นอนกัดฟัน พฤติกรรมทำร้ายฟันที่แก้ได้

นอนกัดฟันหรือการกัดฟัน (Bruxism) เป็นความผิดปกติที่ใครหลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติของตนเองและไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ในความเป็นจริงแล้ว คนที่นอนกัดฟันอาจเจอปัญหาสุขภาพในช่องปากอย่างฟัน กราม และเหงือกได้มากกว่าที่คิด

คนที่นอนกัดฟันอาจรู้สึกเจ็บกรามและปวดหัวตื้อหลังตื่นนอน ปวดขมับ เสียวฟันเมื่อกินของร้อนหรือเย็น ฟันร้าวหรือแตก ขยับปากได้น้อยลง กรามค้าง ปวดในบริเวณหู ใบหน้าหรือลำคอ บางคนอาจเกิดเสียงดังจากการกัดฟันให้คนนอนข้าง ๆ หรือตัวเองได้ยิน

นอนกัดฟัน พฤติกรรมทำร้ายฟันที่แก้ได้

สาเหตุของอาการนอนกัดฟันยังไม่รู้แน่ชัด โดยอาจเป็นผลมาจากความเครียด ความวิตกกังวล ปัญหาด้านการนอนหลับ โรคประจำตัว การมีฟันเก การใช้ยาบางชนิด การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือการสูบบุหรี่ มาดูกันว่าวิธีรับมือการนอนกัดฟันได้อย่างเหมาะสมนั้นมีอะไรบ้าง

รับมืออย่างไรหากนอนกัดฟัน

คนที่มีปัญหานอนกัดฟันอาจบรรเทาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การบรรเทาอาการนอนกัดฟันในเบื้องต้นเริ่มจากควรรับประทานอาหารที่เหนียวหรือเคี้ยวยากอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่แข็ง ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่ควรสูบบุหรี่ ไม่เคี้ยวหมากฝรั่ง พยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อบนใบหน้า นวดกล้ามเนื้อในบริเวณใบหน้า คอหรือไหล่ และประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด 

คลายเครียด

การคลายความเครียด ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้านั้นสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มองโลกในแง่บวก พูดคุยหรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จัดสรรเวลาการทำงานและการพักผ่อนอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

การบริหารช่องปาก (Mouth Exercises)

การบริหารช่องปากเพื่อคลายกล้ามเนื้อในบริเวณใบหน้าและกรามนั้นมีอยู่หลายวิธี เช่น เอามือแตะไปที่ข้อต่อขากรรไกร จากนั้นค่อย ๆ อ้าปากและค้างไว้เป็นเวลา 5–10 นาทีก่อนจะค่อย ๆ หุบปากลง หรือลองเม้มริมฝีปากโดยไม่ให้ฟันบนและฟันล่างชนกัน ใช้ลิ้นยันเพดานปากโดยไม่ให้ลิ้นชนฟัน 

การรักษาทางการแพทย์

ในกรณีที่นอนกัดฟันติดต่อกันเป็นเวลานาน มีอาการปวดกรามหรือปวดหัวบ่อยครั้ง ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใส่เฝือกสบฟัน (Mouth Guard หรือ Occlusal Splint) ในระหว่างการนอนหลับเพื่อป้องกันการกัดฟัน และอาจช่วยให้กรามหรือกล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวเกิดความผ่อนคลาย นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยารักษาโรควิตกกังวลเพื่อรักษาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ  

นอนกัดฟันเป็นอาการที่สามารถบรรเทาได้ หากสังเกตเห็นว่าตนเองหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดนอนกัดฟันอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาทันตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อบรรเทาอาการอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจทำให้มีปัญหาด้านการนอนหลับ ปวดกรามหรือใบหน้าอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อใบหน้าใหญ่ขึ้น ฟันเสียหาย หรืออาจก่อให้เกิดภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Disorder) ได้ในภายหลัง