การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนคนไทยเป็นเรื่องที่หลายคนเฝ้าติดตามและให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ที่กินเวลานานและยังไม่มีทีท่าว่าจะซาลงในเร็ววันจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงแค่สุขภาพของประชาชน วัคซีนโควิด-19 ที่จะได้รับพัฒนาและนำมาใช้จึงเป็นเหมือนความหวังใหม่ในการป้องกันโรคโควิด-19 นั่นเอง
การฉีดวัคซีนถือเป็นเกราะป้องกันร่างกายที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก เนื่องจากเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ลดความรุนแรงของโรค การเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดการแพร่กระจายของโรคนี้ไปสู่ผู้อื่น โดยวัคซีนแต่ละชนิดก็จะมีองค์ประกอบและวิธีการผลิตที่ต่างกันไป หลายประเทศจึงเร่งศึกษาและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดการระบาดและความรุนแรงของโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาไม่น้อยกว่า 18 เดือน ต่างจากวัคซีนอื่น ๆ ที่อาจใช้นานเวลาหลายปีก่อนจะออกจำหน่ายได้
แล้วรู้หรือไม่ว่า วัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดไม่ได้ถูกผลิตโดยหน่วยงานเดียว มีทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน เหตุเพราะวัคซีนเหล่านี้จะต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนเสมอ จึงมีโอกาสที่วัคซีนบางส่วนจะไม่ผ่านเข้าสู่ระยะการศึกษาทางคลินิกซึ่งเป็นการศึกษาในคน หรืออาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่าเกณฑ์หลังการศึกษาในคนแล้วเสร็จ ดังนั้น การผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วยวิธีการที่ต่างกันจากหลาย ๆ หน่วยงาน จึงอาจเพิ่มโอกาสในการได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ชนิดของวัคซีนโควิด-19
โดยทั่วไป การผลิตวัคซีนจะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ ชนิดที่ใช้ทุกส่วนของเชื้อไวรัส ชนิดที่ใช้แค่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัส และชนิดที่ใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีกระบวนการผลิต ข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดที่ต่างกันไป โดยในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงานได้มีการศึกษาทดลองวัคซีนโควิด-19 ในหลายชนิดดังต่อไปนี้
วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (Messenger Ribonucleic Acid Vaccine: mRNA Vaccine)
เป็นวัคซีนที่ใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่เรียกว่าเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เป็นตัวกระตุ้นเซลล์ในร่างกายให้สร้างสไปก์โปรตีน (Spike Protein) ขึ้นมาเองโดยตรง ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบได้บนผิวของเชื้อไวรัสโควิด-19 และไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย โดยระบบภูมิคุ้มกันจะจดจำเชื้อไวรัสดังกล่าวไว้และเตรียมพร้อมในการกำจัดหากเชื้อเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง
วัคซีน mRNA นั้นเกิดจากการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ บวกกับกระบวนการผลิตที่ไม่ยุ่งยากและใช้เวลาเพียงไม่นาน ทำให้วัคซีนชนิดนี้ผลิตได้ในปริมาณมากและมีราคาไม่แพง โดยถือเป็นวัคซีนชนิดแรก ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 แบบฉุกเฉินในประเทศสหรัฐอเมริกา
วัคซีนชนิดส่วนย่อยแบบโปรตีน (Protein Subunit Vaccine)
วัคซีนชนิดนี้เป็นการนำส่วนประกอบบางส่วนของเชื้อไวรัสที่ก่อโรคได้มาเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย ในที่นี้ก็คือ สไปก์โปรตีนของเชื้อไวรัส ที่จริงวัคซีนสำหรับฉีดในเด็กหลายชนิดต่างก็ผลิตด้วยวิธีการนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไอกรน วัคซีนบาดทะยัก วันซีนคอตีบ หรือวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งการฉีดวัคซีนส่วนย่อยแบบโปรตีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีและไม่ก่อให้เกิดโรค ทว่าอาจแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงเนื่องจากความยุ่งยากในการผลิตและอาจต้องฉีดในปริมาณที่สูงเป็นจำนวนหลายเข็ม
วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccine)
วัคซีนชนิดนี้จะใช้เชื้อไวรัสไม่ก่อโรคชนิดหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถูกทำให้มีฤทธิ์อ่อนลง อาทิ เชื้อในกลุ่มพอกซ์ไวรัส (Poxvirus) หรือเชื้ออะดิโนไวรัส (Adenovirus) มาทำหน้าที่เป็นพาหะนำสารพันธุกรรมของไวรัสต้นเหตุโรคโควิด-19 เข้าสู่เซลล์ในร่างกาย โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างสไปก์โปรตีนเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งวัคซีนโรคติดเชื้ออีโบลา (Ebola) บางส่วนที่ได้พัฒนาในปัจจุบันก็ผ่านการผลิตด้วยวิธีการนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่ดีและยาวนาน โดยอาจไม่ต้องฉีดในปริมาณสูงหรือฉีดหลายเข็ม แต่อาจมีข้อจำกัดและข้อกังขาด้านความปลอดภัยสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีภาวะทุพโภชนาการ และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้มาก
วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine)
หลายคนอาจคุ้นหูกับวัคซีนชนิดนี้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากเป็นวิธีการที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจะผลิตจากเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้ตายด้วยสารเคมี ความร้อน หรือการฉายรังสีในห้องปฏิบัติการ จนไม่สามารถก่อโรคได้ แต่เพียงพอต่อการกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกาย โดยตัวอย่างวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธีการนี้ก็เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโปลิโอ
นอกจากนี้ แม้วัคซีนชนิดเชื้อตายจะมีความปลอดภัย ใช้ได้ผลในคน และมีราคาไม่แพง แต่ด้วยประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มต้านทานที่ต่ำ จึงอาจต้องฉีดในปริมาณสูงและฉีดอย่างต่อเนื่องหลายเข็ม
วัคซีนชนิดดีเอ็นเอ (Deoxyribonucleic Acid Vaccine: DNA Vaccine)
การผลิตวัคซีนชนิด DNA มีกลไกที่คล้ายกับวัคซีนชนิด mRNA แต่จะมีความแตกต่างตรงที่วัคซีนชนิด DNA เมื่อเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ในร่างกายจะถูกถอดรหัสสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสจาก DNA ไปเป็น mRNA ก่อนจึงจะเกิดการกระตุ้นการสร้างสไปก์โปรตีน ในขณะที่วัคซีนชนิด mRNA นั้นไม่ต้องเข้าสู่นิวเคลียส แต่สามารถกระตุ้นการสร้างโปรตีนดังกล่าวได้เลย
ทำความรู้จักกับวัคซีนโควิด-19 ที่จะมีใช้ในไทย
จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ที่เน้นย้ำว่า วัคซีนที่ส่งต่อไปถึงมือประชาชนต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย และประสิทธิภาพ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัคซีน ในขณะนี้ได้มีการยื่นขอขึ้นทะเบียนมาแล้วจาก 2 บริษัท ซึ่งวัคซีนของแต่ละบริษัทจะมีรายละเอียดดังนี้
1. วัคซีน AZD1222 (ChAdOx1 nCoV-19) จากบริษัทแอสตราเซนเนกา (AstraZeneca) ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นวัคซีนชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ โดยผลการทดสอบเผยว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์
โดยในปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกาล็อตที่ผลิตจากต่างประเทศได้รับอนุมัติการขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 20 มกราคม ปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการฉีดวัคซีนควรมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีดจำนวน 2 เข็ม ในปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร โดยเว้นระยะจากการฉีดเข็มแรกอย่างน้อย 4–12 สัปดาห์
2. วัคซีน CoronaVac จากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย โดยคาดการณ์ว่าการขึ้นทะเบียนจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีพ.ศ. 2564 โดยจะเริ่มการฉีดเข็มแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายนในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เล็กน้อยในช่วง 3 วันแรกและมักหายดีภายใน 1–2 วัน เช่น เจ็บหรือบวมแดงในบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบาย ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น
ใครจะได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นกลุ่มแรก ?
ในระยะแรกของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามประกาศของรัฐบาลจะเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อชนิดนี้แล้วจึงขยายกลุ่มเป้าหมายในภายหลัง โดยกลุ่มคนแรก ๆ ที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อน ได้แก่
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่ด่านหน้าทั้งจากภาครัฐและเอกชน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคในระบบทางเดินหายใจเรื้อรังที่รุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจะยกเว้นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีและสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอจะยืนยันความปลอดภัยของเด็กและคุณแม่หลังการฉีดวัคซีนได้ จึงจำเป็นต้องรอการวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต
แม้โอกาสในการได้รับวัคซีนของประชาชนจะอยู่ไม่ไกลแล้ว แต่การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 อย่างล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัว สวมหน้ากากอนามัยเสมอ เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือมีผู้คนแออัดก็ยังจำเป็นอย่างมากสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการได้รับวัคซีนก็ตาม เพราะวิธีเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ไม่เฉพาะแค่โรคโควิด-19 แต่รวมถึงการติดเชื้ออื่น ๆ อย่างโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก 10 กุมภาพันธ์ 2564