หิวน้ำบ่อย สาเหตุ วิธีรับมือ และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

หิวน้ำบ่อย หรืออาการหิวน้ำมากผิดปกติที่ไม่ดีขึ้นหรือหายไปหลังจากดื่มน้ำ เป็นอาการที่อาจดูไม่รุนแรง แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่อาจสื่อถึงโรคหรือภาวะผิดปกติได้หลายชนิด โดยเฉพาะเมื่ออาการนี้เกิดขึ้นพร้อมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ทางร่างกาย

อาการหิวน้ำ เป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายที่ช่วยส่งสัญญาณให้ทราบว่า ภายในร่างกายเริ่มมีปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งในบางครั้งก็ถือเป็นเรื่องที่ปกติที่ร่างกายจะมีอาการหิวน้ำบ่อยหรือหิวน้ำมากในช่วงที่ร่างกายสูญเสียน้ำไปในปริมาณมาก เช่น ขณะออกกำลังกายอย่างหนัก เมื่ออยู่ในที่ที่อากาศร้อนจัด หรือหลังจากรับประทานอาหารรสเผ็ด

หิวน้ำบ่อย สาเหตุ วิธีรับมือ และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะพูดถึงอาการหิวน้ำบ่อยที่มีความผิดปกติ หรืออาการหิวน้ำที่ไม่ดีขึ้นหรือหายไปหลังจากที่ดื่มน้ำเข้าไปแล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด ทั้งในด้านสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ ข้อควรปฏิบัติในเบื้องต้น และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

สาเหตุของอาการหิวน้ำบ่อย

อาการหิวน้ำบ่อยที่ผิดปกติ ซึ่งอาการหิวน้ำมักไม่ดีขึ้นหลังจากดื่มน้ำไปแล้ว สามารถเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติได้หลายชนิด เช่น

1. เบาหวาน (Diabetes)

เบาหวานเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างที่ควรจะเป็น จนส่งผลให้เกิดการสะสมของน้ำตาลในกระแสเลือดสูง

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายก็จะพยายามขับน้ำตาลที่สะสมอยู่ออกผ่านทางการปัสสาวะ ซึ่งเมื่อร่างกายขับปัสสาวะบ่อย ๆ อาการหิวน้ำบ่อย หรืออาการหิวน้ำมากผิดปกติก็จะเริ่มเกิดขึ้นตามมา โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมักพบอาการอื่น ๆ ในลักษณะต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น มองเห็นภาพเบลอ อ่อนเพลีย อยากอาหารผิดปกติ และแผลหรือรอยช้ำตามร่างกายหายช้าลง

2. เบาจืด (Diabetes Insipidus)

เบาจืดเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่มีหน้าที่ช่วยไตควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายออกมาไม่เพียงพอ โดยอาการเด่น ๆ ของภาวะนี้คืออาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ และอาการหิวน้ำบ่อยที่ไม่ดีขึ้นแม้จะดื่มน้ำเข้าไปแล้ว

3. ภาวะขาดน้ำ

ภาวะขาดน้ำเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อภายในร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างหนัก อาการท้องเสียรุนแรง การอาเจียน การอยู่ในที่ที่ร้อนจัด หรือการสูญเสียเหงื่อในปริมาณมาก โดยอาการหิวน้ำบ่อย ถือเป็นอาการแรก ๆ ที่มักพบได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้

นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม รู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ คล้ายจะเป็นลม ปวดศีรษะ ปากแห้ง ผิวแห้ง และปัสสาวะน้อยลงผิดปกติ 

4. ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป จนส่งผลให้กระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของร่างกายทำงานเร็วขึ้นผิดปกติ 

โดยอาการต่าง ๆ ที่มักพบในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เช่น หิวน้ำบ่อย เหงื่อออกมากผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว น้ำหนักลดผิดปกติ อยากอาหารมากขึ้น ท้องเสีย รู้สึกกระวนกระวาย นอนไม่หลับ มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น และประจำเดือนมาช้าหรือเร็วเกินไปในผู้หญิง

5. โลหิตจาง (Anemia)

โลหิตจางเป็นภาวะที่ร่างกายมีฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) หรือเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในปริมาณที่น้อยผิดปกติ โดยในกรณีที่ภาวะนี้ไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจยังไม่พบอาการหิวน้ำบ่อย แต่หากภาวะนี้เริ่มรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกหิวน้ำมากผิดปกติได้

นอกจากนี้ อาการอื่นที่อาจพบได้จากภาวะนี้ ได้แก่ เวียนศีรษะ ผิวซีดหรือมีสีออกเหลือง รู้สึกอ่อนเพลีย และหัวใจเต้นเร็ว

ทั้งนี้ นอกจากตัวอย่างโรคและภาวะผิดปกติที่ยกตัวอย่างไป อาการหิวน้ำบ่อยก็ยังอาจเกิดขึ้นได้จากโรคและภาวะผิดปกติชนิดอื่น หรือแม้แต่ปัจจัยบางอย่างได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) หัวใจวาย ไตวาย ตับวาย หรือการใช้ยาบางชนิด

วิธีรับมือกับอาการหิวน้ำบ่อยและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการหิวน้ำบ่อยควรดื่มน้ำให้มากขึ้น หรือประมาณ 6–8 แก้วต่อวัน หรืออาจมากกว่านั้นหากต้องสูญเสียน้ำในระหว่างวันมาก ๆ เช่น การสูญเสียเหงื่อ อาการท้องเสีย หรืออาการอาเจียน โดยให้เฉลี่ยแบ่งปริมาณน้ำดื่มให้ทั่วทั้งวันและไม่ดื่มน้ำปริมาณมากในครั้งเดียว

นอกจากนี้ ชนิดเครื่องดื่มที่เลือกดื่มก็สำคัญเช่นกัน โดยเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงก็เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้อาจส่งผลให้อาการหิวน้ำบ่อยยิ่งแย่ลงได้

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการหิวน้ำบ่อยก็ควรสังเกตอาการตัวเองไปด้วย และควรไปพบแพทย์เมื่อเห็นว่าอาการหิวน้ำไม่ดีขึ้นหลังจากที่ดื่มน้ำเข้าไป โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือเกิดอาการผิดปกติบางอย่างร่วมด้วย เช่น ปวดปัสสาวะบ่อย มองเห็นภาพเบลอ อ่อนเพลียผิดปกติ อยากอาหารมากผิดปกติ หรือรู้สึกว่าแผลต่าง ๆ หายช้าลง