วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโรคโควิด-19 ได้ไหม ?

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อภายในระบบทางเดินหายใจ โดยอาการในช่วงแรกจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ น้ำมูกไหล และหายใจลำบาก หลายคนเลยสงสัยว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เหมือนกันไหม

ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าทั้งสองโรคนี้จะเป็นการติดเชื้อไวรัสบริเวณระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน ทำให้เกิดอาการคล้ายกัน แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ ฉะนั้น มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ได้ และรู้จักวิธีป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพกัน

2627-วัคซีนไข้หวัดใหญ่-โควิด-19

ทำไมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ ?

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าทั้งสองโรคนี้มีลักษณะที่คล้ายกันทั้งในแง่ของอาการและระบบของร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ แต่ความแตกต่างที่วัคซีนไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างสองโรคก็เพราะว่าโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัสคนละสายพันธุ์นั่นเอง

เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในคนมีทั้งหมด 3 ชนิดหลัก คือ สายพันธุ์เอ บี และซี โดยแต่ละสายพันธุ์ก็จะแบ่งออกได้อีกหลายชนิดย่อย ส่วนใหญ่จะพบว่าไข้หวัดใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เอและบี ถือเป็นโรคที่พบเป็นประจำทุกปีและพบได้บ่อยในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งความรุนแรงของโรคมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงระดับที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคนี้มักรักษาด้วยการใช้ยาจากแพทย์ร่วมกับการดูแลตนเอง ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซีจะมีความรุนแรงน้อยกว่าทั้งสองชนิดแรกที่ได้กล่าวไป

เชื้อโควิด-19 หรือชื่อเต็ม Severe Acute Respiratory Syndrome Corona Virus 2 (SARS-CoV-2) เป็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งมีการค้นพบจากการระบาดของเชื้อไวรัสภายในประเทศจีนไปยังทั่วโลก จริง ๆ แล้วเชื้อไวรัสโคโรนามีหลายสายพันธุ์ เดิมทีเชื้อโคโรนาที่พบได้ทั่วไป (Common Coronavirus) อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง อย่างโรคหวัด (Common Cold) ที่มักหายได้เอง แต่สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อาจมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่นและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย 

ด้วยความแตกต่างกันของลักษณะของชนิดและสายพันธุ์ของไวรัส จึงทำให้วัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นไหม ?

แม้ว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะป้องกันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ แต่ว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีการระบาดทุกปี เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและลดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

นอกจากนี้ ในช่วงที่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทับซ้อนกับช่วงที่เปลี่ยนฤดูกาลจากหน้าร้อนไปหน้าฝนหรือจากหน้าฝนไปหน้าหนาวก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อของโรคไข้หวัดใหญ่ได้มากขึ้น และหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19 พร้อมกันก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่เกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของทั้งสองโรค ดังนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงที่มีการระบาดของโรคอาจจำเป็นมากขึ้น

การป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ

หลายคนคงจะทราบกันแล้วว่าโรคนี้สามารถป้องกันได้อย่างไร แต่เพื่อความมั่นใจ บทความนี้ได้รวบรวมวิธีดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคติดเชื้อเหล่านี้มาให้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง

  1. ล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ อย่างน้อย 20 วินาทีต่อครั้ง โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังจากสัมผัสสิ่งของสาธารณะ และหลังเข้าห้องน้ำ หากไม่สะดวกล้างมือ ควรใช้เจลแอลกอฮอล์แทน
  2. อยู่บ้านและหลีกเลี่ยงพื้นที่คนเยอะโดยไม่จำเป็น อย่างรถสาธารณะและห้างสรรพสินค้า
  3. หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการพูดคุยหรืออยู่ใกล้กับผู้ที่คาดว่ามีอาการป่วย
  4. งดใช้มือสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ดวงตา เพราะมือและนิ้วมือเป็นส่วนที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่บนพื้นผิวของสิ่งของ อย่างราวจับ ลูกบิด และปุ่มกดลิฟต์
  5. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงทั้งกายและใจด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด

เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 และเชื้อชนิดอื่นด้วย ส่วนวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 นั้นยังอยู่ในช่วงการทดลอง เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและความปลอดภัยในการใช้ในคน ซึ่งในระหว่างรอวัคซีน การดูแลตนเองด้วยวิธีข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

สุดท้ายนี้ หากรู้สึกว่าตนเองมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด อย่างมีไข้ ไอ หายใจหอบระหว่างพูดคุยต่อเนื่องนานหลายวันหลังจากสัมผัสกับคนป่วยหรือคาดว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรสวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ