รู้จักไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และวิธีป้องกันที่ถูกต้อง

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้ทุกปี ทำให้หลายคนไม่ระมัดระวังตัวหรือละเลยการดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้ว เพราะคิดว่าเป็นอาการธรรมดา ไม่มีอันตราย แต่ไข้หวัดสายพันธุ์นี้อาจก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนเป็นอันตรายได้

โดยทั่วไป ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ที่มีอาการไม่รุนแรงมักหายได้เอง แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้มีโรคประจำตัว 

รู้จักไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และวิธีป้องกันที่ถูกต้อง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A 

แม้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยทุก ๆ ปี การเสริมความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้นอาจช่วยให้เราห่างไกลจากไข้หวัดสายพันธุ์นี้ได้ โดยรายละเอียดที่เราควรรู้มีดังนี้

สาเหตุของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A 

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอด จมูก และลำคอ โดยติดต่อผ่านการสูดดมเอาเชื้อไวรัสจากการไอหรือจามของผู้ป่วย หรือการสัมผัสผู้ป่วย สิ่งของหรือเครื่องใช้ที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วมาจับตา จมูก หรือปากของตัวเอง ผู้ป่วยมักแสดงอาการออกมาในช่วง 1–4 วันหลังจากการได้รับเชื้อ  

ที่จริงไข้หวัดสายพันธุ์นี้เป็นไข้หวัดตามฤดูกาล มักพบได้ในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว สามารถติดต่อได้ทั้งในคนและสัตว์ และยังเป็นสายพันธุ์เดียวที่ก่อให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก ซึ่งสายพันธุ์ย่อย (Subtype) ที่หลายคนเคยได้ยินก็เช่น  H1N1,  H3N2, H5N1หรือไข้หวัดนก

อาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

ผู้ป่วยมักจะมีอาการจาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ ตามมาด้วยอาการอื่น ๆ เช่น ไอแห้ง คัดจมูก มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดเมื่อยตัว ในเด็กเล็กอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หรือชักร่วมด้วยเมื่อไข้ขึ้นสูง หากผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้เอง แต่กรณีที่มีอาการนานกว่า 1 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม 

แม้อาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดา แต่เราสามารถสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้นมักจะเฉียบพลัน อาการค่อนข้างรุนแรง และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากกว่า หากอาการที่แสดงออกมาสร้างความสับสน ผู้ป่วยสามารถไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม  

การรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

คนที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตัวเองที่บ้าน โดยดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียง รับประทานอาหารอ่อน ๆ หรือใช้ยาตามอาการตามที่เภสัชกรแนะนำ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ หรือยาแก้ปวดลดไข้

ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตัวเอง มีอาการรุนแรง หรือเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ควรได้รับการรักษาที่ตรงจุดจากแพทย์ เพราะผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาต้านไวรัส อย่างยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) หรือการรักษาอื่น ๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้สูงอายุ  

ข้อแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B

โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B เป็นไข้หวัดตามฤดูกาลเช่นเดียวกัน แต่ก็มีรายละเอียดที่ต่างกันกับสายพันธุ์ A ไม่น้อย ดังนี้

  • ไข้หวัดสายพันธุ์ B ติดต่อกันจากคนสู่คนเท่านั้น ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน
  • ไข้หวัดสายพันธุ์ B มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ A แต่บางกรณีอาจรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน
  • ไข้หวัดสายพันธุ์ B แบ่งย่อยออกมาเป็น 2 ตระกูล (Lineage) เท่านั้น ได้แก่ ตระกูลวิคตอเรีย (Victoria) และตระกูลยามากาตะ (Yamagata) 
  • ไข้หวัดสายพันธุ์ B กลายพันธุ์ได้ช้ากว่าสายพันธุ์ A แต่ก็มีการกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ด้วยตัวเอง

วิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายในการกำจัดเชื้อไวรัส ซึ่งผู้มีความเสี่ยงสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยติดตามข่าวสารและรายละเอียดต่าง ๆ ได้จากกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานสุขภาพในพื้นที่ ส่วนบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถรับวัคซีนได้โดยจ่ายในราคาไม่แพงมากนัก 

ใครที่วางแผนหรือมีนัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งก่อนและหลังการฉีดวันซีนไข้หวัดใหญ่ ควรเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ ยังป้องกันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A โดยเริ่มที่ตัวเอง เช่น หมั่นล้างมือเป็นประจำ หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดหรือคนพลุกพล่าน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ปิดปากและจมูกหรือสวมหน้ากากอนามัยขณะไอหรือจาม หรือแยกตัวออกจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดหากมีไข้ขึ้น 

อย่างไรก็ตาม วินิจฉัยโรคด้วยตัวเองและไม่ควรละเลยการรักษาหรือการดูแลอาการ หากสงสัยว่าตัวเองอาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือมีอาการเข้าข่ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และขอคำแนะนำและในการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี