คันหัว เกิดจากอะไรและรักษาได้อย่างไร

คันหัว คือ อาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับคนจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาวะทางผิวหนังที่สร้างความรำคาญให้แก่ผู้ที่เป็น แต่มักจะไม่มีความรุนแรง โดยเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่พบได้ทั่วไป จนถึงสาเหตุที่มีความรุนแรงและอาจจำเป็นต้องไปพบแพย์โรคผิวหนังเพื่อรักษา

คันหัว

คันหัวเกิดจากอะไร

คันหัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย คือ รังแค (Dandruff) ซึ่งเกิดจากเชื้อราบนหนังศีรษะเจริญเติบโตมากผิดปกติ สภาพอากาศ หรือความเครียด ซึ่งก่อให้เกิดอาการคัน แดง หรือมีสะเก็ดสีขาวลักษณะแบนและบางที่เส้นผมหรือหนังศีรษะ

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคันหัว ได้แก่

  • เป็นผู้ที่มีหนังศีรษะบอบบางแพ้ง่าย
  • ผู้ที่เป็นผื่นแพ้สัมผัสหรือผื่นระคายสัมผัส เนื่องจากหนังศีรษะสัมผัสกับสารหรือผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น แชมพู
  • สภาพแวดล้อมที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น อยู่ในห้องที่มีอากาศเย็นและมีความชื้นต่ำ หรือสัมผัสกับลมและแสงแดด
  • เป่าผมด้วยไดร์เป่าผมเป็นประจำ
  • หนังศีรษะได้รับสารเคมีรุนแรงเป็นประจำ เช่น ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม หรือผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมต่าง ๆ
  • ปฏิกิริยาแพ้ต่อยารักษาโรคบางชนิด
  • เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) หรือกลากบนหนังศีรษะ เป็นภาวะที่เชื้อราได้กระจายตัวลึกลงไปยังรูขุมขน ก่อให้เกิดอาการคันที่หนังศีรษะและอาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้
  • เหา (Head Lice) เป็นปรสิตชนิดหนึ่งที่อาศัยตามร่างกายคนหรือสัตว์ และดำรงชีวิตอยู่ด้วยการดูดเลือดเป็นอาหาร โดยผู้ที่เป็นเหาไม่ได้หมายความว่าขาดสุขอนามัยที่ดี เพราะเหาจะชอบอยู่บนผมที่มีความสะอาดมากกว่า
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการคันและมีผิวหนังตกสะเก็ด คล้ายกันกับรังแคแต่จะมีความรุนแรงกว่า

เมื่อไรที่ควรพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่แล้วอาการคันหัวจะไม่ส่งผลที่น่ากังวลใจ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นได้ เช่น

  • เมื่อพบว่ามีอาการคันศีรษะอย่างต่อเนื่องและไม่หายไป รวมทั้งเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผมร่วง เจ็บ แสบ หรือคันศีรษะรุนแรงมากขึ้น
  • มีอาการคันศีรษะที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาเวลากลางคืน และส่งผลกระทบต่อการทำงานและการเรียนหนังสือ
  • เมื่อสัมผัสบริเวณที่มีอาการคันแล้วรู้สึกเจ็บหรือแสบมาก
  • ใช้แชมพูหรือยารักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • พบเห็นเหาหรือไข่เหาที่ศีรษะ
  • คันศีรษะเนื่องมาจากโรคทางผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน กลาก หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าตนเองมีอาการคันศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุและอาการยังคงอยู่เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ควรไปพบแพทย์โรคผิวหนังเพื่อตรวจวินิจฉัยและหาทางรักษาต่อไป

แพทย์จะตรวจดูหนังศีรษะและอาจนำตัวอย่างหนังศีรษะไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเหา แต่โดยส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยได้ทันทีด้วยการตรวจดูหนังศีรษะและถามประวัติอาการของผู้ป่วย

รักษาและป้องกันได้อย่างไร

อาการคันศีรษะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น

  • รังแค (Dandruff) เป็นสาเหตุซึ่งพบได้มากที่สุด โดยทำให้เกิดอาการคันศีรษะ สำหรับกรณีที่เป็นไม่มาก อาจใช้แชมพูที่มีส่วนประกอบของซีลีเนียม (Selenium) ซิงค์ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) และทีทรีออย (Tea Tree Oil) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ช่วยควบคุมเชื้อรา หรือกรณีที่เป็นมาก อาจจำเป็นต้องใช้ยาที่สั่งโดยแพทย์ เช่น แชมพูต่อต้านเชื้อรา ยาคอร์ติโซนใช้เฉพาะที่ ยาชนิดโฟม ยาสารละลาย ยาครีมหรือขี้ผึ้ง เป็นต้น
  • เหาบนศีรษะ (Head Lice) รักษาได้ด้วยการใช้แชมพูที่มีส่วนประกอบของไพรีทริน (Pyrethrins) หรือเพอร์เมทริน (Permethrin) หรือยากำจัดเหาที่สั่งโดยแพทย์ รวมไปถึงใช้หวีสางเหาร่วมกับการใช้ยา
  • เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) แพทย์จะให้ยาต่อต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เช่น กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) และเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) หรือแชมพูต่อต้านเชื้อรา โดยก่อนใช้ยาดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ เพราะส่วนประกอบของตัวยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ใช้แชมพูยาที่มีส่วนประกอบของน้ำมันดิน (Coal Tar) หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ที่ไม่ต้องสั่งโดยแพทย์ เพื่อควบคุมอาการโรคสะเก็ดเงินได้ แต่หากใช้แล้วไม่ได้ผล อาจมีความจำเป็นต้องพบแพทย์โรคผิวหนัง ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ใช้แชมพูที่มีฤทธิ์แรงขึ้นหรืออาจให้ใช้ยาคอร์ติโซนเฉพาะที่
  • อาการแพ้ อาการคันศีรษะที่เกิดจากการแพ้ต่อสารบางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย แก้ไขได้ด้วยการหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้นในทันที และหากพบว่ามีอาการที่รุนแรง ควรไปพบแพทย์

วิธีป้องกันอาการคันหัว

อาการคันหัวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามมีวิธีป้องกันและดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น เช่น

  • สระผมเป็นประจำแต่ไม่บ่อยจนเกินไปเพื่อลดความมันส่วนเกินบนหนังศีรษะ ควรสระผมด้วยน้ำอุ่นไม่ควรใช้น้ำที่ร้อนจนเกินไปและไม่ควรสระผมบ่อยเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงความระคายเคืองและป้องกันหนังศีรษะแห้งจนเกินไป
  • ไม่ควรเกาศีรษะ และควรให้หนังศีรษะมีความชุ่มชื้นด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นซึ่งบมีส่วนผสมของซิลิโคน (Silicone) และไดเมทิโคน (Dimethicone) หรือใช้ครีมนวดผมคุณภาพดีที่ช่วยดูแลหนังศีรษะและเส้นผม
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเป่าผมในอุณหภูมิที่ร้อนจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสีย้อม น้ำหอม หรือสารเคมี ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ที่เป็นเหา เช่น หวี หมวก ปลอกหมอน หรือผ้าเช็ดตัว เพื่อป้องกันเหาแพร่กระจายมาสู่ตน