เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis)

ความหมาย เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis)

เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง โดยเซ็บเดิร์มมักก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ผื่นคัน แดง และเป็นสะเก็ดผิวหนัง เซ็บเดิร์มมักเกิดบ่อยบนหนังศีรษะ รวมไปถึงบนร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีความมัน เช่น ใบหน้า หลัง และหน้าอก 

เซ็บเดิร์มไม่ใช่โรคติดต่อและเป็นโรคทางผิวหนังที่สามารถพบได้บ่อย อีกทั้งยังสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้โดยการการใช้ยารักษาและดูแลความสะอาดของตนเอง อย่างไรก็ตาม อาการของโรคเซ็บเดิร์มอาจก่อให้เกิดความสับสนกับโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ เช่น สะเก็ดเงิน และโรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย หากไม่แน่ใจว่าผื่นบนผิวหนังเป็นอาการของโรคเซ็บเดิร์มหรือไม่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม 

เซ็บเดิร์ม

อาการของโรคเซ็บเดิร์ม

เซ็บเดิร์มสามารถพบได้บ่อยบริเวณศีรษะและผิวหนังบริเวณที่มีความมันเกิดขึ้น เช่น ใบหน้า โดยเฉพาะบนเปลือกตาและรอบจมูก รวมถึงบริเวณลำตัว ได้แก่ ข้อพับแขนขา กลางหน้าอก รอบสะดือ สะโพก และขาหนีบ โดยผื่นที่เกิดจากโรคเซ็บเดิร์มอาจสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้

  • ผิวหนังตกสะเก็ดเป็นรังแคบนหนังศีรษะหรือบริเวณที่มีเส้นผม คิ้ว หรือ หนวดเครา ซึ่งมักหลุดร่วงเมื่อเกา
  • บริเวณที่เป็นเซ็บเดิร์มมักมีความมันและมักปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง หรือมีสะเก็ดแข็งตามร่างกาย เช่น ศีรษะ ใบหู ใบหน้า หน้าอก รักแร้ ถุงอัณฑะ หรือส่วนอื่น ๆ
  • ผิวหนังที่เป็นเซ็บเดิร์มมีอาการคัน แดง ลอกเป็นขุยสีขาวหรือสีเหลือง
  • เซ็บเดิร์มบริเวณเปลือกตาอาจทำให้เกิดเปลือกตาอักเสบ มีอาการคัน แดง บวม หรือมีสะเก็ดแข็งติด

นอกจากนี้ เซ็บเดิร์มอาจเกิดในเด็กทารก ซึ่งเรียกว่าไขบนหนังศีรษะทารก (Cradle Cap) โดยอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ มีเกล็ดสีเหลืองหรือน้ำตาลบนศีรษะ ซึ่งมักหายไปก่อนอายุครบ 1 ปี แต่อาจกลับมาเป็นได้อีกครั้งในช่วงวัยรุ่น 

สาเหตุของโรคเซ็บเดิร์ม

เซ็บเดิร์มมักพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 30–60 ปี หรือผู้ที่มีสภาพผิวมัน อีกทั้งยังพบในเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของโรคนี้ได้อย่างแน่ชัด โดยสาเหตุของการเกิดเซ็บเดิร์มไม่ได้มาจากการไม่รักษาความสะอาดหรืออาการภูมิแพ้แต่อย่างใด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น

  • พันธุกรรม
  • ความเครียด 
  • เชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง
  • ปริมาณฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เพิ่มสูงขึ้น
  • ระดับไขมันบนผิวหนังเพิ่มขึ้น
  • สภาพอากาศที่เย็นและแห้ง

นอกจากนี้ ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาลิเทียม (Lithium) หรือยาคลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) และการเจ็บป่วยจากโรคหรือภาวะใด ๆ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดเซ็บเดิร์ม โดยตัวอย่างของโรคหรือภาวะอาจมีดังนี้

  • โรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน เช่น เบาหวาน 
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง เช่น ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี โรคตับอ่อนอักเสบ พิษสุราเรื้อรัง และมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ช่วงหลังจากการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและภาวะหัวใจล้มเหลว
  • โรคสะเก็ดเงินและโรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย
  • โรคดาวน์ซินโดรม 
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและโรคทางจิตเวช เช่น โรคพาร์กินสัน และภาวะซึมเศร้า
  • การเกา ข่วน หรือการได้รับบาดเจ็บของผิวหน้า รวมไปถึงสิว
  • โรคการกินผิดปกติ
  • โรคลมชัก 

การวินิจฉัยโรคเซ็บเดิร์ม

แพทย์อาจวินิจฉัยโรคเซ็บเดิร์มจากการสอบถามอาการและตรวจดูลักษณะของผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นอาจขูดเอาตัวอย่างเซลล์ผิวบริเวณดังกล่าวส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากโรคชนิดอื่นที่อาจมีอาการคล้ายกันได้ เช่น

  • โรคสะเก็ดเงิน โรคนี้อาจทำให้เกิดสะเก็ดเยอะและมีสีขาวออกเงิน แต่เซ็บเดิร์มมักทำให้เกิดรังแคและผิวหนังแดงและปกคลุมด้วยสะเก็ดเล็ก ๆ 
  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังwww.pobpad.com/atopic-dermatitis โรคนี้อาจทำให้ผิวหนังแห้ง ลอกเป็นขุยสีขาว ในขณะที่โรคเซ็บเดิร์มจะมีขุยสีเหลืองและมีความมันมากกว่า
  • โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่ปรากฏเป็นรอยแดงและมีตุ่มนูนคล้ายสิวบนใบหน้า แต่ไม่ลอกเป็นขุยเหมือนโรคเซ็บเดิร์ม 

การรักษาโรคเซ็บเดิร์ม

เซ็บเดิร์มเป็นโรคที่บางครั้งอาจหายไปได้เอง แต่บางครั้งอาการที่เกิดขึ้นอาจคงอยู่ได้ยาวนานเป็นเวลาหลายปี ถึงแม้จะรักษาจนหายดีแล้ว แต่ก็มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำอีกครั้ง โดยวิธีรักษาเซ็บเดิร์ม อาจมีดังนี้

การรักษาด้วยตนเอง

เซ็บเดิร์มที่เกิดขึ้นบนหนังศีรษะนั้นอาจรักษาด้วยตนเอง โดยการใช้แชมพูขจัดรังแคที่ประกอบด้วยตัวยาต่าง ๆ เช่น

โดยประสิทธิภาพของครีม แชมพู โลชั่น หรือยาแต่ละชนิดอาจขึ้นอยู่กับประเภทของผิว ความรุนแรงของอาการ และบริเวณที่เกิดความผิดปกติ นอกจากนี้ หากเคยใช้แชมพูตัวยาใด ๆ ข้างต้นได้ผล แต่พบว่าประสิทธิภาพค่อย ๆ ลดลง ให้เปลี่ยนใช้สลับกับอีกชนิดและควรหมักไว้ตามเวลาที่ฉลากแนะนำเพื่อให้ยาออกฤทธิ์

ในกรณีที่เซ็บเดิร์มเกิดขึ้นบริเวณอื่นนอกเหนือจากหนังศีรษะ เช่น ใบหน้าหรือผิวหนัง สามารถใช้แชมพูขจัดรังแคถูเบา ๆ ที่ใบหน้า หูและหน้าอก ก่อนล้างออกด้วยน้ำเปล่า นอกจากนี้อาจบรรเทาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

  • รักษาความสะอาดบริเวณที่เป็นเซ็บเดิร์มอยู่เสมอโดยการล้างด้วยน้ำสบู่และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง
  • ใช้ครีมบำรุงและผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว 
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
  • ควรโกนหนวดและเครา เนื่องจากหนวดและเคราจะยิ่งทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นเซ็บเดิร์มแย่ลงได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อเรียบลื่น เพื่อป้องกันการระคายเคืองจากเซ็บเดิร์มบนผิวหนัง
  • ออกไปรับแสงแดดภายนอก แสงแดดจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการอักเสบ แต่ควรทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันรังสียูวีด้วย
  • หลีกเลี่ยงการขีดข่วนหรือเกาที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและติดเชื้อตามมาได้ หากรู้สึกคัน ควรใช้ครีมไฮโดรคอร์ติโซนหรือคาลาไมน์ช่วยระงับอาการชั่วคราว
  • ทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาเบา ๆ หากเปลือกตามีลักษณะแดงหรือมีสะเก็ด โดยล้างด้วยแชมพูเด็กแล้วเช็ดสะเก็ดออกด้วยแผ่นสำลี

สำหรับอาการไขบนหนังศีรษะของทารกอาจหายไปได้เองเมื่อเด็กอายุ 8–12 เดือน อย่างไรก็ตาม พ่อแม่อาจสระผมให้เด็กทุกวันด้วยแชมพูที่อ่อนโยนสำหรับเด็กและน้ำอุ่น หากไม่ได้ผล ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อหาการรักษาที่เหมาะสมต่อเด็ก ส่วนสะเก็ดรังแคนั้นสามารถทำให้นุ่มลงด้วยการใช้น้ำมันมะกอกถูทิ้งไว้ 1–2 ชั่วโมง จากนั้นหวีด้วยแปรงเพื่อให้สะเก็ดรังแคหลุดลอกออกมา

การรักษาโดยแพทย์

หากอาการของโรคเซ็บเดิร์มรบกวนการนอนหลับพักผ่อนหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกกังวลและอับอาย พยายามรักษาด้วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้น หรือสันนิษฐานว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยแพทย์อาจพิจารณาแผนการรักษาจากอายุ บริเวณที่เกิดเซ็บเดิร์ม และความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีการรักษาอาจมีดังนี้

  • การใช้แชมพูขจัดเชื้อรา แพทย์อาจแนะนำให้ใช้แชมพูขจัดเชื้อราที่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าชนิดที่ซื้อตามร้านขายยา โดยมักมีส่วนผสมของยาต่าง ๆ เช่น คีโตนาโซล (Ketoconazole) หรือคลอเบตาโซล (Clobetasol) 
  • ครีมที่มีส่วนผสมของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) หรือเดโซไนด์ (Desonide) โดยทาบนหนังศีรษะหรือผิวหนังเพื่อลดอาการคันหรือแดงได้ ทั้งนี้ การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ทำให้ผิวบางลง
  • ครีมหรือเจลต้านแบคทีเรีย เช่น ยาเมโทรนิดาโซล โดยใช้ทาเพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง
  • ยาต้านเชื้อรา แพทย์อาจแนะนำยาชนิดรับประทานสำหรับกำจัดเชื้อรา เช่น ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ทั้งนี้ ยาชนิดนี้มักไม่ค่อยถูกนำมาใช้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น อาการแพ้ยาและปัญหาเกี่ยวกับตับ
  • ยาในกลุ่มแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์สำหรับทา เช่น ครีมหรือโลชันที่มียาทาโครลิมัส (Tacrolimus) และยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) แพทย์อาจใช้รักษาเซ็บเดิร์มเพราะมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาคอร์ติโคสเตียรอยด์ แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและยังมีราคาแพงกว่า แพทย์จึงไม่นิยมใช้
  • การบำบัดด้วยการฉายแสงควบคู่กับยาซอราเลน (Psoralen) โดยจะได้รับยาซอราเลนสำหรับทาลงบนผิวหนังหรือสำหรับรับประทาน แล้วใช้แสงอัลตราไวโอเลตฉาย แต่การรักษาวิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ที่มีผมหนา

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้อรา และอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ที่มีอาการเซ็บเดิร์มอีกด้วย อีกทั้งการใช้ยาบางชนิดในการรักษาเซ็บเดิร์ม เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ทำให้ผิวบางลงและหลอดเลือดฝอยขยายตัว (Telangiectasia)

นอกจากนี้ อาจเกิดจากการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนหรือการรักษาอย่างไม่ถูกวิธี เช่น โรคเซ็บเดิร์มที่เกิดบริเวณใบหน้าหรือหนังศีรษะอาจคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อราบนผิวหนังบางชนิด ซึ่งหากรักษาโดยใช้ยาลดการอักเสบหรือสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ถูกวิธี อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นได้ 

การป้องกันโรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มไม่อาจป้องกันการเกิดของโรคได้ แต่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้ด้วยการทำตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้

  • สระผมด้วยแชมพูต้านเชื้อรา เช่น แชมพูคีโตนาโซล (Ketoconazole) ทุก 1–2 สัปดาห์ หมักทิ้งไว้บนศีรษะ 5 นาทีก่อนล้างออก นอกจากนี้ อาจใช้แชมพูต้านเชื้อราเช็ดตามร่างกายแล้วล้างออกทุก ๆ 1–2 สัปดาห์ อาจช่วยป้องกันไม่ให้โรคเซ็บเดิร์มกลับมาเป็นซ้ำ
  • หมั่นทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำเปล่าและเช็ดตัวให้แห้งเป็นประจำเพื่อป้องกันคราบมันบนผิวหนังและช่วยลดจำนวนของเชื้อราบนผิวหนัง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจกระตุ้นให้เกิดเซ็บเดิร์มได้
  • หากิจกรรมที่อาจช่วยลดความเครียด เช่น การนั่งสมาธิ การท่องเที่ยวหรือการฝึกหายใจด้วยเทคนิคต่าง ๆ เนื่องจากความเครียดอาจเป็นปัจจัยให้เกิดโรคเซ็บเดิร์มได้