ย้อมสีผมกับความเสี่ยงจากสารเคมี

ย้อมสีผม เป็นแฟชั่นกระแสนิยมที่แพร่หลายทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนย้อมสีผมเป็นประจำโดยไม่คำนึงถึงส่วนประกอบและสารเคมีในผลิตภัณฑ์ที่อาจระคายเคืองต่อผิวหนัง และทำให้เกิดอาการแพ้ เพราะผิวหนังบางคนบอบบางและไวต่อสารเคมีบางชนิดมากกว่าคนอื่น ที่สำคัญ ยาย้อมสีผมส่วนใหญ่อาจไม่ได้ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัย เช่นเดียวกันกับสารแต่งสีในเครื่องสำอางชนิดอื่น

ย้อมสีผม

ชนิดของยาย้อมสีผม

ปัจจุบัน มียาย้อมสีผมผลิตออกมาหลายชนิด เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค เช่น ส่วนประกอบ ความคงทนของสี รูปแบบวิธีการใช้ เป็นต้น

ยาย้อมสีผมแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังต่อไปนี้

  • แบบชั่วคราว เป็นยาย้อมสีผมชนิดที่เคลือบสีไว้บนพื้นผิวของเส้นผม ไม่ได้แทรกซึมเข้าสู่เส้นผม สีผมจะคงทนอยู่ได้ไม่นาน และอาจหลุดออกหลังสระผมเพียง 1-2 ครั้ง
  • แบบกึ่งถาวร เป็นยาย้อมสีผมชนิดที่แทรกซึมลึกเข้าไปในเส้นผม และมีความคงทนนานระดับหนึ่ง โดยสีอาจหลุดออกหลังสระผมไปประมาณ 5-10 ครั้ง
  • แบบถาวร (ออกซิเดชัน) เป็นชนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีส่วนประกอบของไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) และสารไม่มีสีอย่าง อโรมาติคเอมีน (Aromatic Amine) ฟีนอล (Phenol) เมื่อนำมาผสมกันจะเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ยาย้อมสีผมชนิดนี้แทรกซึมเข้าไปในเส้นผม และคงอยู่อย่างถาวรจนกว่าผมใหม่จะงอกขึ้นมา และยิ่งเป็นยาย้อมสีผมที่มีสีเข้ม อาจมีส่วนประกอบเหล่านี้ในปริมาณค่อนข้างมาก

สารเคมีในยาย้อมสีผม

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนสารเคมีที่ใช้ในยาย้อมสีผมอยู่ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์นี้ โดยยาย้อมสีผมมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันกว่า 1,000 ชนิด แต่สารเคมีหลักที่พบในผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม ได้แก่

  • อโรมาติคเอมีน
  • ฟีนอล
  • แอมโมเนีย
  • ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์
  • ตะกั่วอะซิเตท (Lead Acetate)
  • สารพาราฟินีลินไดอะมีน (Paraphenylenediamine: PPDA)

ยาย้อมสีผมอันตรายจริงหรือ ?

หลายคนสงสัยว่ายาย้อมสีผมอันตรายจริงหรือไม่ เนื่องจากผู้ใช้บางรายไม่แสดงอาการแพ้แต่อย่างใด ในขณะที่ผู้ใช้บางรายกลับมีอาการระคายเคือง หรือมีอาการแพ้รุนแรงทั่วร่างกาย

แท้จริงแล้ว การแสดงอาการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความไวของผิวในการตอบสนองต่อสารในยาย้อมสีผมแต่ละชนิด ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล หากพบว่าตนเองเกิดอาการระคายเคือง หรือมีอาการแพ้แม้เพียงเล็กน้อย เช่น แสบหนังศีรษะ ผิวหนังแดง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้ยาย้อมผมนั้นซ้ำ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะจดจำสารเคมีนั้นไว้ และทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงขึ้นได้ในการใช้ครั้งต่อไป

ในยาย้อมสีผมมีสารเคมีหลายชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เช่น สารพาราฟินีลินไดอะมีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบได้ทั่วไปในยาย้อมสีผมชนิดถาวรและกึ่งถาวร สารนี้มักก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ และอาการระคายเคือง จึงต้องควบคุมจำกัดปริมาณที่บรรจุในผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด

ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจากการใช้ยาย้อมผม ได้แก่

อาการระคายเคืองเล็กน้อย ผู้ใช้อาจรู้สึกระคายเคืองบริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก หู ดวงตา และคอ แต่หากยาย้อมสีผมสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ผิวอาจบวมแดง แห้งแตก หนาขึ้น หรือมีตุ่มพอง จนทำให้รู้สึกแสบร้อนหรือคันยิบ ๆ แม้สารที่รุนแรงจะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองในทันที แต่ผู้ใช้อาจมีอาการเหล่านี้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังย้อมสีผมได้

อาการแพ้ ผู้แพ้สารพาราฟินีลินไดอะมีนจะมีอาการบวมหรือคันบริเวณหนังศีรษะและใบหน้า รู้สึกป่วย และมีผื่นคันหรือลมพิษทั่วร่างกาย ซึ่งอาการอาจปรากฏขึ้นได้หลังย้อมสีผมผ่านไปหลายชั่วโมงหรือหลายวัน
ส่วนอาการแพ้รุนแรง หรือภูมิแพ้ชนิดเฉียบพลัน (Anaphylaxis) อาการจะปรากฏภายในไม่กี่นาทีหลังย้อมสีผม ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • คันผิวหนัง หรือมีผื่นคันสีแดงขึ้นตามผิวหนัง
  • มีอาการบวมบริเวณดวงตา ริมฝีปาก มือ และเท้า โดยเปลือกตาอาจบวมมากจนตาปิดได้
  • ปาก ลิ้น และคอบวม จนอาจหายใจหรือกลืนอาหารลำบาก
  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • หมดสติ

มะเร็ง ทุกวันนี้ ยังไม่มีงานวิจัยใดที่สามารถเป็นหลักฐานยืนยันว่ายาย้อมสีผมก่อมะเร็งได้ แต่มีงานค้นคว้าบางส่วนพบว่า การใช้ยาย้อมสีผมเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ผู้ใช้ยาย้อมสีผมที่ไม่แสดงอาการป่วยจะไม่ได้รับอันตรายอื่น ๆ จากการย้อมสีผม เพราะยังไม่มีงานวิจัยใดศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว

ย้อมสีผมแล้วเกิดอาการแพ้ ต้องทำอย่างไร ?

หากย้อมสีผมแล้วเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แต่หากมีอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการด้วยตนเอง ดังนี้

  • ล้างหนังศีรษะด้วยแชมพู เพื่อกำจัดยาย้อมสีผมที่ตกค้าง
  • ใช้ครีมบำรุงที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
  • หากผิวหนังแดง เจ็บปวด หรือแสบร้อน ให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา โดยควรศึกษาวิธีการใช้และปรึกษาเภสัชกรให้รอบคอบก่อนใช้ยาเสมอ
  • ลองเปลี่ยนไปใช้ยาย้อมสีผมชนิดไม่ถาวรที่ปราศจากสารพาราฟินีลินไดอะมีน แต่ผู้ใช้ก็อาจเสี่ยงต่อการแพ้สารในยาย้อมสีผมชนิดอื่น ๆ เช่นกัน

ย้อมสีผมตอนท้อง ปลอดภัยหรือไม่ ?

แม้ยังไม่มีงานวิจัยใดระบุได้แน่ชัดว่าการย้อมสีผมก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการย้อมสีผม หรือการใช้สารเคมีอื่น ๆ ต่อเส้นผมในขณะที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพราะสารเคมีอาจซึมผ่านหนังศีรษะ และส่งผลต่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ได้

คำแนะนำก่อนการย้อมสีผม

  • หากจำเป็นต้องย้อมสีผม ควรทดสอบอาการแพ้ด้วยการป้ายยาย้อมสีผมไว้หลังหู 2 วันก่อนใช้เสมอ แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเดียวกันหรือสีเดียวกันกับที่เคยใช้ก็ตาม
  • ผู้ใช้ควรศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด และทำตามคำแนะนำการใช้งานอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการย้อมสีผม และป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้ หรืออาการป่วยที่รุนแรงได้
  • สวมถุงมือทุกครั้งขณะย้อมสีผม
  • ห้ามทิ้งยาย้อมสีผมไว้บนศีรษะนานเกินความจำเป็น
  • ห้ามผสมผลิตภัณฑ์ย้อมสีผมชนิดที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน
  • ห้ามย้อมสีขนคิ้วหรือขนตาโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการติดเชื้อในดวงตาหรือตาบอดได้
  • หลังย้อมสีผม ให้ใช้น้ำเปล่าล้างน้ำยาออกจากหนังศีรษะจนหมด