หนังศีรษะลอก รู้จักสาเหตุและวิธีการรักษา

หนังศีรษะลอกเป็นอาการที่ผิวบริเวณหนังศีรษะเกิดการแห้ง ลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น และอาจมีอาการคันร่วมด้วย โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสระผมบ่อย การระคายเคืองจากสารเคมี สภาพอากาศ และโรคผิวหนังที่เกิดบริเวณหนังศีรษะ ซึ่งส่งผลต่อบุคลิกภาพและอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

การรักษาหนังศีรษะลอกจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ บางสาเหตุอาจหายได้เองด้วยการปรับพฤติกรรมการดูแลเส้นผมและงดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการะคายเคือง แต่กรณีที่เกิดจากโรคผิวหนัง อาการอาจไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงจากการเกาหนังศีรษะหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุด

หนังศีรษะลอก รู้จักสาเหตุและวิธีการรักษา

ปัจจัยที่ทำให้หนังศีรษะลอก

หนังศีรษะลอกอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

1. หนังศีรษะแห้ง

หนังศีรษะแห้งเกิดจากการที่ผิวบริเวณหนังศีรษะขาดความชุ่มชื้น ทำให้เกิดการระคายเคือง แห้งลอก และคัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผิวแห้งและเป็นขุยที่ส่วนอื่นของร่างกายด้วย โดยอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • การสระผมบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้น้ำมันที่อยู่บนหนังศีรษะถูกชะล้างออกไป ทำให้หนังศีรษะแห้งและลอก
  • การใช้แชมพู ครีมนวดผม หรือผลิตภัณฑ์จัดแต่งผมที่มีสารดึงความชุ่มชื้นและน้ำมันจากหนังศีรษะ
  • การใช้ไดร์เป่าผม และอุปกรณ์ทำผมที่ใช้ความร้อนบ่อยเกินไป เพราะความร้อนจากอุปกรณ์เหล่านี้จะทำให้ผมแห้งเสีย และอาจทำให้หนังศีรษะแห้งลอก
  • การอยู่ในสภาพอากาศที่แห้งและเย็น
  • อายุที่มากขึ้น จะทำให้หนังศีรษะแห้งมากขึ้น

2. รังแค

รังแคเกิดจากหนังศีรษะแบ่งตัวมากผิดปกติและเกิดการหลุดลอกออกมาเป็นแผ่นสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ และอาจมีอาการคัน ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การไม่ได้สระผมเป็นประจำหรือสระผมไม่สะอาด ทำให้น้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วก่อตัวเป็นรังแค หรืออาจเกิดจากสภาพอากาศเย็น ความเครียด การใช้แชมพูที่มีสารเคมีรุนแรงที่ทำให้หนังศีรษะระคายเคือง การขาดสารอาหาร และโรคประจำตัวบางอย่าง

นอกจากนี้ โรคผิวหนังบางชนิดอาจทำให้เกิดรังแค เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) และการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ

3. โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis)

โรคผื่นระคายสัมผัสsเป็นอาการผื่นแดงและลอกบนผิวหนังที่มักทำให้รู้สึกคันและไม่สบายตัว ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกายหลังจากผิวหนังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง การใช้แชมพู ครีมนวดผม หรือผลิตภัณฑ์จัดแต่งผมบางชนิดอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่หนังศีรษะ และทำให้หนังศีรษะลอกได้

4. โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

สะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังรวดเร็วผิดปกติ ซึ่งพบได้ทั่วร่างกาย และพบได้บ่อยบริเวณหนังศีรษะ สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะมักมีลักษณะเป็นแผ่นหนาขนาดใหญ่ เป็นขุยสีขาว และทำให้รู้สึกคัน

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคสะเก็ดเงิน แต่คาดว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง การใช้ยาบางชนิด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่

5. ชันนะตุ (Tinea Capitis)

ชันนะตุคือการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคกลากทำให้หนังศีรษะลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น ผมร่วงเป็นหย่อม ผมเปราะหัก และอาจเกิดการอักเสบและคัน ทั้งนี้ ชันนะตุพบบ่อยในเด็กอายุ 5–14 ปี และสามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้ง่ายด้วยการสัมผัสใกล้ชิด หรือการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว หมวก 

6. กระแดด (Actinic Keratosis)

กระแดดwww.pobpad.com/กระแดดมีลักษณะเป็นสะเก็ดหนา แห้งลอก สัมผัสหยาบคล้ายกระดาษทราย บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นตุ่มนูน โดยอาจปรากฏเป็นสีต่าง ๆ เช่น สีชมพูและน้ำตาล เกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่ได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน เช่น หนังศีรษะ และบริเวณอื่น เช่น ใบหน้า และลำคอ

กระแดดพบมากในผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่ตากแดดเป็นประจำ และคนที่ผมบางหรือศีรษะล้าน เพราะเส้นผมจะช่วยปกป้องหนังศีรษะจากการทำลายของแสงแดด นอกจากนี้ กระแดดอาจเกิดจากพันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นกระแดด อาจทำให้ลูกหลานมีโอกาสเป็นกระแดดมากขึ้น

เทคนิคดูแลหนังศีรษะลอก

การดูแลรักษาหนังศีรษะลอกอาจแตกต่างกันตามสาเหตุ โดยในเบื้องต้นสามารถดูแลหนังศีรษะได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  • สระผมทุกวันวันละ 1 ครั้งด้วยแชมพูที่อ่อนโยนต่อหนังศีรษะและเส้นผม ตามด้วยครีมนวดผมที่ช่วยเติมความชุ่มชื้นให้เส้นผม
  • ใช้น้ำล้างฟองแชมพูและครีมนวดผมออกให้สะอาด เพื่อไม่ให้สารเคมีจากแชมพูและครีมนวดผมหลงเหลือและตกค้างอยู่บนเส้นผมและหนังศีรษะ ซึ่งอาจทำให้หนังศีรษะระคายเคืองและลอกได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้แชมพู ครีมนวดผม และผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมที่มีสารเคมีรุนแรง เช่น สารฟอกสีผม และแอลกอฮอล์ที่ให้เส้นผมและหนังศีรษะแห้งลอก
  • ควรปล่อยให้ผมแห้งตามธรรมชาติ หรือใช้พัดลมเป่าให้ผมแห้ง ไม่ควรใช้ไดร์เป่าผม เครื่องหนีบหรือม้วนผมบ่อยเกินไป และควรใช้สเปรย์ป้องกันผมแห้งเสียจากความร้อนก่อนใช้อุปกรณ์เหล่านี้เสมอ
  • ใช้แชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ซิงค์ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
  • หยุดใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองและโรคผื่นระคายสัมผัส
  • ใช้น้ำมันใส่ผมที่สกัดจากสารธรรมชาติ เช่น โจโจ้บาออยล์ (Johoba Oil) น้ำมันมะกอก และน้ำมันอาร์แกน (Argan Oil) ซึ่งช่วยให้ผมนุ่มลื่น และบำรุงหนังศีรษะที่แห้งลอกให้ชุ่มชื้นขึ้น 
  • จัดการความเครียดด้วยกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น โยคะ นั่งสมาธิ และการฝึกลมหายใจ

หากใช้วิธีเหล่านี้แล้วอาการหนังศีรษะลอกยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา ซึ่งแพทย์อาจรักษาตามสาเหตุของโรค เช่น

  • ครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานและชนิดทาลงบนหนังศีรษะ หรือยาชนิดน้ำมันสำหรับทาทิ้งไว้บนหนังศีรษะข้ามคืน สำหรับผู้ที่เป็นรังแคชนิดรุนแรง
  • แชมพูยา ครีม หรือขึ้ผึ้งทาหนังศีรษะที่มีสเตียรอยด์ ยาชนิดรับประทาน เช่น อะพรีมิลาส (Apremilast) และการรักษาด้วยการฉายแสง (Light Therapy) สำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินwww.pobpad.com/รักษาสะเก็ดเงิน-โรคผิวหที่หนังศีรษะ 
  • แชมพูยาที่มีสารซีลีเนียมซัลไฟด์ ยาสเตียรอยด์ชนิดทา และยาต้านเชื้อราชนิดครีม สำหรับผู้ที่เป็นชันนะตุ
  • ยาทา เช่น ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) และยาอิมิควิโมด (Imiquimod) การฉายแสงโฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy) การผ่าตัดด้วยความเย็น สำหรับผู้ที่เป็นกระแดด

หนังศีรษะลอกเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สภาพอากาศ การสระผมและใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผม รวมทั้งโรคผิวหนังที่เกิดบนหนังศีรษะ หากอาการหนังศีรษะลอกไม่ดีขึ้นจากการดูแลตัวเอง หรือมีอาการคัน มีผื่นแดงบวม รู้สึกเจ็บและรู้สึกอุ่นเมื่อสัมผัสที่หนังศีรษะ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป