รู้จักยาเบาหวาน ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย

ยาเบาหวานเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคเบาหวานที่แพทย์แนะนำให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานใช้ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารและการออกกำลังอย่างถูกวิธี หากผู้ป่วยเตรียมความพร้อมและเรียนรู้วิธีใช้ยาเบาหวานอย่างปลอดภัย ก็อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานแต่ละชนิดจะต่างกันออกไป แต่ก็มียาบางชนิดที่อาจใช้เหมือนกัน โดยแพทย์จะพิจารณาการเลือกยาเบาหวานและปริมาณยาที่ใช้จากระดับน้ำตาลในเลือด สภาวะทางสุขภาพ การรับประทานอาหารและออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคเบาหวานแต่ละคน

รู้จักยาเบาหวาน ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย

ยาเบาหวานชนิดที่ 1 มีตัวยาอะไรบ้าง 

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นผลจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทในการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดและนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน ผู้ป่วยจึงต้องฉีดอินซูลินทดแทนไปตลอดชีวิตในปริมาณและรูปแบบการฉีดที่แพทย์กำหนด เช่น เข็มฉีด ปากกาฉีด หรือเครื่องปั๊ม (Insulin Pump)  

โดยอินซูลินแบ่งออกเป็น 4 ชนิดตามการออกฤทธิ์ดังนี้

  • ชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid Acting Insulin) ภายในเวลาประมาณ 15–30 นาที ออกฤทธิ์ต่อเนื่องได้นาน 3–5 ชั่วโมง แนะนำให้ฉีดก่อนมื้ออาหารหรือหลังมื้ออาหารไม่เกิน 15 นาที 
  • ชนิดออกฤทธิ์ปกติ (Regular or Short-acting Insulin) ภายในเวลาประมาณ 30–60 นาที ออกฤทธิ์ต่อเนื่องได้นาน 5–8 ชั่วโมง แนะนำให้ฉีดก่อนมื้ออาหาร 30 นาที
  • ชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) ภายในเวลาประมาณ 2–4 ชั่วโมง ออกฤทธิ์ต่อเนื่องได้นาน 12–18 ชั่วโมง แนะนำให้ฉีดก่อนมื้ออาหาร 30 นาที 
  • ชนิดออกฤทธิ์นาน (Long-acting Insulin) ภายในเวลาประมาณ 1–2 ชั่วโมง ออกฤทธิ์ต่อเนื่องได้นานประมาณ 20–24 ชั่วโมง  

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจใช้อินซูลินชนิดผสมที่เกิดจากการนำอินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วหรือออกฤทธิ์ปกติ ผสมกับชนิดออกฤทธิ์ปานหลางในอัตราส่วนต่าง ๆ ซึ่งแพทย์มักให้ผู้ป่วยฉีดอินซูลินชนิดผสมนี้ก่อนมื้อเช้าหรือมื้อเย็น เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  

ยาเบาหวานชนิดที่ 2 มีตัวยาอะไรบ้าง

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะที่ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวยาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน และแต่ละชนิดก็มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ต่างกันไป

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาเบาหวานในรูปแบบรับประทานมากกว่า 1 ชนิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่พยายามลดระดับน้ำตาลด้วยการรับประทานอาหารและออกกำลังกายแล้วไม่ได้ผล ยกตัวอย่างเช่น

  • ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) และยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones) ช่วยลดการผลิตน้ำตาลในตับและเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลินในร่างกาย  
  • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) และยากลุ่มเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น  
  • ยากลุ่ม Alpha-glucosidase Inhibitors เช่น ยาอะคาร์โบส (Acarbose) จะช่วยชะลอการย่อยและการดูดซึมน้ำตาลภายในลำไส้ 
  • ยากลุ่ม SGLT2 Inhibitor เช่น ยาดาพากลิโฟลซิน (Dapagliflozin) ช่วยยับยั้งการดูดน้ำตาลกลับเข้าสู่ไต  
  • ยากลุ่ม DPP-4 Inhibitor เช่น ยาซิตากลิปติน (Sitagliptin) ที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินและชะลอการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้

ยาเบาหวานแต่ละชนิดอาจมีวิธีใช้ยาที่ต่างกันไป โดยอาจรับประทานก่อนอาหาร พร้อมอาหาร หรือหลังอาหารก็ได้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปริมาณยาหรือช่วงเวลาที่ควรใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลโดยตรง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายอาจต้องฉีดอินซูลินร่วมด้วย โดยเฉพาะคนที่มีอาการรุนแรง ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือใช้ยารับประทานแล้วไม่ได้ผล

รวมถึงอาจต้องใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่ายชนิดอื่น เช่น ยาความดันโลหิตสูงอย่างยากลุ่ม ACE Inhibitor ยาแอสไพริน ยาลดคอเลสเตอรอลในเลือดอย่างยาสแตติน (Statins) เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) แผลเบาหวานที่เท้า หรือไตวาย

ข้อควรระวังจากยาเบาหวาน

แม้การใช้ยาเบาหวานจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์แทบทุกขั้นตอน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจพบผลข้างเคียง โดยจะแตกต่างกันไปตามชนิดของยาเบาหวานที่ใช้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องเสีย ท้องไส้ปั่นป่วน ผื่นที่ผิวหนัง อาการบวมที่ขาหรือข้อเท้า ขาดวิตามินบี 12 น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ  

อย่างไรก็ตาม หากอาการเหล่านี้ไม่หายไป ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง มีอาการผิดปกติอื่น ๆ หรือรู้สึกกังวลก็ควรรีบไปแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม  

นอกจากนี้ ยาบางชนิดยังอาจทำปฏิริยากับยาเบาหวานจนอาจทำให้ยามีประสิทธิภาพต่ำลง หรือเกิดผลข้างเคียงมากขึ้นได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรืออาหารเสริมใด ๆ ที่ตนเองกำลังใช้อยู่หรือสนใจจะซื้อมาใช้

สุดท้ายนี้ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมายนั้นต้องอาศัยความมีวินัยในตนเองไม่น้อย ผู้ป่วยควรวัดระดับน้ำตาลอยู่เสมอ ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำ ใช้ยาเบาหวานอย่างถูกวิธี และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนบันไดที่ช่วยให้ผู้ป่วยไปถึงเป้าหมายพร้อมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้