เหงื่อออก บอกอะไรเกี่ยวกับสุขภาพ

เหงื่อออกเป็นเรื่องปกติที่ต้องพบเจอทุกวัน ยิ่งอาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนอย่างบ้านเราไปจนถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำในแต่ละวันจะกระตุ้นให้เหงื่อออกมากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่เหงื่อออกในลักษณะไหนที่ส่งสัญญาณบอกให้คุณควรหันมาใส่ใจกับสุขภาพ ?

Sweating

เรื่องน่ารู้ของเหงื่อ

เหงื่อเป็นของเสียรูปแบบหนึ่งที่ถูกขับจากต่อมเหงื่อออกมาทางผิวหนัง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายลง โดยมีส่วนประกอบสำคัญเป็นน้ำและเกลือ มักจะออกตามใบหน้า รักแร้ ฝ่ามือและฝ่าเท้าเป็นหลัก ส่วนสาเหตุที่ทำให้เหงื่อออกมาจากหลายปัจจัย ได้แก่   

  • อุณหภูมิภายในหรือภายนอกร่างกายสูงขึ้น ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เหงื่อออก
  • สภาวะทางอารมณ์ก็มีส่วนกระตุ้นให้เหงื่อออก เช่น โกรธ กลัว เครียด วิตกกังวล หรืออึดอัดใจ
  • การรับประทานอาหารบางประเภท เช่น อาหารเผ็ดร้อน เครื่องดื่มคาเฟอีน ชา กาแฟ โซดา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกระตุ้นให้เหงื่อออกในขณะรับประทานอาหาร
  • อาการป่วยทางร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง ไข้ขึ้น อาการติดเชื้อ น้ำตาลในเลือดต่ำ กลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่อย่างซับซ้อนบริเวณแขนขาหรือกลุ่มอาการซีอาร์พีเอส (Complex Regional Pain Syndrome)
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวดหรือมอร์ฟีน ยาบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (Synthetic Thyroid Hormones)
  • อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เหงื่อออก จึงสังเกตเห็นได้ว่าผู้หญิงวัยทองมักมีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน หรือมีอาการร้อนวูบวาบพร้อมกับเหงื่อออก

ปริมาณเหงื่อแต่ละวันที่ถูกขับออกจากร่างกายจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน อาจมีปริมาณน้อยกว่า 1 ลิตรไปจนถึงหลายลิตร ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำในระหว่างวันและสภาพอากาศ เช่น พนักงานออฟฟิศในตึกที่ควบคุมอุณหภูมิให้เย็นสบายจะมีเหงื่อออกน้อยกว่าคนงานที่ทำงานข้างนอกตึกในสภาพอากาศร้อนจัด การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง จะทำให้เหงื่อออกได้มากกว่าปกติ นอกจากนี้ ปริมาณเหงื่อยังขึ้นอยู่กับจำนวนต่อมเหงื่อในร่างกาย โดยผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นจะเหงื่อออกได้ง่ายกว่าวัยอื่น เพราะเป็นช่วงที่ต่อมเหล่านี้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และต่อมเหงื่อของผู้ชายมักทำงานได้มากกว่าผู้หญิง

อีกหนึ่งปัญหาที่ตามมาจากเหงื่อคงหนีไม่พ้นเรื่องของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ตัวการของกลิ่นไม่ได้มาจากเหงื่อโดยตรง แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังทำปฏิกิริยากับกรดในเหงื่อจนกลายเป็นกลิ่นตัว (Bromhidrosis) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในวัยหนุ่มสาว และผู้ชายก็มักมีกลิ่นตัวได้ง่ายกว่าสาว ๆ เนื่องจากมีต่อมเหงื่อมากกว่า จึงทำให้ผลิตเหงื่อออกมามาก รวมถึงยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นตัวได้ง่าย เช่น น้ำหนักตัวมาก รับประทานอาหารรสจัดหรือแอลกอฮอล์ รับประทานยาบางชนิดอย่างยาต้านเศร้า (Antidepressants) หรือโรคบางโรค

เหงื่อบ่งบอกสุขภาพได้อย่างไร ?

ความเหนียวตัวและกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเหงื่อทำให้หลายคนรู้สึกหงุดหงิดจนพาลไม่อยากให้เหงื่อออก แต่หากเหงื่อไม่ออกเลย ออกเพียงช่วงกลางคืน หรือแม้แต่ออกมากเกินในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็อาจเป็นสัญญาณผิดปกติที่ควรระวัง เพราะมักเป็นปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ ซึ่งภาวะเหงื่อออกผิดปกติที่พบได้บ่อย ได้แก่

ภาวะขาดเหงื่อ (Anhidrosis)

เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเหงื่อได้ตามปกติ จึงอาจทำให้ร่างกายสะสมความร้อนไว้สูงเกินไป ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากความร้อน เช่น ตะคริวแดด (Heat Cramp) อาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) จากการโดนแดดหรือความร้อนเป็นเวลานานจนทำให้หมดแรง โรคลมแดด (Heat Stroke) และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตเมื่อุณหภูมิในร่างกายสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส เพราะร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปพร้อมกับเหงื่อได้ทัน

ภาวะขาดเหงื่อเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกายหรือเกิดเป็นเฉพาะบางจุด โดยสาเหตุการเกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น การได้รับบาดเจ็บบริเวณผิวหนังอย่างรุนแรง โรคหรือยาบางชนิด สภาวะบางอย่างที่ทำให้ระบบเส้นประสาทเสียหาย ภาวะขาดน้ำ หรือแม้แต่กรรมพันธุ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมเหงื่อ ส่วนการรักษาต้องพิจารณาจากสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เพื่อรักษาให้หายขาด  

เหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis)

ภาวะหลั่งเหงื่อมากเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตเหงื่อออกมามากเกินความจำเป็น เนื่องจากกลไกการลดอุณหภูมิของร่างกายไวต่อการกระตุ้นและจำนวนต่อมเหงื่อมากกว่าปกติ ทำให้ผลิตเหงื่อออกมากกว่าคนปกติ 3-4 เท่า เช่น นั่งเฉย ๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากก็อาจทำให้เหงื่อท่วมตัว หรือในหน้าหนาวที่อากาศค่อนข้างเย็นกลับพบว่ามีเหงื่อออกมากเหมือนในหน้าร้อน

สาเหตุของเหงื่อออกมากผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะเกิดได้จากหลายปัจจัย อาจมาจากการรับประทานยารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวานหรือโรคของต่อมไทรอยด์ เข้าสู่ช่วงวัยทอง รวมไปถึงการติดเชื้อ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด

เมื่อเหงื่อออกมากก็จะทำให้เกิดกลิ่นตามมา โดยเฉพาะจุดอับตามร่างกาย ผู้ที่เกิดภาวะหลั่งเหงื่อมากควรเริ่มต้นด้วยการดูแลความสะอาดของร่างกายตามคำแนะนำ ดังนี้

  • อาบน้ำเป็นประจำทุกวันหรืออาบบ่อยขึ้นในวันที่อากาศร้อน ซึ่งจะช่วยกำจัดแบคทีเรียตามผิวหนังและจุดซ่อนเร้นไม่ให้เพิ่มปริมาณมากขึ้น รวมไปถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • รักษาความสะอาดของจุดซ่อนเร้น เพราะเป็นจุดอับที่เกิดกลิ่นได้ง่าย เช่น รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับ
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายหลังอาบน้ำ โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียม คลอไรด์ (Aluminium Chloride) ซึ่งจะช่วยลดการผลิตเหงื่อให้น้อยลง
  • เลือกสวมเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เพราะมีคุณสมบัติในการระบายความร้อนได้ดี ไม่ก่อให้เกิดความอับชื้นได้ง่าย
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทุกวัน เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
  • เลี่ยงรับประทานอาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัตว์เนื้อแดง ซึ่งกระตุ้นให้เหงื่อออกมากขึ้น

หากการดูแลเบื้องต้นไม่ดีขึ้น การรักษาทางการแพทย์อาจใช้การฉีดสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน(Botulinum Toxin) ในบริเวณที่มีต่อมเหงื่อเยอะ เช่น ใต้วงแขน แขน ขา หรือใบหน้า ซึ่งช่วยยับยั้งการส่งสัญญาณของสมองไปยังต่อมเหงื่อให้ผลิตเหงื่อน้อยลง

ในกรณีที่เกิดกลิ่นตัวอย่างรุนแรงมากจนไม่สามารถบรรเทากลิ่นให้น้อยลงด้วยวิธีการอื่น แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดกำจัดต่อมเหงื่อบางส่วนออก ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธีที่นิยมใช้ เช่น การผ่าตัดนำเนื้อเยื่อหรือผิวหนังใต้วงแขนบางส่วนออก การดูดต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังออกโดยใช้เทคนิคเดียวกับการดูดไขมัน (Liposuction) การผ่าตัดผ่านรูกุญแจ (Keyhole Surgery) ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Endoscopic Thoracic Sympathectomy (ETS) เพื่อทำลายเส้นประสาทที่ควบคุมต่อมการผลิตเหงื่อ

เหงื่อออกกลางคืน (Night Sweat)

เป็นภาวะที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติเฉพาะช่วงกลางคืน โดยไม่มีปัจจัยอื่นกระตุ้นให้เหงื่อออกและอุณหภูมิของห้องเป็นปกติ บางครั้งอาจมีเหงื่อออกมากจนที่นอนเปียกชื้น ภาวะนี้ในบางครั้งอาจวินิจฉัยได้ยาก เพราะบางคนเหงื่อออกจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น อุณหภูมิในห้องนอนสูงเกินไป ชุดเครื่องนอนหนามาก หรือบนเตียงมีหมอนเยอะหลายใบจนทำให้รู้สึกร้อน แพทย์จึงต้องแยกสาเหตุทั่วไปและทางการแพทย์ออกจากกัน

สาเหตุการเกิดอาจมาได้จากหลายส่วน ภาวะนี้มักพบได้บ่อยในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งจะเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ของวัยทอง เช่น ช่องคลอดแห้ง รู้สึกร้อนวูบวาบในช่วงกลางวัน อารมณ์แปรปรวน ส่วนสาเหตุอื่น ๆ เกิดได้จากการรับประทานยาบางชนิด ความผิดปกติของฮอร์โมน ไข้ขึ้น แต่ในบางรายก็เป็นผลมาจากการติดเชื้อหรือโรคมะเร็ง แต่พบได้ค่อนข้างน้อย ในการวินิจฉัยจึงต้องใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน

อาการเหงื่อออกเป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยลดความร้อนภายในร่างกายและเป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพบางส่วนจากระบบทำงานของร่างกายที่ผิดเพี้ยนไป แต่หากขาดการดูแลและรักษาความสะอาดอย่างเหมาะสมย่อมจะเกิดผลเสียตามมา จึงควรหมั่นสังเกตว่าเหงื่อที่ออกในชีวิตประจำวันเป็นปกติหรือพ่วงความผิดปกติใดมาหรือไม่ เช่น เจ็บหน้าอก ไข้ขึ้น หัวใจเต้นเร็วและถี่ หายใจสั้น น้ำหนักลง เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเผชิญกับการติดเชื้อหรือโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ที่ซ่อนอยู่ อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์เมื่อมีเหงื่อออกในลักษณะต่อไปนี้

  • เหงื่อออกมากหรือออกเป็นระยะเวลานานโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือความดันโลหิตเกิดขึ้นพร้อมกับเหงื่อออก หรืออาจเกิดตามมา
  • เหงื่อออกบ่อย ๆ ในช่วงกลางคืนหรือเหงื่อออกมากจนน้ำหนักลด

รับมือกับปัญหาเหงื่อกวนใจในชีวิตประจำวันอย่างไร ?

อาการเหงื่อออกทั่วไปไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเมื่อรู้จักดูแลอย่างถูกวิธีด้วยเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้

  • สวมเสื้อผ้าให้เหมาะกับสภาพอากาศ เพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดีและปล่อยให้ผิวได้หายใจ
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่เปียกชุ่มด้วยเหงื่อโดยไม่จำเป็น เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงในการเพาะเชื้อราหรือแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น
  • ทำความสะอาดร่างกายและใบหน้าหลังจากกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก
  • ดื่มน้ำมาก ๆ หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ในวันที่เหงื่อออกมากหรือหลังเล่นกีฬา ซึ่งจะช่วยชดเชยน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไป
  • เมื่อเหงื่อออกมากควรปรับอุณหภูมิในห้องให้ลดลงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เหงื่อออกมากขึ้น
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เพราะจะช่วยลดกลิ่นและควบคุมเหงื่อ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เหงื่อออกมาก
  • สำหรับผู้ที่มีปัญหาเหงื่อออกผิดปกติมาจากโรคประจำตัวหรือการใช้ยาบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม