Sarcoidosis

ความหมาย Sarcoidosis

Sarcoidosis (โรคซาร์คอยโดซิส) คือโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มเซลล์อักเสบ (Granulomas) ที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยมากมักพบบริเวณปอดและต่อมน้ำเหลือง แต่อาจพบได้ที่บริเวณผิวหนัง ดวงตา หัวใจ หรืออวัยวะอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ สาเหตุของ Sarcoidosis ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสารเคมี เป็นต้น

แม้จะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคซาร์คอยโดซิสได้โดยตรง แต่ผู้ป่วยส่วนมากอาจมีอาการดีขึ้นหลังได้รับการรักษาหรืออาการอาจดีขึ้นได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคงอยู่ยาวนานหลายปีและอาจทำให้อวัยวะภายในถูกทำลายได้

Sarcoidosis

อาการของ Sarcoidosis

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่ในรายที่มีอาการเกิดขึ้น อาจเกิดอาการอย่างเฉียบพลันและหายไปเอง หรืออาการอาจค่อย ๆ เกิดและคงอยู่เป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาการของ Sarcoidosis จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดโรค ดังนี้

อาการที่เกิดขึ้นบริเวณปอด

ปอดเป็นบริเวณที่อาจเกิดโรค Sarcoidosis ได้มากที่สุด โดยอาจทำให้เกิดพังผืดในปอดจนผู้ป่วยหายใจลำบากและอาจมีอาการอื่น ๆ ดังนี้ 

  • ไอแห้งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • หายใจติดขัด
  • หายใจมีเสียง (Wheezing)
  • เจ็บหน้าอก

อาการที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง

Sarcoidosis บริเวณผิวหนังอาจทำให้มีอาการดังนี้

  • มีผื่นหรือตุ่มสีแดงหรือสีม่วงช้ำที่ผิวหนัง มักเกิดขึ้นที่บริเวณหน้าแข้งหรือข้อเท้า ผู้ป่วยอาจรู้สึกอุ่นบริเวณที่มีอาการหรือกดแล้วรู้สึกเจ็บ
  • มีแผลบริเวณจมูก แก้ม หรือใบหู
  • เกิดแผลเป็นที่ผิวหนัง
  • ผิวบริเวณที่มีอาการอาจมีสีเข้มหรือสว่างกว่าผิวหนังบริเวณอื่น
  • เกิดก้อนเนื้อ (Nodules) ใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีแผลเป็นหรือรอยสัก
  • ผมหรือขนหลุดร่วงในบริเวณที่มีอาการ

อาการที่เกิดบริเวณดวงตา

Sarcoidosis อาจเกิดขึ้นบริเวณดวงตาได้โดยไม่มีอาการใด ๆ แต่บางรายอาจพบอาการต่อไปนี้

  • ตาพร่ามัวหรือสูญเสียการมองเห็น
  • เจ็บตาหรือรู้สึกแสบร้อนในดวงตา
  • ตาแห้ง
  • ตาแดง
  • ดวงตาไวต่อแสง
  • น้ำตาไหลผิดปกติ

นอกจากนี้ โรค Sarcoidosis อาจกระทบต่อการทำงานที่บริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น ตับ ไต ม้าม กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ ต่อมน้ำเหลือง ระบบประสาท หรืออวัยวะอื่น ๆ โดยอาจทำให้มีอาการดังนี้

  • รู้สึกอ่อนเพลียหรือเป็นลมหมดสติ 
  • น้ำหนักลดผิกปกติ
  • ปวดข้อและกระดูก
  • ปวดศีรษะ มีไข้ 
  • ปากแห้ง 
  • มีเลือดออกทางจมูก 
  • สูญเสียการได้ยิน
  • มีอาการบวมบริเวณต่อมน้ำเหลือง เช่น ใบหน้า ลำคอ ใต้รักแร้ บริเวณขาหนีบ เป็นต้น
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • มีก้อนนิ่วในไต
  • มีอาการชัก

หากมีอาการไอต่อเนื่องโดยอาการไม่ดีขึ้น มีผื่นแดงขึ้น น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกไม่สบาย และมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

สาเหตุของ Sarcoidosis

สาเหตุของโรคซาคอยโดซิสยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากสมาชิกในครอบครัวที่มีประวัติของโรคนี้มาก่อน และได้รับการกระตุ้นจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ฝุ่นละออง หรือสารเคมี จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองมากผิดปกติ ทำให้เกิดกลุ่มเซลล์อักเสบ (Granulomas) ขึ้นที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจนทำให้การทำงานของอวัยวะนั้นผิดปกติ

นอกจากนี้ ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซาร์คอยโดซิสอาจเกี่ยวข้องกับเพศ อายุ และเชื้อชาติ โดยมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สามารถพบได้ในคนทุกวัย แต่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี และพบได้น้อยในเด็ก รวมถึงผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟฟริกันและอเมริกัน หรือยุโรปตอนเหนือ อาจมีโอกาสเป็นโรคซาร์คอยโดซิสได้สูงขึ้น

การวินิจฉัย Sarcoidosis

อาการของ Sacoidosis ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการให้สังเกตได้เพียงเล็กน้อย และอาจมีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ อย่างโรคข้ออักเสบ หรือโรคมะเร็ง การวินิจฉัยจึงอาจทำได้ยาก 

ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ และประวัติครอบครัว จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยการตรวจดูอาการที่ผิวหนัง อย่างผื่นแดงหรือมีตุ่มผิดปกติ ตรวจอาการบวมของต่อมน้ำเหลือง ฟังเสียงของปอดและการเต้นของหัวใจ ตรวจตับและม้ามที่อาจโตผิดปกติ ในบางกรณี แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังนี้

  • การเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจการอักเสบและบวมของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด ต่อมน้ำเหลือง หัวใจ เป็นต้น
  • การทำซีที สแกน (CT Scan) เป็นการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้ภาพการทำงานของอวัยวะภายในช่องอกอย่างละเอียด
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) หรือเพ็ท สแกน (PET Scan) ในกรณีที่มีอาการบริเวณหัวใจหรือระบบประสาท
  • การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests) เพื่อตรวจวัดความสามารถในการทำงานของปอด โดยตรวจวัดปริมาตรปอด (Lung Volume) และปริมาณออกซิเจนที่เข้าสู่ร่างกาย
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG/EKG) เพื่อตรวจการทำงานของหัวใจ
  • การตรวจการมองเห็นหากมีอาการของโรคที่ดวงตา
  • การตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง (Biopsy) ในบริเวณที่พบความผิดปกติ และส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ

การรักษา Sarcoidosis

ในบางกรณี อาการของโรคซาร์คอยโดซิสอาจหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหากไม่มีอาการหรือมีอาการที่ไม่รุนแรง ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา Sarcoidosis โดยตรง วิธีการรักษาโรคจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังนี้

การปรับพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรมอาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เช่น

  • งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นละออง ควันพิษ หรือสารเคมีที่อาจส่งผลเสียต่อปอด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่หลากหลาย 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง
  • ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีระดับแคลเซียมในเลือดหรือปัสสาวะสูง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี (Vitamin D) สูง และหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดเป็นระยะเวลานาน

การใช้ยา

หากมีอาการรุนแรงหรือกระทบต่อการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย แพทย์อาจสั่งจ่ายยารักษาโรค เช่น

  • ยาแก้อักเสบ อย่างยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteriods) เป็นยาที่มักใช้รักษา Sarcoidosis ส่วนมากมักเป็นรูปแบบรับประทาน ในบางกรณี อาจใช้ยาในรูปแบบยาหยอดตาหรือยาทาภายนอกบริเวณผิวหนังที่มีอาการ
  • ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) และยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) เพื่อลดการอักเสบโดยการกดภูมิคุ้มกันในร่างกายไว้

ยาอื่น ๆ ที่อาจนำมาใช้รักษา เช่น ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) เพื่อรักษาอาการบริเวณผิวหนังและปรับระดับแคลเซียมในเลือดให้เป็นปกติ หรือยารักษาโรครูมาตอยด์กลุ่ม TNF-alpha Inhibitors ซึ่งจะใช้ในกรณีที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น

การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

ในบางกรณี แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีอื่น โดยอาจขึ้นอยู่กับอาการและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก เช่น ปอด หัวใจ หรือตับถูกทำลาย การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการอ่อนแรงและเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเพื่อลดอาการที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ และการใช้อุปกรณ์ช่วย อย่างเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac Pacemaker Implantation) หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (Defibrillator) สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลา 2-3 ปีหลังการวินิจฉัย แต่อาการของโรคซาร์คอยโดซิสอาจเกิดขึ้นเป็นระยะหลังจากได้รับการรักษา แพทย์อาจนัดติดตามอาการเป็นระยะเพื่อประเมินผลการรักษาและตรวจดูภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามที่นัดหมาย

ภาวะแทรกซ้อนของ Sarcoidosis

ผู้ป่วย Sarcoidosis ส่วนมากมักไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่อาจมีอาการเรื้อรังและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น

  • พังผืดที่ปอด (Pulmonary Fibrosis) เมื่อไม่ได้รับการรักษา Sarcoidosis จะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension) 
  • การอักเสบในดวงตาอาจทำให้จอประสาทตาถูกทำลายจนอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น และในบางกรณีอาจเกิดต้อกระจกหรือต้อหินได้
  • นิ่วในไต เกิดจากความผิดปกติของระดับแคลเซียมในร่างกาย จึงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง และแม้จะพบได้น้อย แต่อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ การไหลเวียนของเลือด หรือการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ เนื่องจากเกิดจากก้อนเนื้อเยื่ออักเสบบริเวณหัวใจ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  • อัมพาตใบหน้า เป็นการอักเสบของเส้นประสาทบริเวณใบหน้า 
  • ภาวะมีบุตรยากในผู้ป่วยบางราย

หากมีอาการหายใจลำบาก ใจสั่น สายตาพร่ามัว สูญเสียการมองเห็น เจ็บตา ตาแพ้แสง หรือรู้สึกชาที่ใบหน้า ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การป้องกัน Sarcoidosis 

Sarcoidosis เป็นโรคที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ ทำให้ยากต่อการป้องกัน หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรค อย่างการสูบบุหรี่หรือการได้รับสารพิษต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคซาร์คอยโดซิสได้