พาร็อกซีทีน

พาร็อกซีทีน

Paroxetine (พาร็อกซีทีน) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอที่ออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของสารเซโรโทนินในสมอง โดยนำมาใช้รักษาอาการที่เกิดจากโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคแพนิค โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง กลุ่มอาการผิดปกติรุนแรงก่อนมีประจำเดือน และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

เกี่ยวกับยา Paroxetine

กลุ่มยา ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการของโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรคแพนิค
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์
จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่
อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต
หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้

1973 Paroxetine rs

คำเตือนในการใช้ยา Paroxetine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติการแพ้ยา Paroxetine หรือแพ้ส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงแพ้ยาชนิดอื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วยและครอบครัว โดยเฉพาะหากเคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด โรคตับ โรคไต โรคความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด อาการชัก โรคลมชัก โรคไบโพลาร์ โรคต้อหินชนิดมุมแคบ ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ รวมทั้งประวัติในการใช้สารเสพติดหรือการคิดฆ่าตัวตาย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพรต่าง ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาหรือการผ่าตัดใด ๆ
  • ห้ามใช้ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอภายในเวลา 14 วันก่อนหรือหลังจากใช้ยา Paroxetine เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยได้
  • ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ในระหว่างที่ใช้ยาพิโมไซด์หรือยาไทโอริดาซีน
  • ห้ามเริ่มหรือหยุดใช้ยา Paroxetine ในขณะตั้งครรภ์โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยา เนื่องจากยาชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงต่อบุตรได้
  • ผู้สูงอายุอาจไวต่อการเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น มีเลือดออก สูญเสียการทรงตัวและการทำงานประสานกันของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุอย่างการหกล้ม เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะร่วมด้วย
  • ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจคิดฆ่าตัวตายหลังใช้ยาต้านเศร้า จึงควรระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อยู่เสมอ หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบในทันที
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยากับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก เนื่องจากยาชนิดนี้อาจส่งผลให้เด็กมีความอยากอาหารลดลงจนทำให้มีน้ำหนักตัวลดลง ซึ่งอาจกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้

ปริมาณการใช้ยา Paroxetine

ภาวะซึมเศร้า
ตัวอย่างการใช้ยา Paroxetine เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้า

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยา 20 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน

โรคย้ำคิดย้ำทำ
ตัวอย่างการใช้ยา Paroxetine เพื่อรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาคงที่อยู่ที่ 40-60 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน

โรควิตกกังวล
ตัวอย่างการใช้ยา Paroxetine เพื่อรักษาโรควิตกกังวล

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน

โรคกลัวการเข้าสังคม
ตัวอย่างการใช้ยา Paroxetine เพื่อรักษาโรคกลัวการเข้าสังคม

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์ โดยเพิ่มครั้งละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาคงที่ 50-60 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน

กลุ่มอาการผิดปกติรุนแรงก่อนมีประจำเดือน
ตัวอย่างการใช้ยา Paroxetine เพื่อรักษากลุ่มอาการผิดปกติรุนแรงก่อนมีประจำเดือน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยา Paroxetine ในรูปแบบที่อยู่ร่วมกับไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถปล่อยยาเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น โดยรับประทานปริมาณเริ่มต้น 12.5 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง ควรรับประทานยาในตอนเช้า และอาจเพิ่มปริมาณยาหลังจากผ่านไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 25 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งในกรณีที่จำเป็นอาจใช้ยาชนิดนี้ในช่วงที่มีประจำเดือนหรือช่วงที่มีไข่ตก
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน

โรคแพนิค
ตัวอย่างการใช้ยา Paroxetine เพื่อรักษาโรคแพนิค

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณทุกสัปดาห์ตามการตอบสนองต่อการรักษา โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาคงที่อยู่ที่ 40-60 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน

โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง
ตัวอย่างการใช้ยา Paroxetine เพื่อรักษาโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาในปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Paroxetine

  • ใช้ยาตามฉลากและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทานยาโดยกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหัก บด หรือเคี้ยวยา
  • สามารถรับประทานยา Paroxetine ได้ทั้งพร้อมอาหารหรือในขณะท้องว่าง โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามแบ่งยารับประทานร่วมกับผู้อื่น
  • ห้ามใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำหรือตามที่ฉลากระบุไว้ และห้ามใช้ยาเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
  • ห้ามหยุดใช้ยา Paroxetine อย่างกะทันหันหากไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงเวลาที่ต้องใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • รับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การขับรถ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา
  • ในการใช้ยา Paroxetine ชนิดน้ำ ควรเขย่าขวดยาก่อนรับประทานทุกครั้ง และใช้ช้อนตวงหรืออุปกรณ์วัดปริมาณอื่น ๆ เพื่อให้ใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสม
  • สำหรับผู้ที่ใช้ยานี้เพื่อรักษากลุ่มอาการผิดปกติรุนแรงก่อนมีประจำเดือน แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาทุกวัน หรืออาจแนะนำให้ใช้เพียง 2 สัปดาห์ก่อนช่วงมีประจำเดือนจนพ้นวันแรกของช่วงมีประจำเดือน
  • เก็บรักษายาในอุณหภูมิห้อง ซึ่งควรเก็บให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ และควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Paroxetine

การใช้ยา Paroxetine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ง่วงซึม มีเหงื่อออกมาก ตัวสั่น การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ท้องผูก สมรรถภาพทางเพศลดลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • เกิดปัญหาทางสายตา เช่น ปวดตา ตาบวม สายตาพร่ามัว มองเห็นชัดเจนเฉพาะตรงกลาง เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ และอาจส่งผลให้เกิดโรคต้อหินมุมปิด เป็นต้น
  • ปวดกระดูก และอาจมีอาการบวมหรือช้ำบริเวณกระดูก
  • มีความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวและความอยากอาหาร
  • เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
  • เกิดรอยช้ำง่าย มีเลือดออกผิดปกติ หรือไอเป็นเลือด
  • มีระดับโซเดียมในร่างกายต่ำ ซึ่งอาจส่งผลให้ปวดศีรษะ มึนงง พูดไม่ชัด รู้สึกอ่อนแรง สูญเสียการทำงานประสานกันของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และรู้สึกไม่ค่อยมั่นคง
  • มีปัญหาทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้อแข็งหรือกระตุก ไข้ขึ้นสูง มีเหงื่อออก มึนงง หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น เป็นลม เป็นต้น
  • มีอาการบวมบริเวณใบหน้าหรือลิ้น แสบตา ปวดบริเวณผิวหนัง มีผื่นสีแดงหรือสีม่วง และอาจเกิดตุ่มพองหรือผิวลอกได้

เผชิญกลุ่มอาการเซโรโทนิน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว เห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียงที่ไม่มีจริง สูญเสียความสมดุลในร่างกาย หงุดหงิด วิงเวียนศีรษะ เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียอย่างรุนแรง