สัญญาณเตือนโรคลมหลับ และวิธีดูแลตนเอง

โรคลมหลับเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังของระบบประสาทที่เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมวงจรการนอนหลับของผู้ป่วย และอาการของโรคมักส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน หรือการทำงาน อีกทั้งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอันตรายเมื่อผู้ป่วยทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือขับรถยนต์

โรคลมหลับสามารถส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย การทำงานของสมอง พัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้ การทำกิจกรรม ความสัมพันธ์ทางสังคมและด้านอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ การทราบถึงอาการของโรคลมหลับเบื้องต้นอาจช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และรับมือกับโรคได้อย่างเหมาะสม 

สัญญาณเตือนโรคลมหลับ และวิธีดูแลตนเอง

สัญญาณของโรคลมหลับที่ไม่ควรละเลย

ผู้ที่ป่วยด้วยโรคลมหลับอาจมีอาการที่เห็นได้ชัดทั้งในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน ดังนี้

  • รู้สึกง่วงนอนในตอนกลางวันมาก โดยอาจหลับทั้ง ๆ ที่กำลังทำงานอยู่หรือพูดคุยอยู่โดยไม่รู้ตัว และแม้ว่าหลังการนอนพักเป็นเวลาสั้น ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้น แต่อาการอาจเกิดขึ้นซ้ำในระหว่างวันได้อีก 
  • มีภาวะผล็อยหลับ (Cataplexy) เพราะกล้ามเนื้อของผู้ป่วยจะสูญเสียการควบคุมเป็นเวลาสั้น ๆ ทำให้มีอาการคอตก ลิ้นแข็ง อ้าปากค้าง แขนขาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงทันทีทันใด มองเห็นภาพซ้อน โฟกัสได้ลำบาก โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมได้ และอาจถูกกระตุ้นจากการหัวเราะ ความตื่นเต้น ความโกรธ ความกลัว และอารมณ์ที่ตึงเครียดมากเกินไป
  • มีปัญหาการนอนหลับในช่วงกลางคืน เนื่องจากผู้ป่วยโรคลมหลับมักตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง ฝันร้าย นอนละเมอ ร้อนวูบวาบระหว่างนอนหลับ หรืออาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย
  • รู้สึกคล้ายถูกผีอำ (Sleep Paralysis) ผู้ป่วยอาจไม่สามารถขยับตัวหรือพูดได้ชั่วคราวในขณะนอนหลับ และอาจมีภาวะลูกตากรอกตัวอย่างรวดเร็วร่วมด้วย ซึ่งมักเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้ป่วยครึ่งหลับครึ่งตื่น 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลมหลับอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ซึมเศร้า มีปัญหาด้านการจดจำ ประสาทหลอนร่วมด้วยโดยจะได้ยินเสียงหรือเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงขณะกำลังจะหลับหรือเพิ่งตื่น หากสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการของโรคลมหลับ หรือรู้สึกง่วงระหว่างวันมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

เมื่อป่วยด้วยโรคลมหลับ ดูแลตัวเองอย่างไร

ผู้ป่วยโรคลมหลับอาจบรรเทาอาการง่วงในระหว่างวันที่มากเกินไปและเพิ่มคุณภาพของการนอนที่ดีในช่วงเวลากลางคืนได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

จัดเวลาในการงีบ

หากมีอาการง่วงในช่วงกลางวัน ผู้ป่วยอาจจัดเวลาให้ตนเองได้งีบหลับเป็นเวลาสั้น ๆ เมื่อรู้สึกง่วงมาก โดยควรงีบหลับในพื้นที่ที่เงียบและจำกัดเวลาการงีบประมาณ 15–20 นาที เพื่อป้องกันการหลับลึกจนเกินไปและไม่ทำให้หลับยากมากขึ้นในช่วงกลางคืน หรืออาจเพิ่มเวลาการนอนในตอนเช้าก่อนตื่นนอนให้มากขึ้น

รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม

ผู้ป่วยโรคลมหลับมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคอ้วน จึงควรใส่ใจการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และช่วยให้ร่างกายไม่ง่วง เช่น อาหารที่มีโปรตีนสูง ปลาแซลมอนหรืออาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ผักใบเขียว เป็นต้น 

นอกจากนี้ ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่เหมาะสมและไม่ควรดื่มในช่วงบ่าย จำกัดปริมาณการบริโภคคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำปริมาณมาก และหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดหรือการกินอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอนด้วยเช่นกัน

เคลื่อนไหวร่างกายระหว่างวัน

การเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงได้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยควรลุกเดินในระยะทางสั้น ๆ ทุก 20 นาที รับวิตามินดีจากแสงแดดในระหว่างวัน ออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ไม่หักโหมจนเกินไป เช่น การรำไทชิ การออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง (Weight Training) การเดินเร็ว หรือการทำสวน เป็นต้น 

ระมัดระวังในการใช้ยา

โดยทั่วไปแพทย์มักรักษาโรคลมหลับด้วยการใช้ยาเป็นหลัก ผู้ป่วยจึงควรระมัดระวังการใช้ยาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะยารักษาโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล ยากันชัก หรือยาแก้แพ้บางชนิด เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงระหว่างวันได้มากกว่าเดิม 

อีกทั้งยากระตุ้นระบบประสาทบางชนิดที่ใช้รักษาโรคลมหลับ อาจเกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหากใช้ร่วมกับการดื่มกาแฟในระหว่างวัน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการวิตกกังวล กระวนกระวาย และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาใด ๆ เพื่อความปลอดภัย

ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ

ผู้ป่วยโรคลมหลับอาจได้รับอันตรายในระหว่างการใช้เครื่องจักร ขับรถ หรือการทำกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่าง ๆ จึงควรงีบหลับเป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนทำกิจกรรมดังกล่าว หลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรและการขับรถระยะไกล และควรสังเกตถึงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการผล็อยหลับให้ระหว่างวันอยู่เสมอ

จัดรูปแบบการนอนในตอนกลางคืน

ก่อนการนอนหลับในตอนกลางคืน ผู้ป่วยอาจสร้างความผ่อนคลายให้แก่ร่างกายก่อนนอน ปรับอุณหภูมิภายในห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอนหลับ จัดห้องให้เงียบและมืด อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น ทำสมาธิ ฟังเพลงหรือออกกำลังกายเบา ๆ ก่อนนอน เข้านอนในเวลาใกล้เคียงกับของทุกวัน 

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือุปกรณ์สื่อสารอย่างสมาร์ทโฟนก่อนนอนประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากแสงจากอุปกรณ์อาจกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงบ่ายถึงค่ำ

เลิกสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่สามารถส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมในระยะยาว ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคประจำตัวอื่น ๆ มากมาย จึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน หากเป็นไปได้ควรเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร นอกจากนี้ อาการของโรคที่เกิดในระหว่างการสูบบุหรี่อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตราย และการสูบบุหรี่เองอาจทำให้เกิดปัญหานอนไม่หลับในเวลากลางคืนได้

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องรักษาโรคลมหลับด้วยการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ อาทิ ยาโมดาฟินิล  (Modafinil) ยาพิโทลิแซนท์ (Pitolisant) ยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) ยาโพรทริปไทลีน (Protriptyline) ยาคลอมิพรามีน (Clomipramine) ซึ่งยาแต่ละตัวจะใช้รักษาอาการที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาอย่างเคร่งครัดภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและปลอดภัยต่อผู้ป่วย 

โรคลมหลับเป็นโรคที่สามารถบรรเทาอาการและรับมือได้ เมื่อสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการคล้ายโรคลมหลับ ง่วงมากหรือง่วงบ่อยเกินไปในระหว่างวันจนส่งผลต่อบุคลิกภาพและประสิทธิภาพในการเรียน การทำงาน หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ก็ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง