วัคซีน เกราะป้องกันสุขภาพที่จำเป็นสำหรับทุกคน

วัคซีนเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของเราเป็นอย่างมาก เพราะการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันโรค ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคไปยังผู้อื่น และลดความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวัคซีนจะไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านเชื้อโรคอย่างไวรัสหรือแบคทีเรียราวกับว่าร่างกายกำลังได้รับเชื้ออยู่ โดยในปัจจุบันมีวัคซีนด้วยกันหลากหลายชนิด แต่เราควรได้รับวัคซีนชนิดใดกันบ้าง ลองมาศึกษาได้จากบทความนี้

หลายคนไม่ทราบว่าการไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้นเสี่ยงต่อการเกิดโรคและติดโรคจากผู้ป่วยคนอื่นได้ง่าย โดยอาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ แม้การฉีดวัคซีนจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลังการฉีดในบางราย แต่อาการเหล่านั้นมักไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต อย่างไรก็ตาม ถึงวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูง แต่ไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์

วัคซีน

วัคซีนชนิดไหนที่เราควรได้รับ

ไม่เพียงแต่เด็กที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนเท่านั้น วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก็ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน เนื่องจากคนในวัยนี้มีภูมิต้านทานลดลงหรือเชื้อก่อโรคได้ไวมากกว่าเดิม ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคง่ายขึ้นนั่นเอง โดยวัคซีนที่ผู้ใหญ่และเด็กควรได้รับมีดังนี้

วัคซีนบาดทะยัก

บาดทะยักเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani) ซึ่งจะผลิตสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการขากรรไกรแข็ง มีปัญหาในการหายใจ กล้ามเนื้อแข็งแกร็ง เป็นอัมพาต ชัก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 

วัคซีนบาดทะยักนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ มีทั้งวัคซีนบาดทะยักแบบชนิดเดียวและวัคซีนที่ป้องกันโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคนี้จะใช้กันอยู่ 4 ชนิด ตามดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่

  1. วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ 
  2. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สำหรับเด็กเล็ก 
  3. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ 
  4. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ 

ตามปกติแล้วทุกคนควรได้รับวัคซีนบาดทะยักตั้งแต่วัยทารกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด แล้วควรไปฉีดกระตุ้นซ้ำทุก ๆ 10 ปี

วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อไวรัส (Rabies Virus) ในระบบประสาทส่วนกลาง อาการเริ่มต้นจะมีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่อย่างอ่อนแรง ไม่สบายตัว มีไข้ หรือปวดศีรษะ จากนั้นอาการจะพัฒนาไปยังระยะที่รุนแรงจนก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จึงทำได้เพียงฉีดวัคซีนป้องกันโรคเท่านั้น โดยการให้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าจะมีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ การฉีดวัคซีนก่อนถูกสัตว์กัดที่ต้องฉีด 3 เข็ม ในวันที่ 0, 7 , 21 หรือ 28 ตามลำดับ และการฉีดวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัด เบื้องต้นผู้ป่วยควรรีบทำความสะอาดบาดแผล จากนั้นไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนและทำแผลโดยด่วน 

วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

โดยทั่วไป ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมักมีอาการที่รุนแรง เป็นดีซ่าน รู้สึกเบื่อออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อต่อ ปัสสาวะมีสีเข้ม หรืออ่อนแรง หากไม่สามารถกําจัดเชื้อออกไปจากร่างกายได้ ผู้ป่วยจะกลายเป็นพาหะของโรค ซึ่งอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นและยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ในอนาคต โดยปกติเด็กแรกเกิดทุกคนจะได้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่อแรกคลอด ฉีดเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 1-2 เดือน และฉีดเข็มที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน 

ในกรณีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 11 ปี สามารถฉีดได้ในเดือนที่ 0, 1 หรือ 2, และ 6 ส่วนเด็กที่มีอายุ 11-15 ปี อาจฉีดเพียง 2 ครั้ง ในเดือนที่ 0 และเดือนที่ 4-6 โดยให้วัคซีนในปริมาณ 1 มิลลิลิตร เท่ากันกับการฉีดในผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เด็กโตและผู้ใหญ่ควรเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อตรวจวัดภูมิต้านทานก่อนเสมอ หากร่างกายมีภูมิต้านทานสูงอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นพบมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับสองในประเทศไทย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus:HPV) โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยจะเป็นสายพันธุ์ 16 และ 18  ซึ่งส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้นสามารถป้องกันโรคได้นานถึง 10 ปี โดยผู้ป่วยต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1, และ 6 และยังควรฉีดวัคซีนก่อนการมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด เนื่องจากหากได้รับวัคซีนตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่า ทั้งนี้ วัคซีนชนิดนี้ป้องกันได้เพียงเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยเท่านั้น ผู้ป่วยจึงควรตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี    

วัคซีนไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ โดยจะมีอาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดทั่วไปอย่างน้ำมูกไหล จาม เจ็บคอ หรือมีไข้ แต่จะมีอาการอย่างฉับพลันต่างจากไข้หวัดธรรมดาที่จะค่อย ๆ เกิดอาการอย่างช้า ๆ อีกทั้งยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้ด้วย 

การฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงอายุ 18 ปี รวมถึงผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง ภาวะแทรกซ้อน หรือไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีปัญหาในการหายใจหรือการกลืน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคปอด โรคหืด โรคอ้วน โรคไต โรคเบาหวาน หรือโรคเลือด เป็นต้น ทั้งนี้ วัคซีนนี้จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้อย่างถาวร ผู้ป่วยจึงควรฉีดวัคซีนซ้ำทุกปี เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างต่อเนื่อง

วัคซีนโรคอีสุกอีใส

จะเห็นได้ว่ามีเด็กหลายคนที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสวีซีวี (Varicella Zoster Virus: VZV) ทำให้เกิดผื่นคันและตุ่มน้ำพองใสขึ้นตามผิวหนัง จากนั้นจะตกสะเก็ด เกิดอาการคัน และรู้สึกอ่อนเพลีย แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็อาจเกิดอาการที่รุนแรงได้ด้วย เช่น ผื่นลุกลามไปทั่วร่างกาย เกิดบาดแผลภายในลำคอ ดวงตา เยื่อบุท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือช่องคลอด การฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใสนั้นถือได้ว่าปลอดภัยกับตัวเด็ก ซึ่งปกติแล้วจะเข้ารับการฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป แต่แพทย์มักแนะนำให้ฉีดเข็มแรกตั้งแต่อายุ 12-18 เดือน เข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี หรือห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน ในเด็กที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง โดยควรฉีดห่างกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์  

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีวัคซีนฟรีสำหรับทเด็กไทยทุกคนหรือบุคคลตามที่กระทรวงสาธารณสุขให้การสนับสนุน แต่วัคซีนบางชนิดก็มีค่าบริการให้ผู้ป่วยชำระด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนนี้ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อสงสัยและขอคำแนะนำจากแพทย์หรือสถานพยาบาลได้โดยตรง นอกจากนี้ หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนมักจะไม่มีผลข้างเคียง แต่หากเกิดอาการปวดหรือบวมแดงบริเวณผิวหนังที่ถูกฉีดวัคซีน ข้อต่อใกล้จุดที่ถูกฉีดวัคซีน หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

สุดท้ายนี้ นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้ว การดูแลตนเองและปรับพฤติกรรมให้ห่างไกลจากเชื้อโรคอย่างการหมั่นล้างมือให้สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใช้ช้อนกลางตักอาหารอยู่เสมอ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ หรือเมื่อต้องออกไปยังที่ชุมชน รวมทั้งสวมถุงยางอนามัยเพื่อเพื่อป้องกันการติดต่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ได้