นอนมากเกินไป สัญญาณบ่งบอกความผิดปกติที่ควรรักษา

นอนมากเกินไปหรือโรคนอนเกิน (Hypersomnia) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนผิดปกติ สามารถหลับได้ตลอดเวลา ตื่นยาก และเมื่อตื่นแล้วรู้สึกว่าต้องการนอนต่ออีก แม้จะไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ประสิทธิภาพการเรียนและการทำงานลดลง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง 

การนอนมากเกินไปอาจเป็นผลจากการไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอหรืออดนอนเป็นเวลานาน ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ โรคทางจิตเวช และการใช้ยาบางชนิด สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับอาการ สาเหตุ และวิธีรักษาโรคนอนมากเกินไปก่อนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในบทความนี้

นอนมากเกินไป

อาการและสาเหตุของการนอนมากเกินไป

ผู้ที่เป็นโรคนอนมากเกินไปมักมีอาการอ่อนเพลียและง่วงนอนระหว่างวัน นอนหลับได้มากกว่าวันละ 10 ชั่วโมง ตื่นยาก แม้จะงีบหรือนอนหลับแล้ว แต่เมื่อตื่นมาก็จะรู้สึกง่วง อ่อนเพลียและหมดแรง สมาธิและความจำแย่ลง คิด พูด และทำกิจกรรมต่าง ๆ ช้าลง หงุดหงิดง่าย ความอยากอาหารลดลง และอาจมีอาการหลอนwww.pobpad.com/หลอน (Hallucination)

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนอนมากเกินไป นักวิจัยสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมองและการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยอาจแบ่งโรคนอนมากเกินไปออกเป็น 2 ชนิดคือ

นอนมากเกินไปชนิดปฐมภูมิ (Primary Hypersomnia)

การนอนมากเกินไปชนิดปฐมภูมิเกิดจากตัวโรคเอง ไม่ได้เกิดจากโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่เป็นอยู่ ได้แก่ 

  • การนอนมากเกินไปที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • โรคลมหลับ (Narcolepsy) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงผิดปกติในช่วงกลางวันและหลับได้โดยไม่รู้ตัว บางคนอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงกะทันหัน (Cataplexy) ด้วย
  • Kleine-Levin Syndrome (KLS) หรือโรคเจ้าหญิงนิทรา เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้นานกว่าคนทั่วไป บางคนอาจหลับได้นานถึง 20 ชั่วโมง แต่เป็นโรคที่พบได้น้อย

นอนมากเกินไปชนิดทุติยภูมิ (Secondary Hypersomnia)

การนอนมากเกินไปชนิดทุติยภูมิเกิดจากโรคประจำตัวของผู้ป่วย การใช้ยา หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น

  • ภาวะผิดปกติหรือโรคประจำตัว เช่น กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) โรคลมชัก (Epilepsy) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) โรคทางพันธุกรรม โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) และโรคอ้วน
  • อุบัติเหตุและการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับสมอง
  • ความเครียดและโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ และภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (SAD)
  • การใช้ยา เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคลมชัก ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาสเตียรอยด์ และยาที่มีผลต่อระดับฮฮร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด รวมทั้งสารเสพติด เช่น กัญชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานาน เช่น คนที่ทำงานเป็นกะ คนที่มีสุขอนามัยการนอน (Sleep Hygiene) ไม่ดี และที่พักอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังรบกวนการนอนหลับ ทำให้นอนไม่พอ โดยผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้วันละ 7–9 ชั่วโมง 
  • นาฬิกาชีวิตแปรปรวน เช่น เจ็ตแล็ก (Jet Lag) จากการต้องเดินทางไปต่างประเทศที่มีช่วงเวลาต่างกันมากๆ

นอนมากเกินไปรักษาได้อย่างไร

หากรู้สึกอ่อนเพลียหรือง่วงนอนตลอดเวลา มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือสงสัยว่าการนอนมากเกินไปอาจเกิดจากโรคประจำตัวหรือยาที่ใช้อยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งวิธีรักษาโรคนอนมากเกินไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น ได้แก่

การปรับพฤติกรรม

ผู้ที่มีโรคนอนมากเกินไปควรสร้างสุขอนามัยที่ดีในการนอน เช่น เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา พยายามไม่งีบหลับระหว่างวัน เพราะอาจทำให้นอนหลับตอนกลางคืนน้อยลงและง่วงนอนระหว่างวันในวันถัดไป และจัดห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอน แสงสว่างและอุณหภูมิในห้องควรเหมาะสม ไม่สว่างจ้า ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป และไม่มีเสียงดังรบกวนการนอนหลับ

ก่อนเข้านอนควรทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น อาบน้ำอุ่นและนั่งสมาธิ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ และงดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที เพราะแสงจากหน้าจอจะทำให้นอนหลับยากขึ้น

การใช้ยา

ยากลุ่มแรกที่ใช้ในการรักษาการนอนมากเกินไป เช่น ยาโมดาฟินิล (Modafinil) ยาอาร์โมดาฟินิล (Armodafinil) และยาพิโทลิแซนท์ (Pitolisant) หากใช้ยาเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจสั่งจ่ายยากระตุ้นประสาท เช่น แอมเฟตามีน (Amphetamine) และเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) ซึ่งอาจทำให้เสพติดหรือเกิดผลข้างเคียงจึงต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น

อาการนอนมากเกินไปของผู้ป่วยบางคนอาจดีขึ้นเมื่อปรับพฤติกรรมและใช้ยาที่ช่วยควบคุมอาการ แต่บางคนอาจรักษาไม่หายขาด จึงอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงของโรคนอนมากเกินไปอาจทำได้โดยการสร้างสุขอนามัยการนอนที่ดี พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาที่ทำให้ง่วงซึม หากมีอาการนอนมากผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา