สมุนไพรรักษากรดไหลย้อนได้จริงหรือ ?

สมุนไพรหลายชนิดเชื่อกันว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาอาการของกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาที่หลายคนให้ความสนใจ อาจเป็นเพราะคุณสมบัติต่าง ๆ ที่กล่าวอ้างว่ามีส่วนช่วยในการรักษาโรค หรือได้รับการบอกต่อและแนะนำมา แต่ข้อมูล ข้อพิสูจน์ หรือหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันความเชื่อ สรรพคุณและความปลอดภัยของสมุนไพรในการรักษาโรคเหล่านี้

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่แข็งแรงหรือคลายตัวผิดปกติ ทำให้กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร และเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบที่เยื่อบุของหลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนกลางอก อาจมีอาการขึ้นมาถึงลำคอทำให้รู้สึกได้ถึงรสเปรี้ยวในปาก เจ็บหน้าอก กลืนลำบาก ไอแห้ง เสียงแหบ เจ็บคอ รู้สึกได้ว่ามีก้อนที่ลำคอ เป็นต้น

สมุนไพรรักษากรดไหลย้อน

นอกจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ยังมีความเชื่อในการใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการรักษา บรรเทาอาการกรดไหลย้อน ซึ่งได้รับความสนใจและมีการรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ดังต่อไปนี้

ขมิ้นชัน

สมุนไพรที่หลายคนเชื่อว่ามีสารต้านการอักเสบและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย โดยมีสารเคอร์คูมิน (Curcumin) เป็นสารออกฤทธิ์ ขมิ้นชันถูกใช้เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรค และได้รับการกล่าวอ้างว่าช่วยบรรเทาอาการจากกรดไหลย้อนได้ ซึ่งในส่วนของการศึกษาก่อนการทดลองเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเคมีของสารเคอร์คูมินในทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แต่ยังไม่มีการทดสอบทางคลินิกที่ทำการทดลองในมนุษย์เพื่อยืนยันคุณสมบัติดังกล่าว

ถึงแม้ขมิ้นชันจะเป็นสมุนไพรคู่บ้านคู่ครัวมาอย่างยาวนาน แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้ด้วยเช่นกัน

  • ขมิ้นชันสามารถใช้ได้ทั้งรับประทานหรือทาที่ผิวหนังได้อย่างปลอดภัยหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ หรือท้องเสีย และเสี่ยงต่อการเป็นแผลในระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานขมิ้นชันในปริมาณมากหรือใช้เป็นเวลานาน
  • การรับประทานขมิ้นชันอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดหรือทำให้เลือดไหลได้ง่าย ดังนั้นควรหยุดรับประทานขมิ้นชันก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมขมิ้นชันในผู้ที่ใช้ยาในกลุ่มเหล่านี้เป็นประจำ เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด ยาในกลุ่มสแตติน ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาความดันโลหิต ยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานอาหารเสริมขมิ้นชัน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคไต ภาวะเลือดออกง่าย โรคเบาหวาน ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมขมิ้นชันเป็นประจำ

ขิง

สมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลักในวงการแพทย์แผนจีน ซึ่งมีความเชื่อกันว่าขิงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านสารอนุมูลอิสระหากใช้ในปริมาณน้อย โดยมีสารประกอบฟีนอล (Phenolic Compounds) ซึ่งเป็นสารที่มีการกล่าวอ้างว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลดการหดตัวของกระเพาะอาหาร นั่นหมายความว่าการรับประทานขิงอาจช่วยลดกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไม่ให้ไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไปก็อาจทำให้อาการแย่ลงได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยยืนยันคุณสมบัติและสรรพคุณของขิงยังมีไม่มากพอ ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของขิงที่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการของกรดไหลย้อน มีเพียงงานวิจัยเกี่ยวกับขิงและสารประกอบต่าง ๆ เช่น จินเจอรอล (Gingerol) หรือโชกาออล (Shogaol) ที่มีส่วนช่วยป้องกันการคลื่นไส้จากการเมารถเมาเรือ

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการรับประทานขิงซึ่งเป็นสมุนไพรหรือเครื่องเทศที่หลายคนคุ้นเคยนั้นค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร แสบร้อนกลางอก ท้องเสีย เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร รวมถึงมีข้อควรระวังอื่น ๆ 

ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานขิงหรืออาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของขิง เพราะอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น

  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี ควรรับประทานขิงด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจไปกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำดี
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าจะยังไม่พบหลักฐานที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของมารดาและทารกก็ตาม
  • ผู้ที่รับประทานยาเหล่านี้เป็นประจำ เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาความดันโลหิต ยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
  • อาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย เพราะการรับประทานขิงอาจทำให้เลือดไหลได้ง่ายกว่าเดิม

ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรที่เชื่อกันว่ามีสารต้านการอักเสบ สามารถใช้ได้ทั้งรับประทานหรือทาที่ผิวหนัง มักใช้รักษาอาการผิวไหม้จากแดดหรือการระคายเคืองทางผิวหนังที่มีอาการไม่รุนแรง นิยมใช้สารสกัดจากว่านหางจระเข้เป็นส่วนผสมในน้ำหอมหรือเครื่องสำอาง และหลายคนเชื่อว่าน้ำว่านหางจระเข้อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโน มักถูกกล่าวอ้างว่าช่วยล้างพิษในร่างกายและอาจมีคุณสมบัติบรรเทาอาการของกรดไหลย้อนได้ ซึ่งการทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของน้ำว่านหางจระเข้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อนกับอาสาสมัคร 79 คน โดยรับประทานน้ำว่านหางจระเข้ขนาด 10 มิลลิลิตรต่อวัน ยาโอเมพราโซลขนาด 20 กรัมต่อวัน หรือยาแรนิทิดีนขนาด 150 กรัมในตอนเช้าและอีก 150 กรัมเป็นเวลา 30 นาทีก่อนเข้านอน ระยะเวลาในการทดลอง 4 สัปดาห์ โดยมีการประเมินอาการที่พบได้บ่อยของกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนกลางอก ท้องอืด เรอ กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน และรู้สึกถึงรสเปรี้ยวในปาก ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 4 พบว่าการรับประทานว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยกรดไหลย้อนนั้นมีอาการที่ดีขึ้น ปลอดภัย และสามารถทนต่ออาการข้างเคียงได้

อย่างไรก็ตาม การทดลองที่กล่าวมายังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม และผลการทดลองจากกลุ่มตัวอย่างอาจไม่สามารถแทนคนทุกกลุ่มได้ ดังนั้นควรคำนึงถึงข้อควรระวังจากการใช้ว่านหางจระเข้ ดังนี้

  • ไม่ควรรับประทานน้ำว่านหางจระเข้หากอยู่ในระหว่างการใช้ยาขับปัสสาวะหรือยาระบาย รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ก็ไม่ควรรับประทานน้ำว่านหางจระเข้ เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือทำให้แท้งได้
  • น้ำยางของว่านหางจระเข้มีฤทธิ์เป็นยาระบาย หากรับประทานเข้าไปอาจเกิดอาการปวดเกร็งท้องหรือท้องเสีย และอาจลดประสิทธิภาพและการดูดซึมของยาที่รับประทานไปก่อนหน้านี้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ควรรับประทานว่านหางจระเข้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง

ความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรรักษากรดไหลย้อน

ในปัจจุบันการใช้สมุนไพรรักษากรดไหลย้อนอาจยังไม่มีงานวิจัยหรือหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนเพียงพอถึงประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้สมุนไพร เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ หรือทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลงได้

การรักษากรดไหลย้อนด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน

การรักษาจะมุ่งเน้นที่การลดกรดที่จะไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหาร ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเยื่อบุของหลอดอาหาร และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกรดไหลย้อน ซึ่งการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นส่วนสำคัญในการรักษา เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เลิกสูบบุหรี่ หรือลดน้ำหนักจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ รวมถึงการรักษาโดยใช้ยาดังต่อไปนี้

  • ยาลดกรด อาจช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่สามารถใช้รักษาความเสียหายจากน้ำย่อยที่ไปทำลายเยื่อบุของหลอดอาหารได้
  • ยายับยั้งการหลั่งกรด อาจช่วยบรรเทาอาการได้ไม่รวดเร็วเท่ายาลดกรด แต่สามารถบรรเทาอาการได้นานกว่า สูงสุดถึง 12 ชั่วโมง ซึ่งยาแบบ Proton Pump Inhibitors มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการหลั่งกรดได้ดีกว่า H2-Receptor Blockers จึงช่วยสมานแผลของหลอดอาหารที่ได้รับความเสียหายจากกรดในกระเพาะอาหาร

แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกับกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เพื่อป้องกันกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือไม่ประสงค์จะใช้ยารักษาในระยะยาว