ปลูกผม ทางเลือกสำหรับผู้มีปัญหาผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้าน

การปลูกผม (Hair Transplantation) เป็นหนึ่งในวิธีการศัลยกรรมผิวหนังเพื่อแก้ไขปัญหาผมบาง หรือปัญหาศีรษะล้าน การปลูกผมสามารถทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมกับผู้เข้ารับการปลูกผมแต่ละคน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

การปลูกผมสามารถทำได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเสริมความมั่นใจในผู้ที่มีปัญหาศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ ผู้ที่มีปัญหาผมบาง หรือผู้ที่สูญเสียเส้นผมจากการได้รับอุบัติเหตุไฟไหม้หรือการบาดเจ็บที่หนังศีรษะ อย่างไรก็ตาม มีข้อควรรู้เกี่ยวกับการปลูกผมที่ควรทราบก่อนตัดสินใจทำ ซึ่งผู้ที่สนใจปลูกผมสามารถศึกษาได้จากบทความนี้

ปลูกผม ทางเลือกสำหรับผู้มีปัญหาผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้าน

วิธีการปลูกผม

การปลูกผมสามารถทำได้หลายวิธี แต่โดยหลัก ๆ แล้วสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ ได้แก่

1. การปลูกผมแบบตัดหนังศีรษะ (Follicular Unit Strip Surgery: FUSS)

วิธีนี้เป็นวิธีปลูกผมที่แพทย์จะนำหนังศีรษะบริเวณที่มีเส้นผม เช่น บริเวณท้ายทอย ขึ้นมาเย็บติดกับหนังศีรษะบริเวณที่ไม่มีผม โดยบริเวณท้ายทอยที่ได้ทำการผ่าตัดเอาหนังศีรษะออกมาจะถูกเย็บปิดแผลและกลายเป็นแผลเป็นต่อไป

2. การปลูกผมแบบไม่ผ่าตัด (Follicular Unit Extraction: FUE)

วิธีนี้เป็นวิธีการปลูกผมที่นำกอผมจากบริเวณหนังศีรษะของผู้เข้ารับการปลูกผมฝังลงไปบนหนังศีรษะ โดยวิธีนี้จะแบ่งออกได้อีกเป็น 2 ประเภทย่อย ๆ ได้แก่

  • การปลูกโดยใช้รากผมในปริมาณที่มาก (Slit Grafts) โดยแพทย์จะใช้รากผม 4–10 รากต่อหลุมผมในแต่ละหลุม
  • การปลูกโดยใช้ปริมาณผมน้อย (Micro-Grafts) โดยแพทย์จะใช้รากผมเพียง 1–2 รากต่อหลุมผมในแต่ละหลุม

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการปลูกผมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการปลูกผมแบบถาวร (FUE) เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้ผลดี อีกทั้งยังไม่ทำให้มีแผลเป็นจากการปลูกผมอีกด้วย

ข้อควรทราบก่อนปลูกผม

แม้ว่าการปลูกผมจะสามารถช่วยแก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง หรือศีรษะล้านได้ แต่วิธีก็อาจจะไม่เหมาะกับบางคนที่เข้าข่ายดังต่อไปนี้

  • ผู้หญิงมีลักษณะศีรษะล้านแบบกระจัดกระจาย หรือมีศีรษะล้านเป็นบริเวณกว้าง
  • ผู้ที่มีปริมาณผมที่ใช้ในการปลูกไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องคีลอยด์ หรือแผลเป็นง่ายเมื่อผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บ
  • ผู้ที่มีสาเหตุของศีรษะล้านอันเนื่องมาจากการรักษาทางการแพทย์ เช่น เคมีบำบัด 

การเตรียมตัวก่อนปลูกผม

ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการปลูกผม แพทย์จะต้องระบุสาเหตุของปัญหาผมบางหรือศีรษะล้านก่อน เพื่อนำผลที่ได้มาวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้การปลูกผมเพื่อแก้ปัญหาหรือไม่ โดยหากปัญหานั้นมีสาเหตุมาจากวิธีการรักษาโรคบางชนิด การใช้ยา หรือเป็นเพียงอาการผมร่วงที่เกิดขึ้นชั่วคราว แพทย์ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้การปลูกผมเข้าช่วย

หลังจากทราบสาเหตุแล้ว แพทย์จะแนะนำขั้นตอนในการเตรียมตัวเข้ารับการปลูกผม ซึ่งผู้เข้ารับการปลูกผมจะต้องทำตามอย่างเคร่งครัดเพื่อเลี่ยงการเกิดปัญหาในขณะทำการปลูกผมและภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบภายหลัง โดยแนวทางการปฏิบัติตนก่อนเข้ารับการปลูกผมมีดังนี้

  • งดสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่ควรหยุดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัดและหลังจากการปลูกผมอย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากการสูบบุหรี่จะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังผิวหนัง และส่งผลให้แผลจากการปลูกผมหายช้าลง
  • หยุดการรับประทานยาบางชนิด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนด เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาได้
  • สระผมให้สะอาดและหลีกเลี่ยงการจัดแต่งทรงผม ในวันที่มีการปลูกผม ควรสระผมให้สะอาดตั้งแต่ตอนเช้า และเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมทุกชนิด รวมถึงบางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้เข้ารับการปลูกผมงดการตัดผมอย่างน้อย 1 เดือนก่อนเริ่มทำการปลูกผมเพื่อให้ผมส่วนอื่นยาวพอที่จะนำมาปิดส่วนที่ปลูกผมได้

ขั้นตอนการปลูกผม

แพทย์จะเริ่มขั้นตอนการปลูกผมด้วยการทำความสะอาดหนังศีรษะและฉีดยาชาเฉพาะที่ ก่อนจะค่อย ๆ โกนผมที่ปกคลุมบริเวณที่ทำการปลูกผมออกเพื่อให้เห็นหนังศีรษะได้ชัดเจน จากนั้นวิธีต่อ ๆ ไปก็จะเริ่มแตกต่างกันไปตามวิธีที่ใช้

โดยถ้าเป็นการผ่าตัดหนังศีรษะ แพทย์จะผ่าตัดนำหนังศีรษะที่ท้ายทอยออกมาปลูกบริเวณที่ไม่มีผม แล้วเย็บปิดแผลบริเวณที่นำหนังศีรษะออกมา

ส่วนวิธีแบบไม่ผ่าตัด แพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษดึงเฉพาะเซลล์รากผมออกแล้วนำไปปลูกถ่ายบริเวณที่ต้องการปลูกผม โดยแพทย์อาจขีดแบ่งพื้นที่บนหนังศีรษะ ก่อนจะใช้แว่นขยายและมีดผ่าตัดขนาดเล็กค่อย ๆ กรีดและนำรากผมฝังลงไปบนหนังศีรษะ

ทั้งนี้ การปลูกผมอาจจะต้องทำซ้ำหลายครั้ง โดยในแต่ละครั้ง แพทย์อาจทำการปลูกผมในปริมาณตั้งแต่หลายร้อยเส้น ไปจนถึงหลายพันเส้น ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงขึ้นไป และเมื่อการปลูกผมเสร็จสิ้น แพทย์จะนำผ้าก๊อชหรือผ้าพันแผลที่สามารถระบายอากาศได้มาปิดบริเวณที่ทำการปลูกผมไว้ประมาณ 1–2 วัน และทำการนัดหมายวันปลูกผมถัดไป

การดูแลตัวเองหลังปลูกผม

หลังจากการปลูกผม หนังศีรษะของผู้เข้ารับการปลูกผมอาจมีอาการบวม และอาจต้องใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ นอกจากนี้แพทย์ยังอาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านอาการอักเสบต่อเนื่องหลายวันร่วมด้วย

เมื่อผ่านไปประมาณ 2–3 สัปดาห์หลังการปลูกผม ผมที่รับการปลูกถ่ายมาจะเริ่มร่วง ซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติใด ๆ เนื่องจากผมเส้นใหม่จะค่อย ๆ ขึ้นภายในเวลาต่อมา โดยในบางกรณี แพทย์อาจให้ใช้ยาเร่งผมยาวร่วมด้วยเพื่อช่วยให้ผมขึ้นหลังจากการปลูกผม แต่ในปัจจุบันยังไม่มีผลแน่ชัดว่าวิธีนี้จะช่วยได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ การปลูกผมด้วยวิธีการศัลยกรรมอาจส่งผลให้ผู้เข้ารับการปลูกผมเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดมาจากการติดเชื้อ เช่น

  • เลือดออกมากผิดปกติ
  • เกิดการติดเชื้อบนหนังศีรษะ
  • หนังศีรษะบวม
  • มีรอยช้ำบริเวณรอบดวงตา
  • มีแผลตกสะเก็ดหรือน้ำเหลืองที่บริเวณหนังศีรษะที่ทำการปลูกผม หรือบริเวณที่ผมถูกย้ายไปปลูกที่อื่น
  • รู้สึกชาหรือไม่มีความรู้สึกบริเวณหนังศีรษะที่ทำการปลูกผม
  • มีอาการคัน
  • แผลเป็นบนหนังศีรษะจากการปลูกผม
  • เกิดอาการอักเสบหรือการติดเชื้อที่ต่อมขุมขน (Folliculitis)

หลังการปลูกผม หากผู้ที่เข้ารับการปลูกผมพบว่าเส้นผมไม่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่งแล้ว หรือพบภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะเมื่ออาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาทันที