิวขนาดเล็ก เกิดจากการอุดตันใต้ผิวหนัง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือสิวหัวขาว ซึ่งเป็นสิวอุดตันหัวปิด และสิวหัวดำ หรือสิวอุดตันหัวเปิด
  • สิวตุ่มแดง (Papules) เป็นตุ่มเล็กๆ สีแดง กดแล้วรู้สึกแข็งและเจ็บ จัดเป็นสิวอักเสบระยะเริ่มต้น
  • สิวตุ่มหนอง (Pustules) พัฒนามาจากสิวตุ่มแดง มองเห็นหัวสิวเป็นหนองสีขาวออกเหลือง
  • สิวหัวช้าง (Nodules) และสิวซีสต์ จัดเป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง มีขนาดใหญ่และอยู่ที่ผิวหนังชั้นลึก มักทำให้รู้สึกเจ็บ และมีโอกาสทิ้งรอยสิวได้มากกว่าสิวชนิดอื่น

สาเหตุที่ทำให้สิวขึ้นคาง

สิวขึ้นคางเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

ระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิวขึ้นคาง โดยระดับฮอร์โมนอาจเปลี่ยนแปลงในช่วงต่าง ๆ เช่น วัยรุ่น ช่วงที่มีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ การเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน

นอกจากนี้ ระดับฮอร์โมนอาจเปลี่ยนแปลงในผู้ที่อยู่ในช่วงเริ่มใช้หรือเปลี่ยนยาคุมกำเนิด และผู้ที่มีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS)

การจับคางบ่อย ๆ

คนที่ชอบจับใบหน้าบ่อย ๆ โดยเฉพาะบริเวณคาง หรือมีนิสัยชอบเท้าคาง อาจมีโอกาสที่สิวขึ้นคางได้ง่าย เพราะการใช้มือที่สกปรกจับคาง อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปสู่ผิวหนัง และก่อให้เกิดสิวที่คางได้

การเสียดสีบริเวณคาง

การเสียดสีบริเวณคาง เช่น การคุยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้โทรศัพท์แนบบริเวณข้างแก้มหรือคาง การใส่หน้ากากอนามัย และหมวกกันน็อกที่มีสายรัดคาง รวมไปถึงการสครับผิวหน้าแรงเกินไป ก็อาจทำให้เกิดสิวขึ้นคางได้เช่นกัน

การทำความสะอาดผิวที่ไม่เหมาะสม

การแต่งหน้าหนัก และล้างเครื่องสำอางออกไม่สะอาด หรือนอนทั้งที่ยังไม่ล้างหน้า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิวบนใบหน้า เพราะจะทำให้สิ่งสกปรกและเครื่องสำอางอุดตันในรูขุมขน และเกิดสิวขึ้นคางหรือส่วนอื่น ๆ ของใบหน้า

รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและเส้นผมที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนได้ง่าย

การโกนหนวดและเครา

การโกนหนวดและเคราอาจทำให้ผิวบริเวณคางเกิดการระคายเคือง และกระตุ้นให้เกิดสิวขึ้นคางตามมา หรือบางคนอาจมีสิวขึ้นคางจากการใช้ครีมโกนหนวด

พฤติกรรมการกิน

การกินอาหารบางชนิดมีส่วนกระตุ้นให้เกิดสิวได้ เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งอาจกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย และส่งผลต่อระดับฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิวได้ง่าย

ดูแลผิวด้วยตัวเองเมื่อสิวขึ้นคาง

ผู้ที่มีสิวขึ้นคางควรดูแลผิวหน้าด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน โดยใช้โฟมล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีสารที่ทำให้ผิวระคายเคือง และหลีกเลี่ยงการขัดถูผิวหน้าแรง ๆ เพราะจะทำให้อาการสิวขึ้นคางรุนแรงขึ้น
  • ใช้ครีมบำรุงผิวที่ไม่มีน้ำมัน และไม่มีส่วนผสมที่ทำให้เกิดรูขุมขนอุดตัน (Non-Comedogenic)
  • หลีกเลี่ยงการจับใบหน้า โดยเฉพาะช่วงคาง และไม่ควรแกะ บีบ หรือพยายามกดสิวด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้ผิวเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้
  • ผู้ที่ผมมันง่าย อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน ทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือออกกำลังกาย ควรสระผมทุกวัน
  • ใช้ยาแต้มสิวที่หาซื้อได้เอง โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เรตินอล (Retinol) และกรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid)
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปที่สามารถกันน้ำและเหงื่อได้ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง
  • ลดปริมาณการกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง และผลิตภัณฑ์นม

หากอาการสิวขึ้นคางยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังจากดูแลผิวหน้าด้วยวิธีข้างต้น มีอาการคัน เจ็บปวด แสบร้อน และมีผื่นขึ้น ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม แพทย์อาจสั่งจ่ายยารักษาสิวอื่น ๆ เช่น เรตินอยด์ (Retinoids) ยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด รวมทั้งรักษาด้วยหัตถการ เช่น กดสิว เลเซอร์ผิวหนัง และการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peels)