ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)

ความหมาย ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างผิดปกติและเป็นอันตราย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยพบมากในผู้ป่วยเบาหวาน รวมทั้งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ การรับประทานอาหารน้อยกว่าปกติ การออกกำลังกายอย่างหนัก และการดื่มแอลกอฮอล์

โดยทั่วไป เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยมักมีอาการใจสั่น อ่อนเพลีย และมีเหงื่อออกมาก แต่หากมีอาการรุนแรง อาจทำให้มีอาการสับสน ตอบสนองช้าลง ชัก และหมดสติได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรสังเกตอาการน้ำตาลในเลือดต่ำและรับการรักษาให้ทันท่วงที

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
อาการทางร่างกายจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่

  • รู้สึกหิว
  • มีเหงื่อออกมาก
  • รู้สึกกังวล
  • มือสั่น กระสับกระส่าย
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
  • ความดันโลหิตซิสโตลิคสูง
  • ชารอบปากหรือส่วนอื่นๆ

อาการสมองขาดกลูโคส ได้แก่

  • อุณหภูมิร่างกายต่ำ
  • อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ
  • ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สับสน ไม่มีสมาธิ ตาพร่ามัว พูดช้า ง่วงซึม หลงลืม
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
  • อัมพฤกษ์ครึ่งซีก (Hemiparesis) คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หมดสติ และชัก

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการต่อไปนี้ควรพบแพทย์ทันที

  • มีอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคเบาหวานและมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยตนเองเบื้องต้น เช่น ดื่มน้ำผลไม้ น้ำหวาน อมลูกอม หรือรับประทานกลูโคส 
  • เป็นโรคเบาหวานหรือมีประวัติการกลับมาเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซ้ำ ซึ่งมีอาการที่รุนแรงหรือเป็นลมหมดสติ ควรได้รับการช่วยเหลือโดยเร็ว

สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมีหลายสาเหตุ มักจะเกิดกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคเบาหวานหรืออินซูลิน เพราะหากใช้ซูลินมากเกินไปก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงต่ำมาก นอกจากนั้น หากน้ำตาลที่อยู่ในร่างกายถูกใช้หมดเร็วจนเกินไป  น้ำตาลถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดช้าเกินไป หรือมีปริมาณอินซูลินในกระแสเลือดมากเกินไป ก็ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้เช่นกัน รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่

  • ได้รับยารักษาเบาหวานที่ไม่เหมาะสมทั้งชนิดของยา ขนาดยาที่มากเกินไป และเวลาในการรับประทานยา
  • รับประทานอาหารปริมาณน้อยกว่าปกติหรือไม่เพียงพอ หรืองดมื้ออาหาร หรือเลื่อนเวลารับประทานอาหาร รวมไปถึงปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารที่ทำให้ปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลต่ำลง
  • มีการใช้กลูโคส (Glucose Utilization) เพิ่มขึ้น เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น เป็นต้น
  • มีการผลิตกลูโคสที่ตับน้อยลง เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรคตับแข็ง

นอกจากนั้น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำยังเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่จะพบได้น้อยมาก ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ใช้ยารักษาโรค เช่น เผลอรับประทานยารักษาโรคเบาหวานของผู้อื่น หรืออาจเกิดจากรักษาโรคชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะยาสำหรับเด็ก และยาสำหรับผู้ป่วยโรคไตวาย หรือยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย เช่น ยาควินิน (Quinine) เป็นต้น
  • บริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักโดยไม่ได้รับประทานอาหาร จะปิดกั้นไม่ให้ตับสามารถปล่อยกลูโคสสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • โรคที่มีความรุนแรง เป็นโรคตับที่รุนแรง เช่น โรคตับอักเสบรุนแรงทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ หรือมีความผิดปกติของไตที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับเอายารักษาออกมาได้ตามปกติ ทำให้เกิดการสะสมและส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนั้น การอดอาหารเป็นเวลานานที่อาจเกิดจากโรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่ร่างกายต้องการใช้ในการสร้างกลูโคส ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • การผลิตอินซูลินมากเกินไป เนื้องอกของตับอ่อนที่สร้างอินสุลิน (Insulinoma) อาจทำให้เกิดการผลิตอินซูลินที่มากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมไปถึงเนื้องอกชนิดอื่น ๆ ก็อาจทำให้เกิดการผลิตอินซูลินที่มากเกินได้เช่นกัน นอกจากนั้น เบต้าเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินมีการขยายตัว อาจส่งผลให้เกิดการปล่อยอินซูลินที่มากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • ความบกพร่องของฮอร์โมน ความผิดปกติบางอย่างของต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมองสามารถส่งผลให้เกิดความบกพร่องของฮอร์โมนสำคัญที่ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตกลูโคส โดยเฉพาะเด็กที่มีความผิดปกติดังกล่าวจะมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักจะเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับประทานอาหารหรืออดอาหาร แต่ไม่ได้เกิดขึ้นได้เสมอไป หรือบางครั้งอาจเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร เนื่องจากร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากเกินความจำเป็น นอกจากนั้น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงหลังรับประทานอาหาร อาจเกิดกับผู้ที่ผ่านการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

การวินิจฉัยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
การวินิจฉัยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แพทย์จะอาศัยปัจจัยดังต่อไปนี้

  • แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ หากสงสัยว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่พบว่าไม่มีอาการที่แสดงชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจเลือดเพิ่มเติม
  • ตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือด หากค่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 70 มิลลิกรัม
  • หากอาการหายไป ภายหลังจากการรับประทานอาหารหวาน ก็แสดงว่าอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

นอกจากนั้น แพทย์อาจตรวจร่างกายและสอบถามประวัติของผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำยิ่งขึ้น

การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีเป้าหมาย คือ การเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นจนกลับมาสู่ภาวะปกติ และการรักษาสาเหตุเบื้องหลัง รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรักษาและการดูแลตนเอง

การรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้นจะขึ้นอยู่กับอาการ หากมีอาการระยะเริ่มต้นมักจะรักษาได้ด้วยการบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (Simple Carbohydrates) ปริมาณ 15-20 กรัม โดยอาจเลือกรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้

  • น้ำผึ้งและน้ำตาล ประมาณ 1 ช้อนชา
  • เครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน ประมาณ 120 มิลลิลิตร อย่างน้ำผลไม้ หรือ ION Drink ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกับของเหลวในร่างกาย สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้นและทดแทนปริมาณน้ำตาลในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ
  • ลูกอม กลูโคสแบบเม็ด หรือแบบเจล โดยอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อรับประทานในปริมาณที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนหรือไขมัน เพราะจะทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้ช้า  หลังจากนั้น 15 นาที ให้ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด หากระดับน้ำตาลในเลือดยังต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำยังไม่ดีขึ้น ให้บริโภคคาร์โบไฮเดรตเพิ่มอีก 15-20 กรัม และให้ตรวจสอบซ้ำอีกครั้งในอีก 15 นาที และให้ปฏิบัติซ้ำตามวิธีข้างต้นจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรหรือมีอาการดีขึ้น

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาสู่ภาวะปกติ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารเพื่อช่วยคงระดับน้ำตาลในเลือดต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายกักเก็บไกลโคเจนที่อาจเสียไปจากการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง และไม่สามารถรับประทานอาหารหรือน้ำตาลได้ อาจจำเป็นต้องฉีดกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด โดยชุดอุปกรณ์ฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon Kit) ชนิดที่สามารถใช้ได้เองนั้นยังไม่ได้รับการรับรองในประเทศไทย จึงควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพื่อรับกลูโคสผ่านทางหลอดเลือดดำ และควรระวังอย่าให้ผู้ป่วยที่หมดสติรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม เพราะผู้ป่วยอาจสำลักอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าสู่ปอดได้

การรักษาโรคประจำตัว

การรักษาโรคประจำตัว จะช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกลับมาเกิดซ้ำ โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น

  • หากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น หรืออาจปรับปริมาณการใช้ยา โดยยาที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน
  • เนื้องอกที่ตับอ่อนเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งแพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดนำเนื้องอกออก และในบางรายมีความจำเป็นต้องนำตับอ่อนเพียงบางส่วนออก

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ย่อมเกิดขึ้นได้ถ้าหากปล่อยให้เกิดอาการนานจนเกินไปอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติ เพราะสมองต้องการน้ำตาลเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตามปกติ นอกจากนั้น ควรสังเกตถึงสัญญาณและอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเพื่อให้ทันท่วงที เพราะหากไม่ได้รักษาอาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น อาการชัก หมดสติ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า
การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซ้ำซ้อน เมื่อเวลาผ่านไป อาจทำให้เกิดภาวะดังกล่าวโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ซึ่งหากเกิดก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่รุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต

นอกจากนั้น หากผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจเกิดอาการที่รุนแรงได้ และการเกิดภาวะดังกล่าวซ้ำซ้อนอาจทำให้ผู้ป่วยต้องใช้อินซูลินในปริมาณน้อยเพื่อควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนเกินไป อย่างไรก็ตาม หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปติดต่อกันระยะยาวก็ทำให้เกิดความเสียหายกับระบบประสาท หลอดเลือด หรืออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแผนการรักษาตามที่แพทย์ได้แนะนำไว้อย่างระมัดระวัง ทั้งการรับประทานยา การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย
  • ตรวจสอบปริมาณยารักษาเบาหวานและอินซูลินอย่างรอบคอบ
  • หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างระมัดระวัง
  • หมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอตามที่แพทย์แนะนำ
  • พกสายรัดข้อหรือบัตรประจำตัวที่บ่งบอกว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • บางรายแพทย์อาจแนะนำให้ติดเครื่องวัดระดับน้ำตาลในร่างกาย (Continuous Glucose Monitor: CGM) โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ซึ่งเครื่องวัดนี้จะถูกติดตั้งไว้ใต้ผิวหนัง และเครื่องจะส่งสัญญาณเตือนหากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่าปกติ
  • ควรหาลูกอมหรือเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวไว้ใกล้ตัว เช่น Ion Drink ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มง่ายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็ว หรือน้ำผลไม้ เพื่อช่วยรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่อาการจะแย่ลง