Laxative Drug (ยาระบาย)

Laxative Drug (ยาระบาย)

ยาระบาย (Laxative Drug) คือกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการท้องผูก โดยยาระบายจะออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้ หรืออาจเพิ่มความอ่อนนุ่มให้อุจจาระ ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้สะดวกและง่ายต่อการขับถ่าย ทั้งนี้ ก่อนใช้ยาระบายควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

ยาระบายมีให้เลือกใช้หลายรูปแบบ ซึ่งแพทย์หรือเภสัชกรอาจเลือกใช้ให้ตรงกับอาการและความต้องการของผู้ใช้ เช่น ยาระบายที่ทำให้อุจจาระนิ่ม ยาระบายที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน ยาระบายแบบกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ยาระบายแบบสารหล่อลื่นที่ช่วยให้ขับอุจจาระง่ายขึ้น ยาระบายแบบเกลือ และยาระบายแบบไฮเปอร์ออสโมติกที่ช่วยรักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง

ยาระบาย

ปริมาณการใช้ยาระบาย

ยาระบายมีหลากหลายรูปแบบ จึงมีปริมาณการใช้แตกต่างกัน โดยก่อนการใช้ยาควรศึกษาฉลากบนบรรจุภัณฑ์ทุกครั้ง

ตัวอย่างปริมาณการใช้ยาระบาย เช่น

1. ยาบิซาโคดิล (Bisacodyl)

รูปแบบยา : ยาเม็ด และยาเหน็บทวาร

ผู้ใหญ่อาจรับประทานยาบิซาโคดิลขนาด 5–10 มิลลิกรัม 1–2 เม็ดต่อวัน แต่สูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4–10 ปี รับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อวัน ควรรับประทานยานี้ตอนก่อนนอนหรือตอนท้องว่างเพื่อการออกฤทธิ์ที่เร็วขึ้น

2. ยาเซนโนไซด์ (Sennosides)

รูปแบบยา : ยาเม็ด และยาน้ำเชื่อม

ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ควรรับประทานก่อนนอนวันละ 1–2 เม็ด หรือขนาด 7.5–15 มิลลิกรัม

3. ยาแล็กทูโลส (Lactulose)

รูปแบบยา : ยาน้ำ ยาผง

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาแล็กทูโลส

4. ยากลีเซอรีน (Glycerin)

รูปแบบยา : ยาเหน็บทวาร

ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้ยาขนาด 2–3 กรัม ครั้งละ 1 แท่ง สำหรับเด็กอายุ 2–6 ปี ควรใช้ยาขนาด 1–1.7 กรัม ครั้งละ 1 แท่ง โดยเหน็บไว้ในรูทวารประมาณ 15 นาที

คำเตือนและข้อควรระวังจากการใช้ยาระบาย

การใช้ยาระบายอย่างปลอดภัย ผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง หากมีประวัติการแพ้ยา โดยเฉพาะยาในกลุ่มยาระบาย เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากเคยมีประวัติทางสุขภาพหรือกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพใด ๆ อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคโครห์น หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากหรือกำลังใช้ยาชนิดใดอยู่ เพราะยาระบายอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจหรือโรคเกี่ยวกับกระดูก ฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด และยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูงบางชนิด
  • ควรรับประทานยาตามขนาดและปริมาณที่ฉลากยาระบุ หรือตามปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
  • การใช้ยาระบายเกินขนาดหรือเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติในร่างกาย เช่น ตะคริว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะขาดน้ำ โรคหัวใจ โรคไต โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ริดสีดวงทวาร ลำไส้ตรงปลิ้น ร่างกายขาดแร่ธาตุบางอย่าง เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม 
  • ควรใช้ยาระบายหลังจากรับประทานยาชนิดอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ยาระบายไปลดประสิทธิภาพของยาชนิดอื่น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาระบายทุกครั้ง
  • ไม่ควรใช้ยาระบายติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้อาการท้องผูกรุนแรงยิ่งขึ้น

ไม่ควรใช้ยาระบายเพื่อเป็นยาลดน้ำหนัก เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยออกมารับรองว่าการใช้ยาระบายช่วยในการลดน้ำหนักได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาระบาย

ยาระบายมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่หากใช้ผิดวิธี หรือใช้ติดต่อกันนานเกินไปอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงในรูปแบบของอาการต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดท้อง 
  • ท้องอืด 
  • ท้องเสียรุนแรง
  • เลือดออกทางทวารหนัก
  • ภาวะขาดน้ำ เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปัสสาวะสีเข้ม
  • แพ้ยา เช่น ผื่น กลืนอาหารและหายใจลำบาก

หากเกิดผลข้างเคียงของยาระบายอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมในการใช้ยาระบายอย่างปลอดภัย