ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)

ความหมาย ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)

Hypercalcemia หรือภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เป็นภาวะที่อาจทำให้กระดูกของผู้ป่วยอ่อนแอลง ทำให้เกิดนิ่วในไต และส่งผลต่อการทำงานของสมองและหัวใจได้ เนื่องจากมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ โดยภาวะนี้มักเกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้ยาบางชนิด การบริโภคแคลเซียมหรือวิตามินดีเสริมมากเกินไป โรคมะเร็งหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้

1824 Hypercalcemia rs

อาการของภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

ผู้ป่วย Hypercalcemia ในระดับไม่รุนแรงอาจไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏให้เห็น แต่ในรายที่ป่วยรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับระดับแคลเซียมในเลือดและอวัยวะที่ได้รับผลกระทบด้วย เช่น

  • อาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือท้องผูก เป็นต้น
  • ไตผิดปกติ เช่น กระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
  • กล้ามเนื้อกระตุก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบางอย่าง เช่น เหนื่อย อ่อนเพลีย หรือสับสน เป็นต้น
  • ในกรณีที่กระดูกอ่อนแอหรือบางลง อาจทำให้มีอาการปวดกระดูกและกระดูกแตกหักได้ง่าย
  • อาการเกี่ยวกับหัวใจ เกิดขึ้นเมื่อมีภาวะ Hypercalcemia อย่างรุนแรง จึงส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ใจสั่น หน้ามืด หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น และอาจมีปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับหัวใจ แต่มักพบได้น้อย

ทั้งนี้ หากพบว่าตนมีอาการเข้าข่ายภาวะ Hypercalcemia หรือมีอาการคล้ายคลึงกับข้างต้น ควรไปปรึกษาแพทย์

สาเหตุของภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

ภาวะ Hypercalcemia อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่อไปนี้

  • ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด อาจเกิดจากการมีเนื้องอก หรือต่อมพาราไทรอยด์ขยายใหญ่ขึ้น โดยเพศหญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะเสี่ยงเกิดภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินได้มากกว่าคนทั่วไป
  • ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง หากมีของเหลวในกระแสเลือดน้อยอาจทำให้ระดับแคลเซียมเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเป็นสาเหตุของภาวะ Hypercalcemia ที่ไม่รุนแรงหรือเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด
  • การเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ หากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งหรือนอนบนเตียง เมื่อกระดูกไม่ได้ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักเป็นเวลานาน อาจทำให้กระดูกสลายแคลเซียมสู่กระแสเลือดได้
  • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งเม็ดเลือด เป็นต้น โรคมะเร็งเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง นอกจากนี้ การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังกระดูกก็เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะ Hypercalcemia ได้เช่นกัน
  • โรคอื่น ๆ เช่น วัณโรค และโรคซาร์คอยโดซิส เป็นต้น เป็นโรคที่อาจส่งผลให้มีระดับวิตามินดีในเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหารดูดซึมแคลเซียมมากกว่าปกติ
  • พันธุกรรม โรคทางพันธุกรรมบางชนิดอาจส่งผลให้มีระดับแคลเซียมที่ผิดปกติได้ เช่น ภาวะ Familial Hypocalciuric Hypercalcemia ที่เกิดจากร่างกายขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะได้น้อยลง แต่ผู้ป่วยโรคนี้มักไม่มีอาการแสดงหรือภาวะแทรกซ้อนใด ๆ จึงไม่จำเป็นต้องรับการรักษา
  • ยาบางชนิด อาจส่งผลให้มีการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้มีระดับแคลเซียมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ยาลิเธียมที่นำมาใช้รักษาโรคไบโพลาร์ เป็นต้น
  • อาหารเสริม การบริโภคแคลเซียมหรือวิตามินดีเสริมในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดเพิ่มขึ้นจนผิดปกติได้

การวินิจฉัยภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

เนื่องจากภาวะ Hypercalcemia มักไม่มีอาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน แพทย์จึงอาจตรวจพบภาวะนี้จากการตรวจเลือด ซึ่งจะช่วยให้ทราบระดับแคลเซียมในเลือดและระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ที่อาจบ่งบอกได้ว่ามีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน

นอกจากนั้น อาจมีการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง เช่น

  • การเอกซเรย์หน้าอก เพื่อตรวจดูมะเร็งในปอด
  • การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม
  • การทำ MRI Scan เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะและโครงสร้างอื่น ๆ ภายในร่างกายอย่างละเอียด
  • การทำ CT Scan เป็นการวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกายอย่างละเอียด
  • การตรวจ DEXA หรือการตรวจประเมินความแข็งแรงของกระดูก

การรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

การรักษาภาวะ Hypercalcemia จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยผู้ที่มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อย อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำเอาต่อมพาราไทรอยด์ที่ผิดปกติออกไป ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และอาจได้รับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ให้สารน้ำหรือของเหลวเข้าทางหลอดเลือด
  • ใช้ยารักษาตามสาเหตุ เช่น ยาแคลซิโทนินสำหรับควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด ยาแคลซิมิเมติกที่ช่วยควบคุมการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ และยาเพรดนิโซโลนหากมีภาวะ Hypercalcemia เนื่องจากมีระดับวิตามินดีสูงเกินไป เป็นต้น
  • ใช้ยาขับปัสสาวะ เช่น ยาฟูโรซีไมด์ เป็นต้น เพื่อช่วยขับแคลเซียมที่มีมากเกินไปออกทางปัสสาวะ
  • ใช้ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตส์ เพื่อหยุดการสลายตัวของกระดูกและการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย
  • หากไตได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการฟอกไตด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

ภาวะ Hypercalcemia อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ ดังนี้

  • โรคกระดูกพรุน เกิดขึ้นได้ในกรณีที่กระดูกสลายแคลเซียมสู่กระแสเลือดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กระดูกอ่อนแอหรือแตกหักง่าย หรือเกิดซีสต์ที่กระดูก
  • นิ่วในไต หากปัสสาวะของผู้ป่วยมีแคลเซียมเจือปนมากเกินไป อาจทำให้เกิดตะกอนในไตและกลายเป็นนิ่วได้ในที่สุด
  • ไตวาย กรณีที่เกิดภาวะ Hypercalcemia ชนิดรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อไต ทำให้ไตมีประสิทธิภาพในการฟอกเลือดและขจัดของเสียลดน้อยลง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอาจส่งผลกระทบต่อคลื่นไฟฟ้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติไปด้วย
  • ระบบประสาทผิดปกติ กรณีที่เกิดภาวะ Hypercalcemia อย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบทางระบบประสาท ทำให้มีอาการสับสน ซึมเศร้า ความจำเสื่อม โคม่า หรืออาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ตับอ่อนอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

การป้องกันภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดภาวะ Hypercalcemia นั้นไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น การดูแลสุขภาพตนเองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยลดความเสี่ยง โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปซึ่งเสี่ยงเกิดภาวะ Hypercalcemia ได้สูง ซึ่งอาจดูแลตนเองและลดความเสี่ยงได้โดย

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาหรืออาหารเสริมใด ๆ  
  • ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ และหากสงสัยว่าตนอาจมีอาการของภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ควรไปรับการตรวจระดับแคลเซียมในเลือดทันที