ภาวะความดันเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)

ความหมาย ภาวะความดันเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)

Pulmonary Hypertension หรือภาวะความดันเลือดปอดสูง คือภาวะที่ความดันเฉลี่ยหลอดเลือดแดงปอด (Mean Pulmonary Arterial Pressure) มีค่าสูงกว่า 25 มิลลิเมตรปรอทในขณะพัก หัวใจห้องขวาและปอดจึงต้องทำงานหนักขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

Pulmonary Hypertension อาจเป็นผลมาจากกรรมพันธุ์หรือโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและโรคปอด โดยแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามสาเหตุของโรค โดย Pulmonary Hypertension บางประเภทมักไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้อาการดีขึ้นและชะลอความรุนแรงของโรค

ภาวะความดันเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)

อาการของ Pulmonary Hypertension    

ในระยะแรก ผู้ป่วย Pulmonary Hypertension อาจยังไม่แสดงอาการใด ๆ จนเมื่อระยะเวลาผ่านไปหลายเดือนหรือหลายปี ในช่วงแรกผู้ป่วยมักมีอาการหายใจหอบเหนื่อยขณะออกแรง อ่อนเพลีย หน้ามืด และวูบหมดสติ เมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้นอาจรู้สึกเจ็บหน้าอก ขาและข้อเท้าบวมจากการคั่งของของเหลว และริมฝีปากและผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ

เมื่อระยะเวลาผ่านไปอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจหายใจลำบากในขณะพัก และมีอาการท้องมาน (Ascites) ซึ่งเป็นภาวะที่มีของเหลวสะสมที่บริเวณช่องท้อง ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจหยุดทำงานกะทันหันจากภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ และอาการไอเป็นเลือด ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดฝอยในปอดแตก

อาการของ Pulmonary Hypertension แบ่งเป็น 4 ระดับตามความรุนแรงของโรค ดังนี้ 

  • ระดับแรก เป็นระยะที่ตรวจพบโรค แต่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียขณะทำกิจกรรม 
  • ระดับที่ 2 มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอกขณะออกแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ไม่มีอาการในขณะพัก โดยเป็นอาการที่พบได้มากที่สุด
  • ระดับที่ 3 ยังไม่มีอาการขณะพัก แต่จะเกิดอาการต่าง ๆ เมื่อออกแรงเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก
  • ระดับที่ 4 ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เพราะจะมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียแม้ในขณะพัก

สาเหตุของ Pulmonary Hypertension

โดยปกติแล้ว หัวใจห้องขวาจะรับเลือดดำที่ร่างกายใช้แล้วส่งไปฟอกที่ปอด และเลือดแดงที่ผ่านการฟอกจากปอดจะเข้าสู่หัวใจทางห้องซ้าย หัวใจก็จะสูบฉีดเลือดแดงเพื่อนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งการสูบฉีดเลือดของคนทั่วไปเลือดจะไหลเวียนได้ตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม ผนังหลอดเลือดแดงในปอด (Pulmonary Artery) ของผู้ป่วย Pulmonary Hypertension  จะมีความต้านทานเพิ่มขึ้น ทำให้เลือดไหลเวียนได้ยากขึ้น ส่งผลให้หัวใจห้องขวาต้องทำงานหนักขึ้น การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายทำได้น้อยลง และอาจนำไปสู่หัวใจวายwww.pobpad.com/หัวใจวาย (Heart Failure) ได้

Pulmonary Hypertension แบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. ภาวะความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง (Pulmonary Arterial Hypertension หรือ PAH) 

สาเหตุของภาวะนี้อาจเกิดจากขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Pulmonary Arterial Hypertension) หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม 
  • การได้รับยาหรือสารเสพติดบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น โคเคน ทริปโตแฟน (Tryptophan) และแอมเฟตามีน 
  • การติดเชื้อ HIVs 
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue Disease) เช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma) โรครูมาตอยด์ โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus หรือ SLE) และโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผสม (Mixed Connective Tissue disease) 
  • โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)

2. ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงที่เกิดร่วมกับความผิดปกติของหัวใจด้านซ้าย

ความผิดปกติของหัวใจอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดแดงในปอดได้ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของหัวใจที่ทำให้ความสามารถในการบีบตัวหรือคลายตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายลดลง หรืออาจมีสาเหตุจากโรคลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ (Valvular Heart Disease) รวมถึงโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

3. ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงเกิดร่วมกับโรคปอดและภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia)

โรคปอดอาจทำให้การแลกเปลี่ยนแก๊สในปอดมีความผิดปกติอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจน ซึ่งจะกระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด โดยโรคปอดที่อาจทำให้เกิด Pulmonary Hypertension เช่น

  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease)
  • โรคเนื้อเยื่อในปอดอักเสบ (Interstitial Lung Disease)
  • ความผิดปกติของการระบายอากาศไม่เพียงพอ (Alveolar Hypoventilation Disorders)
  • ความผิดปกติในการปรับตัวของร่างกายเมื่ออยู่ในที่สูง เช่น การอยู่บนภูเขาสูง อย่างทิเบต
  • ความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Disordered Breathing) เช่น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ

4. ภาวะที่มีความดันหลอดเลือดแดงปอดสูงจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดเรื้อรัง

โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism) หรือลิ่มเลือดอุดตันประเภทอื่นอาจขัดขวางการไหลเลียนของเลือดหรือทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง Pulmonary Hypertension กลุ่มนี้มีโอกาสรักษาให้หายหรือดีขึ้นได้หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

5. ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงจากสาเหตุอื่น

โรคและความผิดปกติอื่นที่ทำให้เกิดภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง แต่ไม่สามารถจัดให้อยู่ใน 4 กลุ่มที่กล่าวมาได้ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น 

  • โรคที่เกิดจากการอักเสบ เช่น โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) และโรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
  • โรคเลือด เช่น โรคเลือดข้น (Polycythemia Vera) และโรคเกล็ดเลือดสูง (Essential Thrombocythemia)
  • โรคไต
  • ภาวะการเผาผลาญอาหารผิดปกติ (Metabolic Disorders) เช่น ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์และความผิดปกติของการสะสมไกลโคเจน (Glycogen)
  • เนื้องอกที่กดทับบริเวณหลอดเลือดแดงปอด

Pulmonary Hypertension พบบ่อยในเพศหญิง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีแนวโน้มเกิดโรคได้มากขึ้นตามอายุ แต่จะพบมากในผู้ที่มีอายุระหว่าง 30–60 ปี และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีภาวะน้ำหนักเกิน การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อยู่อาศัยบนภูเขาหรือพื้นที่สูง และคนในครอบครัวมีประวัติเป็น Pulmonary Hypertension และโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด

รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เหมือนกัน เช่น การสูดดมหรือสัมผัสแร่ใยหิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และการใช้ยาลดน้ำหนัก สารเสพติด หรือยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRI) เพื่อรักษาโรควิตกกังวลและซึมเศร้า

การวินิจฉัย Pulmonary Hypertension

Pulmonary Hypertension มักตรวจไม่พบในระยะแรก และอาจวินิจฉัยได้ยากเนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายอาการที่เกิดจากโรคหัวใจและปอด การวินิจฉัยจะเริ่มจากการสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และคนในครอบครัว เช่น โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจและปอด โรคภูมิคุ้มกัน และการใช้ยา 

จากนั้นจะมีการตรวจร่างกายและตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยการทำงานของปอดและหัวใจ เช่น การเอกซเรย์ทรวงอก การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) และการตรวจสวนหัวใจห้องขวา

หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการของ Pulmonary Hypertension แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน เพื่อระบุสาเหตุของโรคที่แน่ชัด เช่น การตรวจเลือด CT Scan หรือ MRI บริเวณทรวงอก การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test) การตรวจความสัมพันธ์ระหว่างการหายใจกับเลือดที่ไปเลี้ยงที่ปอด (Ventilation Perfusion Scan) และการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography)  

หากในครอบครัวของผู้ป่วยมีประวัติของ Pulmonary Hypertension แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) และเมื่อผลตรวจเป็นบวก คนในครอบครัวคนอื่น ๆ ก็ควรเข้ารับการตรวจทางพันธุกรรมเช่นกัน

การรักษา Pulmonary Hypertension

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา Pulmonary Hypertension ให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะช่วยชะลอความรุนแรงของโรคและช่วยให้อาการดีขึ้น ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องในระยะยาว โดยวิธีที่ใช้ในการรักษาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ได้แก่

การดูแลตัวเอง

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยจะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น โดยการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นรับประทานธัญพืชขัดสีน้อย ผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของร่างกาย เช่น การเดิน โดยปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการออกกำลังกายให้เหมาะสมตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดอาการอ่อนเพลียและจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น ยกของหนัก แช่หรืออาบน้ำร้อนเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการวูบหมดสติและเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ระมัดระวังเมื่อโดยสารด้วยเครื่องบิน ก่อนเดินทางควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ไม่สูบบุหรี่ เพราะการบุหรี่จะส่งผลต่อปอดและหัวใจ หากไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้เอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำและฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ และวัคซีนโควิด-19 ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจาก Pulmonary Hypertension
  • คุมกำเนิด เพราะโรคนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่อแม่และทารกในครรภ์ หากผู้ป่วยตั้งครรภ์อยู่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • ไม่ใช้ยาคุมกำเนิดที่อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน และปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาทุกชนิด เพราะอาจทำให้อาการของ Pulmonary Hypertension แย่ลงหรือลดประสิทธิภาพการรักษาโรคได้

การใช้ยา

ยาที่ใช้ในการรักษา Pulmonary Hypertension มีหลายชนิด ได้แก่

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะช่วยป้องกันลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงปอด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) โดยผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออกมากผิดปกติได้
  • ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators) เช่น ยาอีโพพรอสทีนอล (Epoprostenol) ชนิดให้ทางหลอดเลือดดำ และยาไอโลพรอส (Iloprost) ชนิดสูด ซึ่งช่วยให้กล้ามเนื้อในหลอดเลือดคลายตัว ทำให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดได้ดีขึ้น
  • ยายับยั้งการจับตัวกันของแคลเซียม (Calcium Channel Blockers)  เช่น ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) และยาไนเฟดิปีน (Nifedipine) ซึ่งช่วยให้กล้ามเนื้อผนังหลอดเลือดคลายตัว เพิ่มการลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปสู่หัวใจ และลดระดับความดันโลหิตลง
  • ยากลุ่มเอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Endothelin Receptor Antagonist) เช่น ยาโบเซนแทน (Bosentan)
  • ยาไดจอกซิน (Digoxin) ช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)
  • ยาขับปัสสาวะ ช่วยให้ไตขับของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกายในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำเกินจากหัวใจห้องขวาล้มเหลว และอาจช่วยลดการสะสมของของเหลวในปอด ขา และหน้าท้อง
  • ออกซิเจน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ เช่น ผู้อาศัยในที่สูง ผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การผ่าตัด

หากอาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการดูแลตนเองและการใช้ยารักษา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดผนังกั้นห้องหัวใจห้องบน (Atrial Septostomy) เป็นการผ่าตัดเปิดผนังกั้นห้องหัวใจระหว่างห้องด้านบนซ้ายและขวา เพื่อลดแรงกดที่ด้านขวาของหัวใจ หรือการผ่าตัดนำลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดออก (Pulmonary Thromboendarterectomy) เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ อาจรักษาด้วยการปลูกถ่ายปอด (Lung Transplantation) หรือการเปลี่ยนถ่ายปอดและหัวใจ (Heart-Lung Transplantation) สำหรับผู้ป่วยอายุน้อยที่มีภาวะ Pulmonary Hypertension โดยไม่ทราบสาเหตุ 

ภาวะแทรกซ้อนของ Pulmonary Hypertension

ภาวะแทรกซ้อนของ Pulmonary Hypertension ที่อาจพบได้ เช่น 

  • ภาวะหัวใจด้านขวาโตและล้มเหลวจากโรคปอดเรื้อรัง เนื่องจากหัวใจห้องขวาต้องใช้แรงบีบมากกว่าปกติเพื่อสูบฉีดเลือดผ่านหลอดเลือดปอดที่ตีบหรือถูกปิดกั้น ทำให้ผนังหัวใจหนาขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจห้องล่างขวาล้มเหลวได้
  • ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดจากโรคเดิมของผู้ป่วยร่วมกับหลอดเลือดตีบแคบลง
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการใจสั่น เวียนศีรษะ เป็นลม และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 
  • ภาวะเลือดออกในปอดหรือไอเป็นเลือด เนื่องจากหลอดเลือดฝอยในปอดแตก
  • ผลข้างเคียงต่อหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของทารกในครรภ์

การป้องกัน Pulmonary Hypertension

เนื่องจาก Pulmonary Hypertension เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ยากต่อการป้องกัน ในเบื้องต้นสามารถลดความเสี่ยงของโรคได้โดยการปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ใช้สารเสพติด และหลีกเลี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสแร่ใยหิน หากไม่สามารถทำได้ควรสวมหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกัน