ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19 (COVID–19) ที่กลับมาอีกครั้ง อีกด้านก็มีความคืบหน้าของวัคซีนโควิด–19 เป็นระยะ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา วัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และในประเทศไทยเองก็ได้สั่งซื้อวัคซีนโควิด–19 จากต่างประเทศเช่นกัน ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับวัคซีนโควิด–19

ตามปกติแล้ว การฉีดวัคซีนจะช่วยสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อนหากเกิดการติดเชื้อขึ้น ซึ่งวัคซีนโควิด–19 ก็เหมือนวัคซีนชนิดอื่นที่ช่วยให้เซลล์สร้างระบบภูมิคุ้มกันจดจำและต่อสู้กับเชื้อโรค แต่ก่อนที่จะเราจะได้รับวัคซีนนั้น บทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจถึงข้อมูลต่าง ๆ ของวัคซีนโควิด–19 กันมากขึ้น

Ampoules,With,Covid-19,Vaccine,On,A,Laboratory,Bench.,To,Fight

รู้จักวัคซีนโควิด–19 ก่อนใช้จริง     

ปัจจุบันทั่วโลกมีการพัฒนาวัคซีนโควิด–19 มากมายและอยู่ในระยะการทดลองที่แตกต่างกัน ในปัจจุบันวัคซีนโควิด–19 ที่รู้ประสิทธิภาพจากการทดสอบทางคลินิกและเริ่มนำมาใช้บ้างแล้วในบางประเทศ คือ วัคซีน BNT162b2 จากบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer–BioNTech) และวัคซีน mRNA–1273 จากบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ที่เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) โดยเป็นการฉีดสารพันธุกรรมที่เรียกว่าเอ็มอาร์เอ็นเอเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนคล้ายกับโปรตีนของไวรัสเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายของเรา

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีน ChAdOx1 nCoV–19 (AZD1222) จากบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นจากเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในลิงชิมแปนซี (Chimpanzee Adenovirus-Vectored) และวัคซีน CoronaVac จากบริษัทซิโนแวค (Sinovac) ที่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย โดยเป็นการนำเชื้อก่อโรคที่เพาะขึ้นใหม่แล้วทำให้ตายหรือไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้มาทำเป็นวัคซีน 

จากการทดลองประสิทธิภาพวัคซีนของแต่ละบริษัทนั้นแตกต่างกันไป ดังนี้

  • วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์–ไบโอเอ็นเทค มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 95 เปอร์เซ็นต์ 
  • วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 94.1 เปอร์เซ็นต์ 
  • วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 70 เปอร์เซ็นต์ 
  • วัคซีนของบริษัทซิโนแวค อยู่ในระหว่างการรอผลการศึกษาที่ชัดเจนในระยะที่ 3 จึงยังต้องรอการสรุปประสิทธิภาพของวัคซีนอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัคซีนบางตัวผ่านการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว แต่ยังคงต้องมีการทดลองต่อไป โดยจะมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในระยะยาวเช่นเดียวกันกับวัคซีนตัวอื่น ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการทดสอบระยะสุดท้ายก่อนนำมาใช้จริง 

จากการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เผยว่าประเทศไทยจะนำเข้าเข้าวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคในช่วงเดือนกุมภาพันธ์‒เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 และได้มีแผนจะนำเข้าวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าด้วยเช่นกัน โดยจะสามารถส่งมอบได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ วัคซีนโควิด–19 ทุกชนิดจะต้องได้รับการอนุมัติและขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรืออย. ก่อนการนำเข้าประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน

วัคซีนโควิด–19 เหมาะสำหรับใครบ้าง ?

กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดกลุ่มผู้ที่ควรได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด–19 ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค อย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง โรคอ้วน โรคหืด โรคปอด โรคตับหรือโรคไตวายเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด–19 ได้แก่ ผู้ที่อาการแพ้อย่างรุนแรงต่อส่วนผสมในวัคซีน ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาตัวด้วยวิธีที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรงและมีไข้สูงในวันที่จะฉีดวัคซีน สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องนั้นยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัยในการใช้วัคซีน

ขั้นตอนการวิจัยและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด–19

วัคซีนป้องกันโควิด–19 ที่จะนำมาใช้นั้นเป็นวัคซีนที่ผ่านการวิจัยอย่างละเอียดถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งาน โดยการวิจัยจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 เป็นการวิจัยเพื่อทดสอบความปลอดภัย ปริมาณของวัคซีน การเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน โดยจะทดสอบกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี จำนวน 20–100 คน
  • ระยะที่ 2 เป็นการทดสอบเพื่อสังเกตถึงผลข้างเคียงที่พบได้มากหลังการฉีดวัคซีน การตอบสนองของร่างกายและความเป็นไปได้ในการป้องกันโรค โดยจะทดสอบกับอาสาสมัครจำนวนหลายร้อยคน
  • ระยะที่ 3 เป็นการทดสอบเพื่อเปรียบเทียบการติดเชื้อระหว่างผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในวงกว้างขึ้น และทำการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันโรค หากพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีประโยชน์มากกว่าเมื่อเทียบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หลังจากนี้ วัคซีนจะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา   
  • ระยะที่ 4 องค์การอาหารและยาจะสังเกตความปลอดภัยหลังการรับรองวัคซีนหลังจากมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน และนักวิจัยจะต้องเก็บข้อมูลในระยะยาว

ในปัจจุบัน เท่าที่มีรายงานผู้ที่มีผลข้างเคียงอย่างรุนแรงต่อการได้รับวัคซีนยังพบได้น้อย แต่การฉีดวัคซีนโควิด–19 ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงหลังเข้ารับการฉีดเข็มแรกหรือเข็มที่สองได้ ได้แก่ อาการปวด บวมหรือแดงในบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น หรือปวดบริเวณข้อต่าง ๆ 

อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายใน 3 วันหลังฉีดวัคซีนและจะมีอาการอยู่เป็นเวลา 1–2 วัน นอกจากนี้ แพทย์จะสังเกตการตอบสนองของร่างกายเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาทีหลังฉีดวัคซีน แต่ในกรณีของผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงหรือเคยมีอาการแพ้หลังฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ แพทย์จะสังเกตการตอบสนองของร่างกายเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีหลังฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและปัจจัยอื่น ๆ รวมกัน

แม้ว่าวัคซีนโควิด–19 มีแนวโน้มว่าจะถูกนำมาใช้ในเวลาอันใกล้นี้ แต่การป้องกันการติดเชื้อไวรัสด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ การเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1–2 เมตร และการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างสม่ำเสมอยังคงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากเรายังไม่มีข้อมูลเพียงพอ และจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนนี้ในระยะยาว

เผยแพร่ครั้งแรก  3 กุมภาพันธ์ 2564