รู้ทันอาการน็อคเบาหวานและวิธีดูแลตัวเองก่อนเกิดอันตราย

อาการน็อคเบาหวานหรือน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดขึ้นเมื่อน้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่อดอาหาร อาจส่งผลให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ใช้อินซูลินหรือกินยาเบาหวานมากเกินไป กินอาหารน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย 

ร่างกายได้รับกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดมาจากคาร์โบไฮเดรตในอาหารหรือเครื่องดื่มที่กินเข้าไป ซึ่งน้ำตาลในเลือดเป็นแหล่งพลังงานสำคัญต่อร่างกายและสมอง ดังนั้น สัญญาณหรืออาการน็อคเบาหวานต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ และควรได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว เพราะหากน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

อาการน็อคเบาหวาน

สัญญาณอาการน็อคเบาหวาน

เมื่อน้ำตาลในเลือดลดลงน้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาการน็อคเบาหวานอาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาการอาจรุนแรงแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาลในเลือดที่ลดลง โดยอาการน็อคเบาหวานอาจมีดังนี้

  • ผิวหนังซีด เวียนศีรษะ และปวดศีรษะ
  • รู้สึกหิวบ่อย
  • สั่นไปทั้งร่างกาย
  • รู้สึกกังวลหรือหงุดหงิด
  • เหงื่อออก อ่อนเพลีย หรือง่วงซึม
  • รู้สึกชาบริเวณลิ้น ริมฝีปาก และแก้ม
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ

เมื่ออาการน็อคเบาหวานไม่ได้รับการดูแลอย่างทันที อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงเหลือน้อยกว่า 54 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการน็อคเบาหวานที่รุนแรงและอันตรายขึ้นได้ เช่น

  • ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
  • รู้สึกสับสน พูดลำบาก หรือพูดไม่ชัดเจน
  • สูญเสียการทรงตัว
  • หมดสติ หรือเกิดอาการชัก 

ในบางรายอาจไม่แสดงอาการน็อคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นประจำ เป็นโรคเบาหวานมาแล้ว 5–10 ปี หรือกำลังกินยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) ซึ่งการไม่แสดงอาการน็อคเบาหวานอาจทำให้การรักษายากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มความเสี่ยงให้น้ำตาลในเลือดลดน้อยลง และเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

การดูแลตัวเองขณะเกิดอาการน็อคเบาหวาน

หากสังเกตเห็นอาการน็อคเบาหวาน ควรรีบเพิ่มน้ำตาลในเลือดทันที โดยอาจใช้หลัก 15–15 เพื่อบรรเทาอาการน็อคเบาหวานที่ไม่รุนแรงให้ดีขึ้นได้ โดยหลัก 15–15 อาจทำได้ดังนี้

  • กินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มปริมาณ 15 กรัม เพื่อเพิ่มน้ำตาลในเลือด โดยเลือกอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาล เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำผลไม้ ลูกอม 
  • หลังจากผ่านไป 15 นาที ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง หากน้ำตาลยังคงต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ให้กินหรือดื่มเพิ่มอีก 15 กรัม
  • ทำซ้ำอีกครั้งจนกว่าน้ำตาลในเลือดจะกลับมาสูงกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

หากพบเจอผู้ที่มีอาการน็อคเบาหวานอย่างรุนแรงหรือหมดสติ ไม่ควรให้กินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มน้ำตาลในเลือด เพราะอาจเสี่ยงต่อการสำลักได้ หากมีฮอร์โมนกลูคากอน สามารถฉีดเข้าที่บริเวณก้น แขน หรือสะโพกของผู้ที่มีอาการน็อคเบาหวาน เพื่อช่วยให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นทันที หากไม่มีฮอร์โมนดังกล่าว ควรรีบนำผู้ที่มีอาการน็อคเบาหวานไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ควรกินอาหารให้ครบทุกมื้อ กินยาให้ครบตามปริมาณที่แพทย์สั่ง และคอยตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำโดยใช้เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบพกพาที่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเองที่บ้าน เพื่อป้องกันไม่อาการน็อคเบาหวานกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง