ประจำเดือน

ความหมาย ประจำเดือน

ประจำเดือน คือภาวะที่เนื้อเยื่อภายในมดลูกหลุดลอกออกมาพร้อมกับเลือดบางส่วน โดยเป็นผลมาจากการเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ในทุก ๆ รอบเดือนของร่างกาย เมื่อไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ร่างกายจึงปรับสภาพกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้เยื่อบุมดลูกที่สร้างมารองรับตัวอ่อนหลุดออกมากลายเป็นเลือดประจำเดือนนั่นเอง

ประจำเดือน

โดยปกติผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกในช่วงอายุ 12-13 ปี ก่อนจะค่อย ๆ เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ในช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี แต่ในบางกรณีที่มีอาการป่วยหรือได้รับการรักษาที่กระทบต่อรอบเดือนก็อาจทำให้ประจำเดือนหมดก่อนวัยได้เช่นกัน

อาการของประจำเดือน

ผู้หญิงมักมีประจำเดือนครั้งละประมาณ 3-5 วัน  หากมีรอบเดือนปกติ จะมาตรงกันในทุก ๆ เดือน ทั้งนี้ ก่อนถึงช่วงมีประจำเดือน ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS)  ซึ่งอาจส่งผลทางร่างกายและจิตใจ ดังนี้

อาการทางร่างกาย ได้แก่

  • ปวดศีรษะ
  • ท้องอืด
  • น้ำหนักขึ้น
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ง่วงนอนผิดปกติ
  • เต้านมคัดตึง
  • เป็นตะคริว หรือมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และหลังส่วนล่าง
  • รู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ
  • ความต้องการทางเพศต่ำ

อาการทางด้านจิตใจและพฤติกรรม ได้แก่

  • มีอารมณ์เศร้าหรือเสียใจ
  • โกรธหรือหงุดหงิดง่าย และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว
  • อารมณ์แปรปรวน
  • วิตกกังวลง่าย
  • มีพฤติกรรมแยกตัวจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้าง
  • ไม่มีสมาธิ ไม่กระตือรือร้น

เมื่อเข้าสู่ช่วงมีประจำเดือนแล้ว เลือดประจำเดือนจะเริ่มไหลออกมาพร้อมกับผนังมดลูกที่หลุดลอก และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่

  • อาการปวดท้องประจำเดือน โดยจะรู้สึกปวดบีบบริเวณท้องหรือท้องน้อย
  • ท้องอืด
  • เจ็บหน้าอก
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • อารมณ์แปรปรวนและหงุดหงิดง่าย
  • ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
  • รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงควรสังเกตอาการในช่วงที่มีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ หากพบความเปลี่ยนแปลงของรอบเดือนหรือมีอาการผิดปกติติดต่อกันนานกว่า 3 รอบเดือน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด โดยอาการผิดปกติที่ควรสังเกต ได้แก่

  • มีประจำเดือนติดต่อกันนานกว่า 7 วัน
  • ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลานานกว่า 90 วัน
  • มีรอบเดือนผิดปกติอย่างฉับพลันหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น มาถี่เกินไปหรือมาช้าเกินกว่ารอบเดือนปกติ
  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติหรือต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยผิดปกติ
  • มีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง
  • มีไข้สูงหรือรู้สึกไม่สบายอย่างเฉียบพลันหลังจากใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
  • เด็กผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่มีประจำเดือนช้ากว่าอายุ 15 ปี
  • เด็กผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่หน้าอกเริ่มขึ้นได้ 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีประจำเดือน หรืออายุ 13 ปี แล้วหน้าอกยังไม่ขึ้น

สาเหตุของประจำเดือน

สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีประจำเดือนคือรอบเดือน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่เกิดขึ้นทุก ๆ เดือน แต่ละรอบเดือนยาวประมาณ 28 วัน แต่ผู้หญิงบางคนอาจมีรอบเดือนในช่วงตั้งแต่ 21-35 วันได้ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีเลือดประจำเดือนออกมาไปจนถึงก่อนวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งถัดไป ซึ่งรอบเดือนนี้จะถูกควบคุมโดยการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่ส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์ทำงาน

ทั้งนี้ ประจำเดือนจะไหลออกมาในช่วงแรกของรอบเดือนเป็นเวลาประมาณ 3-5 วัน เรียกว่าระยะประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ผนังมดลูกหนาตัวขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนอันเป็นกลไกเตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว แต่เมื่อไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ไข่จึงฝ่อไปพร้อมกับเยื่อบุมดลูกที่หลุดลอกออกจากผนังมดลูก และขับออกมาทางช่องคลอดกลายเป็นเลือดประจำเดือนในที่สุด

การวินิจฉัยประจำเดือน

เนื่องจากประจำเดือนเป็นกลไกที่เกิดขึ้นโดยปกติในทุก ๆ เดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงคาดคะเนวันที่ประจำเดือนจะมาได้ด้วยการนับรอบเดือน แต่ในบางกรณีประจำเดือนอาจเลื่อน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ  เช่น ความเครียด ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน น้ำหนักขึ้นหรือลงมากผิดปกติ อาการอ่อนเพลีย การหยุดใช้ยาคุมกำเนิด การให้นมลูก การออกกำลังกายมากขึ้น อาการเจ็บป่วย การติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้หญิงอาจสังเกตการมีประจำเดือนได้จากอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น ปวดท้อง เต้านมคัด อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน อย่างไรก็ตาม หากเลือดที่ออกมาจากช่องคลอดมีลักษณะผิดปกติหรือประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนมาไม่ตรงกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ โดยแพทย์อาจตรวจด้วยวิธีทางสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นประจำเดือน

ในช่วงระหว่างมีประจำเดือน กล้ามเนื้อที่มดลูกจะบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ ทำให้ผู้หญิงอาจรู้สึกไม่สบายหรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยได้ ซึ่งวิธีบรรเทาอาการนั้นทำได้หลากหลายวิธี ได้แก่

  • การประคบร้อนด้วยถุงน้ำร้อน
  • การรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs ได้แก่ ยาเมเฟนามิกแอคซิด ยานาพรอกเซน ยาไอบูโพรเฟน ยาระงับอาการปวด เป็นต้น

ทั้งนี้ หากมีอาการปวดประจำเดือนมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลให้ปวดมากขึ้น พักผ่อนให้มาก หรือหากิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวด เช่น การฝึกหายใจ โยคะ หรือไทชิ  นอกจากนี้ การเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้เช่นกัน ทว่าหากอาการยิ่งรุนแรงขึ้นหรือเรื้อรังผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาการปวดนั้นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้

ภาวะแทรกซ้อนของประจำเดือน

ประจำเดือนเป็นภาวะปกติที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้หญิงแต่อย่างใด ทว่าหากประจำเดือนมามากหรือมานานกว่าปกติ อาจทำให้เกิดภาวะมีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น

  • โรคโลหิตจาง การสูญเสียเลือดจากประจำเดือนมากเกินไปอาจส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลงและต้องการธาตุเหล็กในการผลิตฮีโมโกลบินมากขึ้น ซึ่งหากร่างกายไม่ได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอก็จะทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในที่สุด โดยอาการของโรคหิตจางที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ อ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายผิดปกติ
  • อาการปวดประจำเดือนที่รุนแรง การมีประจำเดือนมากผิดปกติจะส่งผลให้ผู้หญิงปวดประจำเดือนรุนแรงยิ่งขึ้น จนทำให้วิธีบรรเทาอาการด้วยตนเองอย่างการประคบร้อนและการรับประทานยาระงับปวดนั้นใช้ไม่ได้ผล และอาจต้องเข้ารับการตรวจทางการแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนต่อไป