เคล็ดลับควบคุมน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า น้ำตาลในเลือดถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะหากมีระดับน้ำตาลผิดปกติ ไม่ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลง ก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเฉพาะบริเวณดวงตา ไต ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ป่วยควรเรียนรู้วิธีควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสมอ 

การรักษาน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำอาจเป็นเรื่องท้าทายและยากลำบากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่น้อย เนื่องจากมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น อาหาร การใช้ชีวิต การใช้ยา สุขภาพร่างกาย หรืออาการป่วยบางประการ ซึ่งในแต่ละปัจจัยนี้ หากผู้ป่วยสามารถจับจุดหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองได้ การควบคุมน้ำตาลในเลือดอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก

เคล็ดลับควบคุมน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมน้ำตาลในเลือดได้อย่างไร

โดยทั่วไปในช่วงก่อนมื้ออาหาร ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ 80–130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนช่วงหลังมื้ออาหารไปแล้วไม่ควรเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จึงจะกล่าวได้ว่า มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ซึ่งการจะควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ได้ผลนั้นผู้ป่วยอาจต้องใส่ใจในหลาย ๆ ปัจจัยหรือปรับพฤติกรรมในหลาย ๆ ด้านร่วมกัน ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ผู้ดูแล ดังนี้

1. การรับประทานอาหาร

ประเภท ส่วนผสม และปริมาณของอาหารที่รับประทานในแต่ละวันล้วนส่งผลต่อน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยจึงจำเป็นจะต้องวางแผนการรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ โดยควรให้ความสำคัญกับอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตอย่างแป้งและน้ำตาลในแต่ละมื้อ เพราะสารอาหารเหล่านี้ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และอาหารที่มีแคลอรี ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และเกลือในปริมาณต่ำ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชที่อุดมไปด้วยใยอาหาร มีไขมันและแคลอรีต่ำ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นดื่มน้ำสะอาดแทนเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล สารให้ความหวานที่มีแคลอรีสูง หรือน้ำผลไม้ ยกเว้นในผู้ป่วยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวจะช่วยรักษาปัญหาระดับน้ำตาลได้ในเบื้องต้น

2. การออกกำลังกาย

หลายคนอาจไม่ทราบว่า การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายดึงน้ำตาลออกมาใช้เป็นพลังงาน และยังไปเพิ่มประสิทธิภาพของฮอร์โมนอินซูลิน ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ แต่เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมต่างกันไป จึงต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ในการออกกำลังกายอย่างปลอดภัยและสัมพันธ์การรับประทานอาหารหรือการใช้ยาในแต่ละวัน 

โดยทั่วไป ควรกำหนดเป้าหมายในการออกกำลังกายไว้ที่ 30 นาทีต่อวัน หรือประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งการออกกำลังกายนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเล่นกีฬาแบบแอโรบิคอย่างว่ายน้ำ วิ่ง หรือเดินเร็วเสมอไป แต่ยังรวมถึงการทำกิจกรรมเบา ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างทำความสะอาดบ้านหรือทำสวนด้วย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้เพียงพอขณะออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำที่อาจส่งผลต่อน้ำตาลในเลือด และผู้ป่วยบางรายอาจพักรับประทานของว่างหรือของหวานสักเล็กน้อย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดมีระดับต่ำจนเกินไป   

3. การใช้ยารักษาโรค

แม้ผู้ป่วยจะรักษาน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ตั้งเป้าไว้ได้ แต่การใช้ยารักษาโรคเบาหวานหรือการฉีดฮอร์โมนอินซูลินอย่างต่อเนื่องก็ยังจำเป็นต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะเมื่อการรับประทานอาหารหรือการออกกำลังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ 

หากตัวยาส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำมากจนเกินไปหรือเกิดผลข้างเคียงหลังการใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาแนวทางในการรักษาต่อไป โดยอาจต้องปรับปริมาณการใช้ยา หรือระยะในการใช้ยาให้เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย

ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการใช้ยาโดยการหาซื้อเองหรือได้รับยาชนิดใหม่ที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ อาทิ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือยารักษาภาวะคลอเลสเตอรอลสูง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับโรคประจำตัวก่อนการรับประทาน เพราะอาจส่งผลต่อน้ำตาลในเลือดได้

4. ปัญหาสุขภาพ

ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรืออาการป่วยที่ก่อให้เกิดการอาเจียน คลื่นไส้ หรือท้องเสียเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ เนื่องจากฮอร์โมนบางชนิดที่ร่างกายผลิตออกมาต่อสู้กับอาการป่วยนั้นส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจทำให้พฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือกิจกรรมในแต่ละวันเปลี่ยนไปจากเดิมด้วย 

นอกเหนือจากการให้แพทย์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและของเสียอย่างสารคีโตนในปัสสาวะ และปรับปริมาณยา ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มากเพื่อลดปัญหาร่างกายขาดน้ำ หากยังรับประทานอาหารได้ตามปกติควรเลือกอาหารประเภทที่ย่อยง่ายอย่างเจลาตินหรือซุป

หากฉีดฮอร์โมนอินซูลินอาจรับประทานน้ำผลไม้ น้ำหวาน หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ในบางเวลา เพื่อป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำ และไม่หยุดรับประทานยาโรคเบาหวานด้วยตัวเองโดยปราศจากคำสั่งจากแพทย์ หากมีปัญหาในการกลืนยา ควรปรึกษาแพทย์ทันที    

5. ประจำเดือน

ผู้ป่วยที่มีประจำเดือนหรืออยู่ในช่วงหมดประจำเดือนอาจต้องเผชิญกับปัญหาน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายส่งผลต่อเซลล์ที่ตอบสนองต่ออินซูลิน ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้ก็มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน 

ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรวัดและบันทึกระดับค่าน้ำตาลในเลือดในแต่ละเดือน เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและใช้เป็นแนวทางในการควบคุมน้ำตาลในเลือดในอนาคต ควบคู่กับการดูแลตัวเองอย่างรับประทานผัก ผลไม้ หรือธัญพืชที่หลากหลาย ออกกำลังกายวันละ 30 นาที และงดสูบบุหรี่

6. ความเครียด

ความเครียดไม่ได้ส่งผลต่อสภาพจิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นผลจากการหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียด และฮอร์โมนอินซูลินมีปริมาณและประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง 

หากอยู่ภายใต้ความเครียด ผู้ป่วยอาจควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น จึงควรค้นหาบ่อเกิดของความเครียดและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ลองหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือขอคำแนะนำจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม    

พื้นฐานสำคัญในการควบคุมน้ำตาลในเลือดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยความมีวินัยอย่างมาก ซึ่งก็คือ การวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามช่วงเวลาที่แพทย์แนะนำ อาทิ หลังตื่นนอน ก่อนมื้ออาหาร หลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมง หรือก่อนนอน เพราะวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสังเกตเห็นอาการหรือความผิดปกติได้ไวยิ่งขึ้น และรับการรักษาหรือปรับแผนการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการใช้ยาจากแพทย์ได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่มีปัญหา ข้อสงสัย รวมถึงความผิดปกติอื่นใด ควรปรึกษาหรือแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว