ข้อสงสัยอาการขนลุก

ขนลุก เกิดจากการตอบสนองชั่วคราวของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อขนขนาดเล็กซึ่งเกาะอยู่ที่บริเวณรูขุมขนทั่วร่างกายจนเกิดการตั้งชันของเส้นขน โดยอาการขนลุกอาจเกิดจากสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น อากาศหนาว หรืออารมณ์ต่าง ๆ อาทิ ความกลัว เป็นต้น

ขนลุก

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดขนลุก ?

อาการขนลุกสามารถเกิดได้จากสิ่งเร้าโดยทั่วไป รวมถึงการตอบสนองของร่างกาย ซึ่งอาจไม่ใช่อาการที่ผิดปกติ เช่น ขนลุกจากการคลื่นไส้อาเจียน อาการปวดบริเวณท้องจากตะคริว หรือจากการถ่ายอุจจาระ เป็นต้น อย่างไรก็ตามขนลุกอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • อากาศหนาวเย็น โดยอาการขนลุกเป็นการตอบสนองเพื่อช่วยกักเก็บความอุ่นให้คงอยู่ในร่างกายท่ามกลางอากาศหนาวเย็น
  • อารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความโกรธ กลัว ตื่นเต้น หรือความเครียด อาจกระตุ้นให้สมองหลั่งสารอะดรีนาลีนและฮอร์โมนความเครียดไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดภาวะอะดรีนาลีนรัช (Adrenaline Rush) ส่งผลให้มีอาการหัวใจเต้นเร็ว มีเหงื่อออกที่ฝ่ามือ รวมทั้งมีอาการขนลุก ทั้งนี้อารมณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอาการขนลุกมักมาจากการทำกิจกรรม เช่น การฟังเพลง ดูภาพยนตร์ หรือการอ่านหนังสือ
  • ยาโดบูทามีน ผู้ป่วยอาจมีอาการขนหัวลุกเกิดขึ้นที่หนังศีรษะ เป็นผลข้างเคียงจากการให้ยาทางหลอดเลือดดำ ในระหว่างการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงร่วมกับการออกกำลังกาย (Stress Echocardiogram)
  • การถอนพิษยาฝิ่น โดยอาจพบอาการขนลุกในระหว่างช่วงการบำบัด

ขนลุกเป็นสัญญาณอันตรายหรือไม่ ?

ในบางกรณีขนลุกอาจเกี่ยวข้องกับโรคหรืออาการบางอย่าง ได้แก่

  • ขนคุด (Keratosis Pilaris) เป็นความผิดปกติของหนังกำพร้าเหนือต่อมรากขน (Hair Follicle) เกิดจากเซลล์ที่ตายแล้วอุดตันอยู่ในรูขุมขน มักเกิดขึ้นในบริเวณที่มีอากาศแห้งหรือหนาวเย็น โดยเฉพาะในบริเวณท่อนแขนส่วนบน ขาอ่อน ก้น หรือแก้ม
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกับระบบประสาทและสมอง โดยภูมิคุ้มกันได้เข้าทำลายปลอกประสาทไมอีลีน (Myelin) ทำให้เกิดความเสียหายที่เส้นประสาท ทั้งนี้ อาการของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งอาจแตกต่างกันไปสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น อาการชาด้านเดียวที่แขน ขา หรือลำตัว สูญเสียการมองเห็นทางสายตาทีละข้างหรือทั้ง 2 ข้าง รู้สึกเจ็บปวดเมื่อกลอกตา มองเห็นภาพซ้อน มีความรู้สึกเหมือนถูกกระแสไฟฟ้าช็อตเมื่อขยับคอ หรือมีอาการสั่นไม่ทราบสาเหตุ
  • โรคลมชักจากปัญหาที่สมองกลีบขมับ (Temporal Lobe Epilepsy) ขนลุกเป็นหนึ่งในอาการนำที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เกิดความผิดปกติกับประสาทสัมผัสทางการรับกลิ่น การรับรส และการมองเห็น อาการเดจาวู (Déjà vu) การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นหัวใจ และมีเหงื่อออก
  • ภาวะรีเฟล็กซ์ประสาทอัตโนมัติผิดปกติ (Autonomic Dysreflexia) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติต่อสิ่งกระตุ้น โดยอาจพบในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บของไขสันหลัง กลุ่มโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré Syndrome) ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง อาการบาดเจ็บของศีรษะหรือสมองอย่างรุนแรง เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด และการใช้ยาเสพติดบางประเภท อาทิ โคเคน หรือแอมเฟตามีน

ขนลุกป้องกันได้หรือไม่ ?

ขนลุกเป็นการตอบสนองอัตโนมัติของร่างกายต่อสิ่งเร้ารอบตัว วิธีป้องกันอาจทำได้แตกต่างกันไปแล้วแต่สาเหตุของการเกิดอาการ เช่น หากขนลุกเกิดจากอากาศหนาวเย็น อาจป้องกันได้ด้วยการทำให้ร่างกายอบอุ่นยิ่งขึ้น ด้วยการสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่แน่นหนาและอบอุ่น เป็นต้น

แต่ถ้าหากสังเกตว่าอาการขนลุกเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้แก่ มีไข้ เหงื่อออกเยอะ หรือมีการติดเชื้อ ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ นอกจากนี้ หากพบว่าอาการขนลุกเกิดร่วมกับอาการเจ็บปวดอย่างไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยไม่ควรเพิกเฉย และให้รีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ทันที