ฟันตาย

ความหมาย ฟันตาย

ฟันตาย เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อฟันได้รับความเสียหายเนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนมาเลี้ยงได้ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รีบรักษาอาจเกิดการติดเชื้อจนทำให้เป็นหนองในเหงือก เหงือกบวม มีกลิ่นปาก หรือต่อมรับรสเพี้ยน โดยภาวะนี้อาจสังเกตได้ในเบื้องต้นจากสีของฟันที่เปลี่ยนไป

ฟันตายอาจเกิดได้จากการบาดเจ็บบริเวณฟันและการดูแลความสะอาดช่องปากที่ไม่เหมาะสม หากบริเวณฟันเกิดการติดเชื้อก็อาจลามไปยังฟันซี่อื่น เหงือก และกระดูกขากรรไกร ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น เมื่อมีสัญญาณของภาวะนี้ควรไปพบแพทย์ทันที

ฟันตาย

อาการฟันตาย

ฟันเปลี่ยนสีเป็นสัญญาณแรกที่อาจสังเกตได้เมื่อฟันตาย โดยฟันที่ตายแล้วมักจะมีสีเปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับฟันซี่อื่น อาจเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีน้ำตาลอ่อน สีเทา หรือสีดำ ซึ่งสีของฟันจะค่อย ๆ เข้มขึ้นหรือมีสีคล้ำมากขึ้นเมื่อประสาทฟันเริ่มตาย ทั้งนี้ บางคนอาจมีสีฟันขาวเหลืองที่อาจเกิดจากคราบอาหารได้เช่นกัน แต่สีของฟันที่ตายแล้วมักแตกต่างจากฟันที่มีคราบทั่วไป 

เมื่อฟันเกิดการติดเชื้ออาจทำให้เหงือกบวม มีหนอง กดแล้วเจ็บ เจ็บขณะเคี้ยว ต่อมรับรสเพี้ยน มีกลิ่นปาก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น เสียวฟันอย่างรุนแรงเมื่อดื่มน้ำเย็นจัดหรือร้อนจัด และอาจมีอาการปวดหรือตึงบริเวณฟันร่วมด้วย ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของฟันตาย

โดยปกติแล้ว ฟันจะประกอบไปด้วยเคลือบฟันที่อยู่ชั้นนอกสุดมีหน้าที่ป้องกันเนื้อฟันที่อยู่ชั้นถัดมา โดยชั้นในสุดจะเป็นโพรงประสาทฟันที่เต็มไปด้วยเส้นเลือดและเส้นประสาท หากเส้นประสาทและเส้นเลือดบริเวณฟันได้รับความเสียหายก็อาจส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดเกิดความผิดปกติ เมื่อเลือดไม่มีการไหลเวียนก็จะส่งผลให้เนื้อเยื่อฟันขาดออกซิเจนและสารอาหารจนทำให้เซลล์เนื้อเยื่อฟันตายในที่สุด 

การบาดเจ็บของเส้นประสาทและเส้นเลือดในฟันยังอาจเกิดจากฟันแตกหรือฟันร้าว ซึ่งอาจเป็นผลมมาจากอุบัติเหตุ การกระแทกจากการเล่นกีฬา การเคี้ยวของแข็ง และพฤติกรรมนอนกัดฟัน นอกจากนี้ การขาดสุขอนามัยในการดูแลช่องปากที่ดีและโรคปริทันต์ขั้นรุนแรงก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อภายในเนื้อฟัน ทำให้เกิดการอักเสบและฟันตายได้เช่นกัน

การวินิจฉัยฟันตาย

ในขั้นแรกแพทย์จะตรวจดูฟันอย่างละเอียด สอบถามอาการที่พบและสีของฟันที่เปลี่ยนไป จากนั้นอาจตรวจฟันพื้นฐานร่วมกับการใช้เครื่องมือเคาะและใช้เครื่องตรวจการมีชีวิตของฟัน นอกจากนี้ แพทย์อาจดูภาพภายในช่องปากและฟันจากการเอกซเรย์ประกอบการวินิจฉัย ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะดังกล่าวจากการพบทันตแพทย์ประจำปี โดยไม่ทราบถึงอาการดังกล่าวมาก่อน

การรักษาฟันตาย

ภาวะนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังฟันหรืออวัยวะส่วนอื่น โดยวิธีการรักษามีดังนี้

การรักษารากฟัน

การรักษารากฟันเป็นการนำเนื้อฟันส่วนที่ตายออกและทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อ โดยทันตแพทย์จะเติมสารบางอย่างเข้าไปแทนที่เนื้อฟันที่นำออกไป วิธีนี้จะช่วยคงฟันซี่เดิมนั้นไว้ ผู้ป่วยบางรายที่เคลือบฟันสึกหรือบาง แพทย์อาจทำการครอบฟันเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจขึ้นกับฟันและรากฟัน โดยเฉพาะฟันกราม นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกสีครอบฟันเพื่อให้ดูสม่ำเสมอกับฟันซี่อื่นได้ด้วย สำหรับผู้ที่ไม่ได้ครอบฟันอาจใช้วิธีฟอกสีฟันเพื่อปกปิดรอยคล้ำของฟันแทน

การถอนฟัน

ในผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อรุนแรงหรือไม่สามารถใช้วิธีรักษารากฟันได้ แพทย์จำเป็นต้องทำการถอนฟันเพื่อนำฟันที่ติดเชื้อออก การรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลต่อความสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นฟันซี่หน้า ซึ่งแพทย์อาจแนะนำการรักษาอื่นเพิ่มเติมเพื่อทดแทนฟันซี่ที่หายไปหลังจากการถอนฟัน

นอกจากการรักษาที่ตัวฟันแล้ว อาการปวดฟันที่พบอาจรักษาได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการปวดฟันหรือเสียวฟัน อย่างอาหารที่ร้อนจัด เครื่องดื่มเย็น การเคี้ยวของแข็ง หรืออาหารที่มีกรดสูง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนจากฟันตาย

การปล่อยภาวะนี้ไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาอาจทำให้การติดเชื้อลามไปยังฟันซี่อื่น เหงือก หรือกระดูกขากรรไกรจนทำให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งยังอาจกระตุ้นให้กระดูกปลายรากฟันละลายและสึกกร่อนจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการรักษารากฟัน นอกจากนี้ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการติดเชื้อยังส่งผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจได้เช่นกัน

การป้องกันฟันตาย

การลดความเสี่ยงของการเกิดฟันตายสามารถทำได้หลายวิธี เช่น 

  • รักษาสุขภาพช่องปากอย่างเหมาะสม แปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน 
  • รับประทานอาหารที่เหมาะสมต่อสภาพฟัน หลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งเกินไป อาหารรสเปรี้ยว น้ำอัดลม หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง
  • ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค 
  • พบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพฟัน 
  • หากฟันได้รับการกระแทกหรือเสียหาย ควรไปพบทันตแพทย์หรือแพทย์โดยเร็วที่สุด 
  • สำหรับนักกีฬาที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการได้รับแรงกระแทกสูงกว่าคนทั่วไป ควรสวมอุปกรณ์ปกป้องกันฟันหรือฟันยาง (Mouth Guard) ตลอดการเล่นกีฬา 
  • ผู้ที่นอนกัดฟันควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีที่จะช่วยลดอาการดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะฟันตาย