ผีอำ

ความหมาย ผีอำ

ผีอำ (Sleep Paralysis) เป็นความเชื่อของผู้คนหลายเชื้อชาติที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่า อาการอึดอัดคล้ายมีบางสิ่งมากดทับร่างกายจนขยับตัวไม่ได้ขณะเคลิ้มเกือบหลับนั้น เกิดจากการกระทำของผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามหลักวิทยาศาสตร์ อาการดังกล่าวคือภาวะ Sleep Paralysis ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ จะเกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น ผู้ที่ประสบภาวะนี้จะไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือพูดได้ชั่วขณะ รวมทั้งอาจเกิดอาการเหมือนถูกกดหรือสำลักบางอย่าง มักเกิดขึ้นเมื่อนอนหงาย การปรับท่านอนจะช่วยลดอาการดังกล่าวได้

ผีอำ

ผีอำจัดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วไป โดยผู้คนจำนวน 4 ใน 10 ราย จะถูกผีอำอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ผู้ที่อดนอน เครียดมาก หรือใช้สารกระตุ้นมากเกินไป เสี่ยงประสบภาวะนี้ได้สูง ทั้งนี้ ผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนอื่น ๆ อาจประสบภาวะนี้ เช่น ผู้ป่วยโรคลมหลับ (Narcolepsy)

อาการของผีอำ

ผู้ที่ประสบภาวะผีอำจะไม่สามารถขยับตัวได้ โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงใกล้หลับ และช่วงใกล้ตื่น ซึ่งอาการของผีอำทั้ง 2 ช่วงเวลามีลักษณะที่ต่างกัน ดังนี้

  • ช่วงใกล้หลับ (Hypnagogic Sleep Paralysis / Predormital Sleep Paralysis) โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายจะเกิดการผ่อนคลายก่อนหลับ ซึ่งจะค่อย ๆ ไม่รู้สึกตัวไปเอง ส่งผลให้ไม่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังรู้สึกตัวอยู่ หรือเริ่มรู้สึกตัวเมื่อร่างกายกำลังจะหลับ จะรับรู้ได้ว่าไม่สามารถขยับตัวหรือเปล่งเสียงออกมาได้
  • ช่วงใกล้ตื่น (Hypnopompic Sleep Paralysis / Postdomital Sleep Paralysis) ร่างกายจะเปลี่ยนช่วงการนอนหลับจากช่วงหลับลึก (Non-Rapid Eye Movement: NREM) เข้าสู่ช่วงหลับตื้น (Rapid Eye Movement: REM) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 90 นาที ร่างกายจะเริ่มเข้าช่วงหลับธรรมดาก่อน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของช่วงเวลานอนหลับทั้งหมด ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและกลับเป็นปกติ จากนั้นจะเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงหลับฝัน โดยดวงตาจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและฝันถึงสิ่งต่าง ๆ ในขณะที่ร่างกายยังคงผ่อนคลาย ช่วงหลับฝันเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อในร่างกายหยุดทำงาน ผู้ที่รู้สึกตัวในขณะที่ช่วงหลับฝันยังไม่สิ้นสุดลง จะรับรู้ได้ว่าไม่สามารถขยับร่างกายหรือเปล่งเสียงพูดออกมาได้

นอกจากนี้ ผู้ที่ประสบภาวะผีอำอาจเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยจะรู้สึกสูดหายใจลำบากคล้ายแน่นหน้าอก บางรายไม่สามารถขยับดวงตาได้ปกติ เกิดภาพหลอนว่ามีบุคคลหรือบางสิ่งอยู่ด้วย รวมทั้งเกิดอาการหวาดกลัว ระยะเวลาที่เกิดภาวะนี้อาจแตกต่างกันไป โดยผู้ที่ถูกผีอำจะกลับมาขยับร่างกายและพูดได้ตามปกติหลังภาวะดังกล่าวหายไป อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสบภาวะผีอำบางรายควรพบแพทย์ในกรณีที่ถูกผีอำเป็นประจำ หวาดกลัวการนอนหลับหรือนอนหลับไม่เพียงพอ รวมทั้งเกิดอาการง่วงทั้งวัน หลับกะทันหัน หรือสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ เนื่องจากอาการเหล่านี้ต่างเกี่ยวเนื่องกับโรคลมหลับ

สาเหตุของผีอำ

ผีอำเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับผู้คนทั่วไป ซึ่งมักเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้ ยังปรากฏปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวเนื่องหรือนำไปสู่ภาวะผีอำ โดยผู้ที่มีอาการหรือลักษณะต่อไปนี้สามารถประสบภาวะผีอำได้

  • นอนไม่พอ ซึ่งเกิดจากการนอนน้อย หรือนอนไม่หลับ
  • เวลาการนอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เปลี่ยนกะทำงาน หรือประสบภาวะ Jet Lag 
  • ประสบปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง เช่น เกิดความเครียด หรือป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
  • นอนหลับในท่านอนหงาย
  • ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับนอนหลับ เช่น โรคลมหลับ หรือเกิดตะคริวที่ขาเวลาหลับตอนกลางคืน
  • ใช้ยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น
  • ใช้สารเสพติด

การวินิจฉัยผีอำ

ผู้ที่ประสบภาวะผีอำช่วงใกล้หลับหรือช่วงใกล้ตื่น ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รู้สึกวิตกกังวลกับภาวะที่เกิดขึ้น รวมทั้งภาวะดังกล่าวทำให้รู้สึกอ่อนเพลียทั้งวันและทำให้นอนไม่หลับตามปกติ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ โดยแพทย์จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขลักษณะด้านการนอนหลับของผู้ป่วย ดังนี้

  • ซักถามอาการของผู้ป่วย รวมทั้งให้ทำบันทึกการนอนประมาณ 2-3 สัปดาห์
  • พิจารณาประวัติการรักษา ซึ่งรวมไปถึงปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนหลับที่ผู้ป่วยทราบ หรือประวัติของบุคคลในครอบครัวเกี่ยวกับปัญหาการนอนหลับ
  • แนะนำผู้ป่วยให้พบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัยต่อไป
  • ทำการตรวจเกี่ยวกับการนอน โดยให้ผู้ป่วยนอนหลับหรืองีบหลับระหว่างวัน เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยไม่ได้ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนหลับอื่น ๆ

การรักษาผีอำ

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ประสบภาวะผีอำไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากภาวะดังกล่าวจะหายไปและดีขึ้นเอง อย่างไรก็ดี ผู้ที่เกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนหลับอื่น ๆ อาจต้องเข้ารับการรักษา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายวิตกกังวลและสามารถนอนหลับได้ตามปกติ วิธีรักษาดังกล่าวประกอบด้วย

  • เสริมสร้างสุขลักษณะการนอนหลับ แพทย์จะใช้วิธีที่ช่วยเสริมสร้างสุขลักษณะในการนอนของผู้ป่วย เช่น ใช้วิธีที่ช่วยสร้างนิสัยให้ผู้ป่วยนอนหลับวันละ 6-8 ชั่วโมง
  • ใช้ยารักษา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเศร้าให้ผู้ป่วย เพื่อช่วยจัดเวลาให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ตามปกติ
  • รักษาปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างส่งผลให้เกิดภาวะผีอำ ผู้ที่ประสบภาวะผีอำอันเนื่องมาจากปัจจัยดังกล่าวจึงควรเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น
  • รักษาปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนหลับ ผู้ที่ประสบภาวะผีอำบางราย อาจมีปัจจัยมาจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนหลับบางอย่าง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาให้หาย

การรักษาภาวะผีอำจะช่วยให้มีสุขลักษณะและสภาพแวดล้อมของการนอนหลับที่ดี ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในการนอนให้สบาย สงบ และร่มรื่น

การป้องกันผีอำ

ผู้ที่ประสบภาวะผีอำสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยตนเอง โดยปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันบางอย่าง เพื่อเสริมสร้างสุขลักษณะการนอนที่ดี ซึ่งทำได้ ดังนี้

  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควรตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
  • เปลี่ยนท่านอนเป็นท่าอื่นในกรณีที่มักหลับด้วยท่านอนหงาย
  • ควรพบแพทย์ในกรณีที่เกิดภาวะผีอำเป็นประจำ เพื่อช่วยให้หายจากภาวะดังกล่าวและนอนหลับได้ดีขึ้น
  • เลี่ยงการงีบหลับระหว่างวัน
  • ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที รวมทั้งเลี่ยงออกกำลังกายก่อนเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เนื่องจากการออกกำลังกายก่อนเข้านอนจะทำให้นอนหลับยาก
  • เลี่ยงดื่มชาหรือกาแฟก่อนเข้านอนประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนเข้านอนทุกครั้ง
  • ควรเข้านอนเมื่อรู้สึกเหนื่อย เนื่องจากจะทำให้หลับได้เร็วขึ้น
  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ก่อนเข้านอน เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเลี่ยงการทำกิจกรรมอื่น เช่น ดูโทรทัศน์ คุยโทรศัพท์ หรือรับประทานอาหารบนเตียงนอน
  • ควรทำตัวให้ผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อาบน้ำ ฟังดนตรีจังหวะเบา ๆ หรือดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ
  • ไม่ควรใช้ยานอนหลับบ่อยเกินไป เนื่องจากยังไม่ปรากฏผลการใช้ยาที่แน่ชัด อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ
  • หากรู้สึกระวนกระวายหรือกังวลเกี่ยวกับอาการนอนไม่หลับ ควรหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น อ่านหนังสือ หรือฟังเพลง เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายก่อนเข้านอน
  • เลี่ยงมองนาฬิกา เนื่องจากจะทำให้รู้สึกกังวลว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะหลับ
  • เขียนไล่รายการเกี่ยวกับปัญหาหรือเรื่องที่ต้องทำก่อนเข้านอน เพื่อช่วยไม่ให้รู้สึกกังวล
  • ใช้ผ้าม่านหรือมู่ลี่ที่หนาทึบ หรือสวมที่ปิดตาขณะนอนหลับ เพื่อป้องกันแสงไฟจากข้างนอกรบกวนจนทำให้นอนไม่หลับ
  • จัดห้องให้มีอากาศถ่ายเทและอุณหภูมิห้องที่เหมาะสม
  • ควรเลือกเตียงนอน หมอนหนุน และหมอนข้าง ที่ทำให้นอนหลับได้อย่างสบาย